ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเติบโตในอินโดนีเชีย โมเดลจากศูนย์วิทย์ จุฬาฯ

127
ดร.วินัย ดะห์ลัน ถ่ายภาพร่วมกับนักเรียน อัลมุสลิมีน หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย

รายงานพิเศษ โดยบรรณาธิการMtoday

ระหว่างวันที่ 8-13 กันยายน ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้เดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเชีย เพื่อบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเกี่ยวกับ”วิทยาศาสตร์ฮาลาล” ให้กับองค์กร สถาบันการศึกษาจำนวนหลายแห่ง โดยมีนักศึกษาและบุคลากรในแวดวงฮาลาลของอินโดนีเชียเข้ารับฟังการบรรยายอย่างคับคั่ง

อินโดนีเชีย กำลังตื่นตัวเรื่องวิทยาศาสตร์ฮาลาล ขณะเดียวกัน ภาครัฐอินโดนีเชีย อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนองค์กรการตรวจรับรองฮาลาลมีเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล จึงมีการประชุมสัมมนา เพื่อหาแนวทางการแลกปเลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการและบริหารองค์กร ในขณะที่ ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล แห่งแรกของโลก ถือเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของโลก ที่องค์กรฮาลาลทั่วโลกต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทย

ดร.วินัย ได้รับเชิญให้ไปบรรยายทั้งในงานสัมมนา ในสถาบันการศึกษา องค์กรจัดบริหารจัดการฮาลาลจำนวน 3 แห่งในยอกยาการ์ต้า และ 1 แห่งที่กอตอร์ งานแรกได้บรรยายในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยอะห์หมัด ดะห์ลัน ยอกยาการ์ต้า เป็นการสัมมนานาชาติ เกี่ยวกับการตรวจสอบฮาลาล เกี่ยวกับยา

ในการบรรยายดร.วินัย พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของการใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเข้ามามาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาล จากประสบการณ์ในประเทศไทย ที่มีผู้ผลิตไส้กรอกไก่ฮาลาล แต่มีส่วนผสมของหมู เป็นจุดเริ่มต้นให้มีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ ใช้แล็บในการตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์

“อาหารที่ฮาลาล ฮารอม เราสามารถรู้ได้ชัดเจน แต่ในการผลิตสมัยใหม่ มีวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของดีเอ็นเอจากหมู่ หรือจากสิ่งที่ฮารอม อย่างเยลาติน เราไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยสายตา จำเป็นจะต้องใช้ห้องแล็บที่ทันสมัย ในการตรวจสอบว่า วัตถุดิบว่า มีส่วนผสมที่ฮารอมหรือไม่” ดร.วินัย ระบุ และว่า ปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นระบบ นัมเบอร์ ตัว H เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุดิบที่ฮาลาล

“สิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับวิทยาศาสตร์ฮาลาล คือ การเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์เพื่อมาทำงานด้านฮาลาล เป็นการสร้างประสิทธิภาพของวิทยาศาสตร์ฮาลาล” ดร.วินัย กล่าว

ในประวัติศาสตร์ ความยิ่งใหญ่ของอิสลามเริ่มจากอาหรับ เปอร์เชีย เติร์ก ลงมาที่อินเดีย เป็นรูปจันทร์เสี้ยว ในขณะที่คริสต์เริ่มจากยุโรปไปที่อเมริกา ความยิ่งใหญ่ของอิสลาม กำลังมาสู่แผ่นดินนูซันตารา (อินโดนีเชีย-มาเลเซีย)
“พวกเราในที่นี่ อาจเป็นผู้นำความยิ่งใหญ่ของอิสลามในนูซันตารา) ดร.วินัย กระตุ้นพลังของชาวอินโดนีเชีย

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทข้ามชาติ ที่ไม่สามารถตรวจสอบส่วนผสมได้ว่า มีส่วนผสมที่ฮาลาลหรือฮารอม

“ยาถือเป็นสิ่งจำเป็นที่เป็นข้อยกเว้นให้เราบริโภคได้ในเวลาที่เราเจ็บป่วย แต่ข้อยกเว้นนี้ คงไม่ดี หากเราะใช้มากล่าวอ้างตลอดเวลา จึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อเรียนรู้ ศึกษาในด้านนี้ ให้มุสลิมสามารถผลิตยา ตรวจสอบยาได้” ดร.วินัย กล่าว

จากงานสัมมนา ดร.วินัย ได้รับเชิญให้บรรยายห้กับนักศึกษาและผู้ทำงานด้านฮาลาลที่มหาวิทยาลัยมูฮัมมาดีนะห์ ยอกยาการ์ต้า ซึ่งเป็น 1 ใน 176 มหาวิทยาลัยในเครือข่ายมูฮัมมาดียะห์ รุ่งขึ้นอีกวันไปบรรยายให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนมุอัลลิมีนฟังถึงความสำคัญของฮาลาล ที่นี่ ได้เห็นการตื่นตัว ความกล้าของบรรดานักเรียน ที่มีความคล่องแคล่วด้านภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่เรียนด้านวิทยาศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ฮาลาล

มีนักเรียนไทย ได้รับทุนการศึกษาจากอินโดนีเชีย 200 ทุนต่อปี มีนักเรียนส่วนหนึ่งมาเรียนด้านฟู๊ดไซน์ หรือวิทยาศาสตร์อาหาร

จากยอกยา ย้อนกลับมาจาการ์ต้า และมุ่งหน้าไป “บอกอร์” เมืองที่เป็นที่ทำการของทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเชีย มีการสัมมนานานาชาติ ในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาล BICAS2017 หรือ BOGOR INTERNATIONAL CONFERENCE FOR APPLED SCIENCE นอกจากดร.วินัย เป็นคีย์ สปีกเกอร์แล่ว ยังมีอาจารย์จากหลายประเศ เช่น จากเนเธอแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเชียร่วมให้ข้อมูล จัดโดยมหาวิทยาลัยที่บอกอร์

ดร.วินัย เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ฮาลาล ที่ประยุกต์มาจากคำสอนในอัลกุรอ่าน เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และความแม่นยำในการตรวจสอบฮาลาล

“ที่อินโดนีเชีย มีความตื่นตัวเรื่องวิทยาศาตร์ฮาลาลมาก เฉพาะในมหาวิทยาลัยในเครือข่ายมูฮัมมาดีนะห์มีห้องแล็บประมาณ 20 แห่ง แต่ทั่วประเทศอินโดนีเชีย น่าจะมีนับ 100 แห่ง” ดร.วินัย ให้ข้อมูล

อินโดนีเชียกำลังปรับเปลี่ยนระบบการตรวจสอบฮาลาลโดยกระทรวงที่รับผิดชอบจะเข้ามาดูแล จึงอยู่ระหว่างวางระบบโครงสร้างองค์กร จากนี้ไป คาดว่า ระบบฮาลาลของอินโดนีเชีย จะรุดหน้าไปอีกระดับหนึ่ง

การเติบโตของวิทยาศาสตร์ฮาลาล และการให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิทยาศาสตร์ด้านฮาลาลขึ้นมา ส่วนหนึ่งจากตัวอย่างการก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นโมเดลให้ระบบการตรวจสอบฮาลาลของประเทศมุสลิมทั่วโลก ใช้เป็นแบบในการดำเนินการ เพื่อให้ระบบการตรวจสอบฮาลาลเท่าทันระบบการผลิตที่มีการเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

“ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” เป็นโมเดลแห่งโลกฮาลาลยุคใหม่อย่างแท้จริง