พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติอิตาลีจริงหรือ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้

13219

ตามที่มี “บทความ” นำเสนอข้อมูลว่า อิตาลีได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอีกศาสนาหนึ่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงขอนำข้อเขียนของ “ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์” ในเวบไซด์ prachtai.com มานำเสนอ

ผู้เขียนได้เห็นเว็บไซต์มากมายที่ลงบทความหนึ่งที่เขียนโดยด๊อกเต้อร์ของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง แต่พอตามไปดูที่เวบต้นทางทั้งของสยามรัฐและอะไรอีกอัน ปรากฏว่าเวบต้นทางหายไปแล้วทั้งคู่ เหลือแต่ที่คนก๊อปปี้มาลงอีกทีในเวบไทยต่างๆหลายที่ เนื้อความบอกว่า…

“…อิตาลีได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ยกพระพุทธศาสนาให้เป็นหนึ่งในศาสนาสำคัญของชาติ ไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์ (ปัจจุบันอิตาลีได้รับรองสถานะพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการ โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2000 นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ลงนามความตกลงกับประธานสหภาพสมาคมพุทธในอิตาลี เพื่อให้พุทธศาสนามีสถานะเป็นทางการในอิตาลี ทำให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ต้อง ชำระให้แก่รัฐบาล เพื่อบริจาคให้องค์กรทางพุทธศาสนาได้)”

อ่านแล้วคิดว่าผู้เขียนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนบางประการ เลยคิดว่าน่าจะพูดถึงสักหน่อย ไม่อย่างนั้นผู้คนจะเข้าใจผิด

เขาเขียนชื่อบทความว่า “พุทธศาสนา…เป็นศาสนาประจำชาติอิตาลี…แล้วครับ”

ขอชี้แจงแก้ไขอย่างนี้ว่า ประเทศอิตาลี เป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ที่ว่าส่วนใหญ่นี่ใหญ่จริงๆ คือมากถึง 91 เปอร์เซ็นต์กว่า โดยเป็นคริสต์นิกายคาทอลิกมากถึง 87 เปอร์เซ็นต์กว่า แถมยังมีนครวาติกันซึ่งถือเป็นรัฐของศาสนจักรคาทอลิกที่ปกครองโดยพระสันตปาปา (เป็นรัฐการปกครองพิเศษที่ถือเป็นเสมือนรัฐอิสระภายในประเทศอิตาลี) และอิตาลียังมีศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเป็นรากเหง้าประวัติศาสตร์อันยาวนานจนแยกกันไม่ออกนับพันกว่าปี

ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และสัดส่วนประชากรศาสนิกขนาดนี้ ใครๆที่ชื่นชอบเรื่องรัฐศาสนาและศาสนาประจำชาติก็ต้องบอกว่า อิตาลีต้องมีหรือสมควรมีศาสนาประจำชาติคือ ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกแน่ๆ

แต่เปล่าครับ

รัฐบาลอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญากับทางศาสนจักรคาทอลิก ขอยกเลิกการถือว่า ศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกคือ ศาสนาประจำชาติ หรือ Official religion ของประเทศอิตาลี ในวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ คศ.1984 หรือ พ.ศ.2527

หรือเมื่อ 31 ปีมาแล้วนี้เอง

และนี่ไม่ใช่ในสมัยมุสโสลินีเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ฉะนั้น มันไม่เกี่ยวกับความเป็นฟาสซิสท์หรือเผด็จการทหารอะไรทั้งสิ้น แต่มันเป็นเพราะประชาชนอิตาลีส่วนใหญ่เขาเห็นว่า ต้องแยกศาสนาออกจากเรื่องการเมืองการปกครอง ทั้งๆ ที่พวกเขาถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์นับถือศาสนาคริสต์และเป็นคาทอลิกเคร่งครัดเสียด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้ศาสนาคาทอลิกไม่มีอำนาจต่อรัฐ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ จากรัฐ ไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐ สัญญลักษณ์ไม้กางเขนอะไรในสถานที่ราชการของอิตาลีถูกถือเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา

ท่านผู้อ่านคงอยากถามต่อว่า แล้วอิตาลีเอาศาสนาอะไรเป็นศาสนาประจำชาติ?

ขอตอบว่า ไม่มีครับ อิตาลีได้ถือตนเองเป็นรัฐโลกวิสัยเต็มตัว

รัฐธรรมนูญของอิตาลีตั้งแต่ปีคศ. 1947 ได้ระบุถึงเสรีภาพทางศาสนาไว้ด้วยข้อความว่า

“…ประชาชนทุกคนมีศักดิ์ศรีทางสังคมเท่าเทียมกัน และมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย โดยไม่มีการแบ่งแยก…ทางศาสนา…” (มาตรา 3)

“…ทุกความเชื่อทางศาสนามีเสรีภาพเท่าเทียมกันทางกฎหมาย” (มาตรา8)

“ทุกคนมีสิทธิในการแสดงถึงความเชื่อทางศาสนาของตนอย่างเสรีในทุกรูปแบบ…ตราบเท่าที่รูปแบบนั้นไม่ละเมิดศีลธรรม” (มาตรา 19)

นี่คือประเทศที่มีชาวคริสต์ 91.6% และเป็นคาทอลิกถึง 87.8% ที่เหลือเป็นนิกายอื่นๆ สารพัดนิกาย แล้วยังมีมุสลิมอีกล้านกว่าคน ถือเป็นเพียง 1.9% มีพุทธ 160,000 คือ 0.3% ฮินดู 115,000 คือ 0.2% มีนั่นนี่อีกหลายศาสนา

ที่สำคัญเขาระบุได้ว่า มีคนไม่นับถือศาสนาถึง 3,400,000 คน หรือ 5.8%

ประเทศไทยนี่เป็นประเทศที่เคร่งศาสนามากจริงๆ จึงระบุสถิติคนไม่มีศาสนาไม่ได้เลยสักคนเดียว (ที่จริงเคยเห็นสถิติเหมือนกันจากที่ไหนจำไม่ได้ บอกว่ามี 0.0? อะไรสักอย่างจำไม่ได้ ไม่รู้เขาเอาสถิติมาจากไหน)

ฉะนั้นที่ท่านดอกเตอร์ท่านนั้นเขียนว่า อิตาลีได้ยกศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว จึงผิดในหลายประเด็น

และที่ว่าอิตาลียกศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของเขา ที่จริงไม่ใช่ แต่เป็นการที่รัฐบาลอิตาลี ในปี 2015 ได้ลงนามกับอีก 13 องค์กรศาสนาต่างๆ ว่าได้รับการรับรองว่า มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับศาสนาอื่นๆ ในอิตาลี

และสิทธิพิเศษที่ทางประเทศอิตาลีให้แก่ 13 องค์กรศาสนาต่างๆเหล่านี้อย่างเท่าเทียมก็คือ ให้ผู้เสียภาษีสามารถแสดงความจำนงให้แบ่งภาษีในอัตราร้อยละ 0.8 (ภาษาราชการของเขาเรียก 8 ในพัน) ของภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ปกติเขาต้องชำระให้แก่รัฐบาล ก็สามารถบริจาคตรงให้แก่องค์กรทางศาสนานั้นๆได้ โดยรัฐจะช่วยบริการส่งให้

นี่เป็นความใจกว้างของรัฐบาลอิตาลีอย่างมาก และรูปแบบนี้ได้ถูกใช้ในยุโรปหลายแห่ง คือ รัฐบาลไม่ได้เอาเงินงบประมาณประเทศไปอุดหนุนศาสนา แต่ให้ประชาชนมีสิทธิระบุในในเสียภาษีได้ว่า ตนนับถือศาสนานั้นศาสนานี้ และขอให้เอาภาษีของตนส่วนหนึ่ง(ตามสัดส่วนที่รัฐบาลกำหนดให้) บริจาคให้แก่องค์กรศาสนานั้นศาสนานี้ ตามที่ตนเองสังกัดอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลเขาก็ทำให้ตามความประสงค์

หรือถ้าไม่เลือกเลยก็ได้ ภาษีส่วนศาสนาก็จะบำรุงประเทศทั้งหมด
สรุปอีกครั้ง

หนึ่ง อิตาลีเป็นประเทศที่ชาวคริสต์คาทอลิกเป็นคนส่วนใหญ่มากๆ แต่เขาเลือกจะเป็นรัฐโลกวิสัยที่แยกศาสนาออกจากการเมืองการปกครอง

สอง อิตาลีให้เสรีภาพและความเสมอภาคแก่คนทุกศาสนา แม้แต่คนไม่นับถือศาสนา

สาม อิตาลีไม่เอางบประมาณประเทศไปสนับสนุนศาสนาใด แต่สนับสนุนศาสนาโดยให้ประชาชนเลือกแจ้งว่าจะให้รัฐแยกภาษีของตนเองส่วนหนึ่งไปสนับสนุนศาสนาที่ตนชอบได้ ชอบใครชอบท่าน แต่ละคนตัดสินใจกันเอง

 

หมายเหตุ: ภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวเรื่องการลงนามแยกศาสนาคริสต์คาทอลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติของอิตาลี เมื่อ 31 ปีก่อน)