เรือนจำนราธิวาสพาสื่อชมคุก รับรอมฎอนยันเป็นคุกสีขาว

168

ผบ.เรือนจำนราธิวาสเปิดคุกรับรอมฎอน นำสื่อดูความเป็นอยู่ของนักโทษตามโครงการเรือนจำสีขาว เผยปัจจุบันเนื้อที่ภายในค่อนข้างแออัด

วันนี้ (25 พ.ค.) ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส นายวิมล มิตรปล้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ได้นำสื่อมวลชนเข้าดูสภาพสถานที่ อาคาร อาทิ เรือนนอน จุดทำครัวฮาลาล และตรวจให้ดูสภาพความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตของนักโทษ ในแดนเรือนจำชายและหญิง เรือนจำจังหวัดนราธิวาส

โดยในจุดแรกได้นำไปยังลานเอกนประสงค์ ซึ่งเป็นจุดรวมพลของนักโทษชาย ซึ่งเป็นสถานที่ ออกกำลังกาย สถานที่จัดระเบียบ และเป็นสถานที่รวมรับประทานข้าวของนักโทษรวมกัน และเป็นสถานที่จัดระเบียบวินัยนักโทษ จากนั้นได้นำดูการทำอาหารซึ่งเป็นโรงครัวฮาลาล โดยใช้นักโทษ มาเป็นพ่อครัวทำอาหาร ตามรายการอาหารของทุกวัน เน้นในเรื่องความสะอาดอนามัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพของนักโทษทุกคน ซึ่งกับข้าวเป็นอาหารฮาลาลถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งอาคารใกล้กันจะเป็นที่เรือนพักและปฏิบัติศาสนากิจ เพื่อทำพิธีละหมาด 5 เวลาของนักโทษที่เป็นชาวไทยมุสลิม

นอกจากนั้นในเรือนนอนของนักโทษชาย 2 ชั้นอยู่บริเวณด้านหน้าลานเอกนประสงค์ ได้แยกนักโทษตามคดีสำคัญ โดยเฉพาะนักโทษที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง อาทิ คดีวางระเบิด คดียิงที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ จะแยกห้องนอนเป็นการเฉพาะส่วน ส่วนนักโทษคดียาเสพติดและคดีทั่วไปจะใช้ห้องนอนรวมกัน ห้องนอนชั้นล่างจุได้ 120-180 คน ต่อห้อง ส่วนห้องชั้นบนรองรับได้ 60-80 คน ต่อห้อง ซึ่งจากสภาพที่พักค่อนข้างแออัดสำหรับนักโทษ

ส่วนแดนนักโทษหญิงได้อนุญาตให้สื่อพบนักโทษหญิงและสอบถาม และบันทึกความเป็นอยู่ ซึ่งพบว่านักโทษหญิงมีน้อยกว่านักโทษชาย ส่วนใหญ่เป็นคดีทั่วไป ส่วนหนึ่งมีหน้าที่ทำอาหารและทำกับข้าวขายในเรือนจำของแต่ละวัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ต่อวันเฉลี่ย 35,000-37,000 บาทต่อวัน รายได้ที่ได้มาทางเรือนจำจะนำมา จุนเจือในเรื่องของเครื่องอุปโภคและบริโภคให้กับนักโทษอีกทางหนึ่ง

ด้านนายวิมล มิตรปล้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า การนำสื่อมวลชนมาดูสภาพเรือนจำนราธิวาสนั้น เป็นไปตามนโยบายกระทรวงยุติธรรม ในโครงการเรือนจำสีขาว และเป็นโอกาสเดียวกัน เพื่อต้อนรับเดือนรอมฎอนของชาวไทยมุสลิม ก่อนหน้าได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารฝ่ายปกครอง ตรวจค้นทุกซอกทุกมุมในเรือนจำทุกแดน เพื่อไม่ให้สิ่งผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด คือ ยาเพสติดและโทรศัพท์มือถือ

ซึ่งจาการตรวจค้นหลายครั้งได้ยึดอุปกรณ์หลายชนิดในตัวนักโทษในเรือนจำเป็นของต้องห้าม โดยเฉพาะมีโทรศัพท์มือถือในเรือนจำติดต่อกับบุคคลภายนอก ล่าสุดกำจัดหมดสิ้นในราวปลายเดือนมกราคม ปี 60 ซึ่งทาง คสช.ได้เพิ่มบทบัญญัติในกฎหมาย นักโทษมีโทรศัพท์ไว้ในเรือนจำ ปรับ 1 แสนบาทและจำคุกเพิ่มอีก 1 ปีเป็นเด็ดขาด

สำหรับเรือนจำจังหวัดนราธิวาส นายวิมล มิตรปล้อง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวเพิ่มเติมว่า มีเนื้อที่ 4 ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีนักโทษรวมทั้งหมด 1,600 คนเป็นยาเสพติดและคดีทั่วไป 85 เปอร์เซ็นต์ และมีนักโทษก่อเหตุความรุนแรงหรือคดีความมั่นคงทั้งหมด 68 คน ในแต่ละสัปดาห์ นักโทษจะได้รับการดูแลและให้ความรู้ในทางศาสนา และในเรือนจำจะมีกองช่างสอนวิชาชีพ ช่างถักอวน ช่างปูน ช่างไม้ ช่างเชื่อม เพื่อเสริมอาชีพให้กับนักโทษ โดยเฉพาะจุดกองช่าง ต้องเคร่งครัดเป็นกรณีพิเศษ เพราะวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในกองช่างต้องห้ามเล็ดลอดออกจากจุดกองช่าง เพราะอาจนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธได้

ในส่วนผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจะอยู่ในความดูและอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาไม่พบปัญหาเรื่องนำความเดือดร้อนมาสู่เรือนจำแต่อย่างใด นักโทษคดีความมั่นคง รักษาระเบียบวินัย และกฎได้ดี

“อย่างไรก็ตามยอมรับว่า พื้นที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันค่อนข้างแออัด ซึ่งทางกรมราชฑัณท์ ได้สร้างเรือนจำจังหวัดนราธิวาสอีกแห่งให้แล้วในพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ที่แห่งใหม่เพื่อรองรับขยายในหลายด้าน โดยเฉพาะนักโทษและการเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนในครั้งนี้ เพื่อสื่อถึงว่าเรือนจำจังหวัดนราธิวาสได้เดินตามนโยบายเรือนจำสีขาว ลดความตึงเครียด นักโทษร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี นักโทษก็มีจิตแจ่มใส” ผบ.เรือนจำจังหวัดนราธิวาสกล่าว

Cr.manager.co.th