จากรับเบอร์ซิตี้ รัฐขายฝัน ‘ออยส์ปาล์มซิตี้’ใต้ตอนบน

97

ก.อุตฯ รับข้อเสนอเอกชน ชง ครม.สัญจร ชุมพร 3 เรื่อง ผุด Oil Palm City, อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เมืองสมุนไพร และนิคมไม้ยางพารา รวมมูลค่าการลงทุนเกือบ 7,000 ล้านบาท

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการหารือกับส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ได้ข้อสรุปตามข้อเสนอของภาคเอกชนพื้นที่ภาคใต้ 3 ประเด็น เพื่อตอบสนองตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูปครบวงจร คือ 1.การจัดตั้ง Oil palm City ดูแลบริหารจัดการตามน้ำมันตั้งแต่ ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาพันธุ์ ให้นวัตกรรมประเมินผลการเก็บเกี่ยว  พัฒนานวัตกรรมเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ศูนย์ทดสอบ และศูนย์ข้อมูล วิจัยและศึกษาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันชั้นเคมี ซึ่งทั้งหมดนี้จะบูรณาการร่วมกับระหว่าง 4 กระทรวง คือ ก.เกษตรฯ,ก.อุตฯ ก.วิทย์ และก.พาณิชย์ โดยศูนย์การเรียนรู้ฯจะอยู่ในความรับผิดชอบของ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.)

2.เมืองสมุนไพร กำหนดให้พื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร โดยบูรณาการร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวงคือ ก.วิทย์ ก.อุตฯ และ ก.เกษตรฯ และให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินการเรื่องการสร้างคลัสเตอร์ ทั้งนี้เบื้องต้นมีการดำเนินการร่วมกันแล้ว ของ รพ.ท่าฉาง และ ม.สงขลานครินทร์ ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบนำร่องไปสู่พื้นที่อื่นๆ และจะใช้ ศูนย์ ITC ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์อุตสาหกรรมภาคที่ 10 เป็นศูนย์กลางทำ Pilot Plan ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)

3.เมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพารา และนิคมอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด กำหนดพื้นที่จัดตั้งนิคมฯ ในพื้นที่ จ.ตรัง โดยมอบให้ กสอ.ออกแบบรูปแบบการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา ด้านพื้นที่มอบให้ การนิคมฯ (กนอ.) เข้าไปดูแลในพื้นที่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าอจากเศษไม้ยางพาราในรูปแบบอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งหารือกับ ก.พลังงาน เพื่อจัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้ยางพารา และรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานในพื้นที่

ด้านนายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยกับ Thaiquote ว่า จากผลการประเมินของกลุ่มโอลิโอ เคมิคอล คาดว่า การสร้าง Oil Palm City ในเฟสแรกจะใช้งบประมาณ จำนวน 54 ล้าบาท และเฟสที่ 2 อีก จำนวนประมาณ 100  ล้านบาท หากรวมทั้งระบบประเมินว่าจะมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนจำเป็นที่จะต้องขอการสนับสนุนจากภาครัฐ

ขณะที่นายอดิศร  ตันเองชวน ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน สอท. เปิดเผยกับ ThaiQuote ว่า พื้นที่ตั้งของ นิคมฯ ยางพาราจะอยู่ในพื้นที่ของ จ.ตรัง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยเป็นการลงทุนของเอกชนไทยและจีนร่วมกัน มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนสิทธิประโยชน์พิเศษ การส่งเสริมการลงทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยหาก ครม.พิจารณาอนุมัติให้มีการจัดตั้งนิคมฯ ก็สามารถที่จะดำเนินการด้านผลการศึกษาและออกแบบโครงการให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปีจากนี้