วิเคราะห์ ทรัมป์ โจมตีซีเรียเพื่อแสดงศักยภาพของมหาอำนาจที่ถดถอย

320

สหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์: การสร้างความสะพรึงกลัวต่อซีเรียและชาวโลก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิศรุต เลาะวิถี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิตเขียนบทความลงในไทยโพสต์ ระบุว่า จากการใช้ก๊าซพิษในซีเรีย ณ เมือง Idlib ทางตอนเหนือของซีเรีย ซึ่งเป็นเขตควบคุมของฝ่ายต่อต้าน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กเกือบ 30 ราย เป็นก๊าซพิษที่เกิดขึ้นหลังเครื่องบินรบบินผ่าน และรัฐบาลสหรัฐโทษว่า เป็นฝีมือของรัฐบาลอัสซาด (Bashar al-Assad) ที่โจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์อย่างโหดร้ายด้วยอาวุธเคมี และเป็นสารทำลายประสาท หลังจากนั้น สหรัฐได้ส่งจรวดร่อน (Cruise Missiles)เกือบ 60 ลูกโจมตีฐานทัพอากาศ Shayrat ในจังหวัด Homs โดยเชื่อว่าเครื่องบินที่ปล่อยอาวุธเคมีบินขึ้นจากฐานบินนี้

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า เหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเป็นผลประโยชน์สำคัญแห่งชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกับสหรัฐหยุดการสังหารและหลั่งเลือดในซีเรีย รวมทั้งการก่อการร้ายทุกประเภท
วาลิด อัลเมาเล็ม (Walid al-Moallem) รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศซีเรียยืนยันว่า กองทัพไม่ได้ใช้อาวุธเคมี ไม่ว่าผู้ก่อการร้ายหรือประชาชน และอ้างว่า การใช้อาวุธเคมีเกิดขึ้นเมื่อเวลา 6.00 น. แต่เครื่องบินรบเริ่มปฏิบัติครั้งแรกของวันเมื่อเวลา 11.30 น.เพื่อทำลายคลังเก็บอาวุธของกลุ่มก่อการร้าย Jabhat al-Nusra ซึ่งอาคารดังกล่าวมีอาวุธเคมีด้วย ทั้งยังอธิบายว่าหากเป็นการโจมตีทางอากาศสารพิษจะแพร่กระจายกว่า 1 กิโลเมตร โดยไม่อยู่ในขอบเขตแคบๆ อย่างที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้อาวุธเคมีในซีเรียเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นนับสิบครั้งแล้ว บางครั้งโทษรัฐบาลอัสซาด บางครั้งโทษฝ่ายต่อต้าน/ผู้ก่อการร้าย และครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2013 แถบชานกรุงดามัสกัส มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย ในครั้งนั้น รัฐบาลโอบามาอ้างหลักฐานจากดาวเทียม แสดงให้เห็นว่า จรวดปล่อยจากพื้นที่ฝั่งของรัฐบาลเป็นเวลา 90 นาทีก่อนเริ่มมีรายงานการโจมตีด้วยอาวุธเคมี

สิ่งที่ร้ายแรงสุดคือประธานาธิบดีทรัมป์สั่งโจมตีทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นฝีมือใคร กลับกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ เพียงรัฐบาลทรัมป์กล่าวว่าคิดเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะลงมือทันที โดยไม่สนใจข้อเท็จจริง หรือคำคัดค้านจากประเทศอื่นๆ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลทรัมป์เลือกโจมตีทันที ผลตามมาก็คือ รัฐบาลทรัมป์จะต้องอ้างไปเรื่อยๆ ว่ากองทัพอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมี

ทำไมทรัมป์จึงโจมตีอัสซาด? คำถามนี้อาจจะตอบคำถามดังกล่าวได้ 2 นัย คือ นัยของพื้นฐานกับนัยของความซับซ้อน ถ้าตอบในนัยพื้นฐาน เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการบิดเบือนกระแสสื่อ จากระยะนี้ที่ถูกวิพากษ์เรื่องความสัมพันธ์กับรัสเซียก่อนเลือกตั้ง นโยบายเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน ข่าวแง่ลบทั้งหลาย ทำให้คะแนนนิยมลดลงเรื่อยๆ จนถึงกับมีกระแสคิดถอดถอน (Impeachment) ประธานาธิบดี

ส่วนนัยรองมาคือ เพื่อตอบสนองความต้องการของฝ่ายซาอุดีฯ ดังที่ทรัมป์พูดว่าเขารับมรดกจากรัฐบาลโอบามา คำพูดนี้สามารถโยงย้อนหลังว่า ฝ่ายซาอุกีฯ หวังให้สหรัฐส่งทหารเข้ารบภาคพื้นดิน เพื่อล้มระบอบอัสซาด แต่โอบามาไม่ยอม กลายเป็นความระหองระแหงในสมัยนั้น จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน Mohammed bin Salman รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียเพิ่งเยือนทำเนียบขาว และหารือทรัมป์เมื่อกลางเดือนมีนาคม ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีสัมพันธ์ ที่ชื่นมื่น เจ้าชายถึงกับกล่าวชื่นชมว่าทรัมป์เป็น “มิตรแท้ของมุสลิม” (True friend of Muslims) การโจมตีอัสซาดอาจเป็นการเอาใจฝ่ายซาอุดีฯ หลังจากนั้นรัฐบาลซาอุดีฯ ก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนการโจมตีอย่างเต็มที่

อีกนัยหนึ่ง อาจจะเป็นไปได้คือ ความพยายามแสดงเป็นมหาอำนาจในยามที่สหรัฐกำลังถดถอย นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่า เป็นกลวิธีในการเตือนจีน เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกำลังเยือนสหรัฐ ประธานาธิบดีทรัมป์อาจต้องการแสดงให้เห็นว่าตนก็มีผลงานในเรื่องเหล่านี้เข่นเดียวกัน
การโจมตีซีเรียเมื่อเร็ว ๆ นี้ ถือเป็นการปฏิบัติการที่มีข้อจำกัด เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐได้แจ้งรัสเซียล่วงหน้าว่า เป็นการโจมตีเพียงครั้งเดียว และอาจเป็นเหตุผลว่า ระบบป้องกันขีปนาวุธพื้นสู่อากาศของรัสเซียไม่มีการสกัดขีปนาวุธจากสหรัฐแต่อย่างใด

อีกนัยหนึ่ง รัฐบาลทรัมป์ใช้บรรทัดฐานใหม่ คือ ไม่รอพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีจริงหรือไม่ หรือใช้วิธีสรุปเข้าข้างตัวเอง ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์หลักการนี้กับประเทศคู่ปรปักษ์อื่นๆ โดยเฉพาะเกาหลีเหนือกับอิหร่าน สหรัฐอาจมีเหตุผลที่จะโจมตีและมีความสมเหตุสมผลมากกว่า เช่น โจมตีเกาหลีเหนือ หากทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกล ทดลองจุดติดระเบิดนิวเคลียร์ โจมตีอิหร่านโทษฐานสนับสนุนผู้ก่อการร้าย และมีกองกำลังในซีเรีย เป็นต้น นั่นคือ การโจมตีซีเรียครั้งนี้อาจเป็นแผนขั้นตอนหนึ่งของแผนที่ลึกซึ้งกว่าและแฝงเร้น เช่น การจัดการอิหร่าน และเกาหลีเหนือ เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏและมีความเป็นได้ อาทิ การห้ามคน 6 สัญชาติเข้าประเทศ ฝ่ายซาอุดีฯ หวังให้รัฐบาลสหรัฐเร่งจัดการอิหร่าน ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เตือนว่า อาจลงมือจัดการเกาหลีเหนือด้วยตัวเอง

รัฐบาลทรัมป์พยายามอ้างเหตุผลให้ฟังดูดี และชี้ให้เห็นว่าผู้เสียชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานมาก เด็กผู้บริสุทธิ์ที่น่าสงสาร แต่ต้องไม่ลืมว่า การโจมตีซีเรียดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ การใช้กำลังจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อใช้เพื่อป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และ/หรือ คณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะต้องให้การรับรองการใช้กำลังดังกล่าว เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลสหรัฐแสดงอำนาจใหญ่กว่าสหประชาชาติ และใช้อำนาจเหนือกฎบัตรนานาประเทศอีกด้วย

การมีปฎิกิริยาของรัฐบาลทรัมป์ครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของประเทศค้าสงครามใด้หรือไม่ ที่ไม่ต้องการให้กลุ่มประเทศอาหรับเกิดความสงบเงียบ และไม่ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด หรือหากมองในมิติของการสร้างมหาอำนาจ ก็ไม่ต้องการให้รัสเซียเข้ามามีอิทธิพลเหนือสหรัฐในย่านภูมิภาคนี้ ผลที่สุดคือ การล้มตายและความสูญเสียของบ้านเมืองและชาวอาหรับ ที่เป็นสงครามตัวแทนสู้กันต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด โดยสร้างความสะพรึงกลัว ไม่เฉพาะชาวซีเรียเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อชาวโลกที่ไม่มีความมั่นใจในตัวประธานาธิบดีทรัมป์และการแผ่อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจคู่แข่งอย่างน่าเศร้าใจยิ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิศรุต เลาะวิถี
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง :
ชาญชัย คุ้มปัญญา. คอลัมน์ “สถานการณ์โลก”. ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7457 วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2560