“หลักการซัลมาน”! นักวิชาการไทยจับตา:ซาอุฯเปลี่ยนมกุฎราชกุมาร สู่การทูตแข็งกร้าว มากขึ้น

1285

“หลักการซัลมาน” กับการปูทางให้มกุราชกุมารมูฮัมหมัด บินซัลมาน

ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร วิเคราะห์หลังกษัตริย์ซัลมาน แห่งซาอุดิอารเบีย เปลี่ยนมกุฎราชกุมารว่า เป็นที่จับตาอีกครั้งสำหรับราชวงศ์ซาอูดแห่งซาอุดีอาระเบีย เมื่อกษัตรย์ ซัลมาน บินอับดุลอาซิซ สั่งปลดเจ้าชายมุฮัมมัด บินนาเยฟ หลานชายวัย 57 ปีออกจากตำแหน่งมกุราชกุฎมาร จากนั้นแต่งตั้งพระโอรสของพระองค์เจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมาน อายุเพียง 31 ปีขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน และคาดว่าน่าจะพ่วงด้วยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม พูดง่าย ๆ ว่าจะกลายเป็นทายาทที่ทรงอิทธิพลที่สุดจากนี้ไป โดยเฉพาะถูกวางตัวให้เป็นกษัตริย์สืบทอดราชบัลลังก์องค์ต่อไป

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นในราชวงศ์ซาอูด เมื่อกษัตริย์ซัลมานกำลังแหวกธรรมเนียมหรือประเพณีปฏิบัติในการสืบราชบัลลังก์ ทั้งนี้โดยปกติการสืบทอดบัลลังก์ของราชวงศ์ซาอูดจะเป็นการหมุนเวียนระหว่างพี่น้องต่างมารดา อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2015 พระองค์ก็ได้ปลดเจ้าชายมุคริน บินอับดุลอาซิซ บินซาอูด น้องชายต่างมารดา ออกจากตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ผู้ซึ่งมีฐานะในขณะนั้นเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ จากนั้นก็แต่งตั้งหลายชายของตัวเอง เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ (คนที่เพิ่งถูกปลด) ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารแทน

หมายความว่าหลักการสืบทอดราชบัลลังก์กำลังถูกเปลี่ยนจากการส่งต่อระหว่างพี่น้อง ไปเป็น “หลาน” จนกระทั้งล่าสุดเจ้าชายนาเยฟ ก็ถูกปลดเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสืบราชบัลลังก์ของราชวงศ์ซาอูดค่อย ๆ เคลื่อนจากพี่สู่น้อง มาสู่หลาน และในที่สุดตกก็มาถึงพระโอรสของกษัตริย์ซัลมานจนได้ แต่ในอนาคตก็คงต้องติดตามว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การแหวกประเพณีหลาย ๆ ครั้งเช่นนี้จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมมากน้อยเพียงใดในราชวงศ์ซาอูด
คงไม่แปลกที่นักวิเคราะห์จะมองว่าเป็นแผนการปูทางให้พระโอรสของพระองค์ เจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมาน เตรียมขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปและยึดราชบัลลังก์ไว้กับสายตระกูลของพระองค์ โดยเฉพาะเมื่อย้อนมองนโยบายที่ผ่านมาของกษัตริย์ซัลมาน ตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราช

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2015 เจ้าชายซัลมาน บิน อับดุลอาซิซ อัล ซาอูด ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา ได้ทรงขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ ทรงเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ตำแหน่งผู้ว่ากรุงริยาดห์ 48 ปี ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการปิโตรเลียม เป็นต้น เจ้าชายซัลมานหลังขึ้นเป็นกษัตริย์ได้แต่งตั้งลูกชายของพระองค์ มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนม์มายุเพียง 29 ชันษาขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งรองมกุฎราชกุมาร จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและคุณสมบัติของพระองค์ โดยเฉพาะในเรื่องพระชนม์มายุที่ยังน้อยกับตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคงของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้กษัตริย์ซัลมาน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญมากต่อบทบาทของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาคนี้ โดยเน้นการพึงพาตนเอง (self-reliance) โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ซึ่งนักวิเคราะห์เรียกว่า “หลักการซัลมาน” คือไม่รอการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาเพราะในช่วงปลายสมัยของโอบาม่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดีอาระเบียไม่ค่อยดีนัก

หลังจากเจ้าชายซัลมานขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ไม่ถึง 2 เดือน ซาอุดีอาระเบียและกองทัพภายใต้การนำของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ได้รวมพันธมิตร 10 ประเทศโจมตีเยเมนอย่างดุเดือดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน และทำทุกวิถีทางเพื่อลดอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในซีเรียเพื่อโค่นล้มระบอบบาชัร อัล อัสซาด (Bashar Al Assad) ทั้งหมดนี้ทำให้บทบาทของเจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมาน เด่นชัดขึ้นมาด้วยภาพลักษณ์ที่เด็ดขาดและแข็งกร้าว สอดรับกับนโยบายพึงพาตนเองของซาอุดีอาระเบียภายใต้ “หลักการซัลมาน” ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างมากในสายตาของกลุ่มประเทศพันธมิตรในอ่าวเปอร์เซียของซาอุดีอาระเบีย

ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าชายมูฮัมหมัด บินซัลมาน ยังได้รับบทบาทสำคัญด้านการทูตและการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยพระองค์ได้เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาในช่วงกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 2017 ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น หลังจากได้พบปะพูดคุยกับทรัมป์ พระองค์ถึงกับกล่าวว่า “ทรัมป์คือมิตรแท้ของมุสลิม” ทั้งนี้ ถือเป็นการปูทางสร้างบรรยากาศที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศก่อนที่ทรัมป์จะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกในเดือนพฤษภาคม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การที่เจ้าชายมุฮัมมัด บินซัลมาน ขึ้นเป็นมกุราชกุมารหรือหากได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปของราชวงศ์ซาอูด สหรัฐฯก็คงเปิดไฟเขียวด้วยความยินดี

จะเห็นได้ว่าซาอุดีอาระเบียภายใต้กษัตริย์ซัลมานมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงนโยบายต่างประเทศจากนโยบายแบบไม่ปะทะ (non-confrontation foreign policy) มาเป็นนโยบายที่มีความเด็ดขาดและแข็งกร้าวมากขึ้นหรือที่นักวิเคราะห์เรียกว่า “หลักการซัลมาน” โดยมีเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางทหารในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและบทบาททางการทูตในการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ คือการปูทางให้เจ้าชายซัลมานขึ้นเป็นกษัตริย์สืบรัชทายาทองค์ต่อไป