วิพากษ์ยับ “ตำรวจ”เป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ เร่งคดี”นักข่าวอิศรา”บุกรุกกรณีหาข้อมูล “พัชรวาท”ร่ำรวยผิดปกติ

169
จักรกฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขียนบทความโพสต์ในเฟสบุคระบุหัวข้อง่า “เมื่อตำรวจถูกใช้เป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ คุกคาม ข่มขู่ นักข่าวอิศรา”

มีรายละเอียดว่า หากเรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องของชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอดีต ผบ.ตร.ที่ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ตำรวจ สน.พหลโยธิน จะกระตือรือร้นเรื่องคดีของนายณัฐพร วีระนันท์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราหรือไม่

คดีทั่วไป เมื่อผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กว่าจะหมายเรียกผู้ต้องหามาให้การ กว่าจะสอบข้อเท็จจริงจนแน่ใจได้ว่า สามารถแจ้งข้อหาดำเนินคดีได้ ทั้งที่เป็นความผิดชัดเจน ตำรวจก็ดูจะพิถีพิถันมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อผู้ต้องหาเป็นคนมีฐานะ มีอิทธิพลทางการเงิน เช่น กรณีบอส วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดง ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจตาย ซึ่งหายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว

แต่กับกรณีของนายณัฐพร วีระนันท์ เพียงเขาไปทำงานตามหน้าที่ เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณเอง การตกเป็นผู้ต้องหา ด้วยข้อหาที่ไม่ชัดเจน ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด และอาจเป็นเพียงการบอกกล่าวด้วยวาจาให้จัดการหาคดีให้นายณัฐพร โดยไม่มีการแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรตามขั้นตอนก่อน ดูง่ายดายอย่างยิ่ง

ถ้าไม่เรียกว่า เป็นการใช้เครื่องแบบตำรวจ ใช้อำนาจกฎหมาย ข่มขู่ คุกคาม ลิดรอนเสรีภาพ ทำให้หวาดกลัวแล้ว จะเรียกว่าอะไร และหากบุคคลที่นายณัฐพร วีระนันท์ ไปสืบหาข้อเท็จจริง สุจริต ตรงไปตรงมา สันหลังไม่หวะ แล้วจะเกรงกลัวสิ่งใด

นายณัฐพร วีระนันท์ ทำสิ่งใด ที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุก

นายณัฐพร วีระนันท์ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อมูลเรื่องหอพัก ที่หจก.สมถวิล เรียลเอสเตท ตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 32 ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กทม. ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ส.ค. 2560 เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหอพัก ในการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ หลังถูก ป.ป.ช.ไต่สวนการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

นี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติเพื่อรายงานข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน และรอบด้านตามหลักวิชาชีพ

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าสถานที่ดังกล่าว เป็นอาคารที่พักอาศัยให้เช่า ชื่อ “เก๋ไก๋ อพาร์ตเมนท์”
นายณัฐพรได้แสดงตนและขอสัมภาษณ์นางสมถวิล ไม่ทราบนามสกุล เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงในการทำธุรกิจ

ปรากฏว่าในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เชิญตัวนายณัฐพลมาที่สน.พหลโยธิน พร้อมกับแจ้งข้อหาบุกรุกสถานที่และยึดโทรศัพท์มือถือไว้ โดยให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติอาชญากร และควบคุมตัวไว้ในห้องขัง

เป็นการรวบรัดสรุปข้อหารวดเร็วเหลือเชื่อ ทั้งที่การเข้าไปในอาคารที่เกิดเหตุ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานบุกรุกทั้ง 2 กรณี คือกรณีแรก เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กรณีที่สอง เข้าไปกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข

นายณัฐพร เข้าไปในอาคารนั้น ด้วยจุดประสงค์เดียว คือการหาข้อมูลเพื่อรายงานข่าวตามหน้าที่ ไม่มีวัตถุประสงค์อื่น กรณีจึงไม่ใช่การบุกรุก และเขาก็ชอบที่จะแจ้งความกลับฐานแจ้งความเท็จ คือแจ้งความทั้งที่รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ทำให้เขาเสียหายเดือดร้อน

เรื่องของนายณัฐพร เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ สำหรับการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ และการสยบยอมผู้มีอำนาจของตำรวจ แต่อำนาจอธรรมชนิดไหน จะสู้กับอำนาจแห่งความจริงได้ อีกไม่นานคงรู้ว่าวัวสันหลังหวะซ่อนความจริงสิ่งใดไว้

ภาพ : FB Montree Juimoungsri