อยู่กับ ‘โรคซึมเศร้า’ ข้างๆ กัน ต้องทำอย่างไร

447
ขอบคุณภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

สอง-สามปีมานี้ ผมพบว่าคนรอบตัวทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่มีอาการเบื่อๆ อยากๆ หรือที่เรียกกันว่า ‘โรคซึมเศร้า’ กันหลายคน ตัวผมเองก็มีบางช่วงเวลาที่เซ็งๆ เนือยๆ นอยๆ อยู่บ้างเหมือนกัน แต่เมื่อลองนั่งคุยกับคนที่มีอาการของโรคอย่างแท้จริงก็พบว่า คนที่เป็นโรคนั้นมีภาวะที่แตกต่างไป ผมเคยไม่เข้าใจคนที่เป็นโรคนี้มาก่อน ทำให้เผลอปฏิบัติตัวไปในทางที่ผิด คิดอยากช่วยแต่กลับทำให้ทุกอย่างดูแย่ลงไปอีก วันนี้อยากลองแชร์ความคิดและข้อมูลบางอย่างเผื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงคนใกล้ชิด แน่นอนว่าผมไม่ใช่หมอ เพียงแค่อยากบอกต่อและชวนสนทนาในบางแง่มุม หากใครมีข้อมูลดีๆ หรือวิธีปฏิบัติตัวที่เป็นประโยชน์ก็แบ่งปันกันได้นะครับ น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนเลยทีเดียว

1. ก่อนจะพูด เราควรฟัง
คนรอบตัวผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักตัดสินและมองเขาด้วยสายตาของตัวเอง เรามักพยายามปลุกระดมให้เขามีความฮึกเหิม มีเป้าหมาย นั่งไถ่ถามถึง passion ความใฝ่ฝัน และอะไรก็ตามที่คิดว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เขามีพลังกับชีวิต บางครั้งก็เผลอไปดุด่าว่ากล่าวว่าทำไมเขาจึงเป็นคนเฉือยเนือยขี้เกียจสันหลังยาวเซื่องซึมไม่ยอมทำอะไร บางทีก็ไปกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ทั้งหมดนี้ทำไปด้วยความปรารถนาดี แต่หารู้ไม่ว่า สำหรับผู้ป่วยแล้ว สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เพราะมันแสดงถึงความไม่เข้าใจในภาวะที่เขาประสบอยู่ หากมีคนใกล้ชิดเนือยๆ เบื่อๆ ก่อนที่จะบิ๊วให้เขาทำอะไรมากมาย เราควรเงี่ยหูฟังเขาสักหน่อยว่าตอนนี้เขารู้สึกยังไงกับโลกและชีวิต เราจะเข้าใจอะไรมากขึ้น

2. เขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น
เมื่อได้ฟัง เราจะเข้าใจว่าอาการที่เขาเป็นอยู่นั้นเป็นภาวะยากลำบากอย่างยิ่ง เพราะมันคือความรู้สึกที่ไร้ความรู้สึกกับทุกสิ่ง ไม่บวก ไม่ลบ ไม่มีสิ่งใดมีความหมาย ไม่ตื่นเต้นกับอะไร ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากคุยกับใคร ซึ่งเขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้นแม้แต่น้อย นั่นยิ่งทำให้กดดัน ในโลกที่ทุกคนต้องขยันทำงาน อาการเช่นนี้ยิ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า อยากลุกขึ้นมาทำงานแต่ก็ไม่มีเรี่ยวแรงมากพอ นอกจากเนือยแล้วยังต้องต่อสู้กับคุณค่าที่สังคมรอบตัวกำหนดอีก นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเลย

3. เขาอาจไม่ได้เครียดจากอะไร จู่ๆ มันก็เกิดขึ้นเอง
ทุกคนล้วนมีช่วงเครียด ช่วงเบื่อ แต่ทั้งหมดล้วนมีสาเหตุจากอะไรบางอย่าง ขณะที่ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต่างออกไป บางที-อยู่มาวันหนึ่งอาการนี้ก็เกิดขึ้นซะอย่างนั้น เมื่อวานยังยิ้มแย้ม มาวันนี้ก็ซึมไปเลย อาการเช่นนี้เราไม่สามารถบอกกับเขาว่า “เฮ้ย คิดบวกเข้าไว้” หรือ “แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” อะไรทำนองนั้น พอมันเกิดขึ้นมันจะอยู่ไปอีกช่วงระยะหนึ่ง อาจหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือนๆ ในช่วงเวลานั้นผู้ป่วยจะเป็นคนที่ไม่อยากทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเล่น หรือกระทั่งแสดงความรักกับคนรัก เป็นช่วงเวลาที่ต้องการความเข้าใจอย่างยิ่ง และถ้าเขาพูดว่า “เธอไม่เข้าใจฉันหรอก” นั่นอาจเป็นสิ่งที่เขาอยากจะบอกจริงๆ

4. ให้เวลากับเขา ให้เวลากับเรา
ในช่วงนั้น เขาจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน อาจเป็นคนที่เฉื่อยเนือยจากที่เคยกระตือรือร้น อาจไม่มีสมาธิในการทำงาน อาจเบื่ออาหาร อาจไม่ยอมลุกจากที่นอนหรือนอนไม่หลับ สิ้นไร้เรี่ยวแรงพลัง บางครั้งอาจคิดว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เป็นช่วงเวลาที่คนรอบข้างควรให้เวลา ไม่พยายามทำให้เขาหายไวๆ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ รังแต่จะเพิ่มความกดดัน กระนั้นก็ไม่ควรคะยั้นคะยอหรือเอาใจใส่ดูแลเกินเหตุ เพราะช่วงเวลานี้เขาอาจไม่มีอารมณ์จะปฏิสัมพันธ์กับใครมากนัก จงให้เวลาทั้งกับเขาและกับเราเอง

5. มันเกี่ยวกับสารเคมีในสมอง
สิ่งที่เราควรเข้าใจคือโรคนี้ไม่ได้เกิดจากทัศนคติหรือมุมมองต่อโลก แม้ว่าเมื่อมีอาการจะส่งผลต่อวิธีมองโลก แต่สาเหตุของมันเกิดขึ้นในสมอง อาจมีสารเคมีบางตัวในสมองที่พร่องไป หรือความผิดปกติของฮอร์โมนบางอย่าง ในทางการแพทย์อาจยังตอบได้ไม่กระจ่างนักว่าสาเหตุที่แท้จริงของมันคืออะไร อาจเป็นยีนหรือสภาพแวดล้อมผสมกัน เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะเป็นโรคบางอย่างในบางช่วงเวลา การเปรียบเทียบกับหวัดอาจไม่ถูกต้องนัก แต่ลองคิดดูว่าในบางเวลาโรคบางโรคก็วนเวียนเข้ามาในชีวิต ให้เวลากับมัน เดี๋ยวมันก็ค่อยๆ คลี่คลาย

6. เรียกมันว่าโรค เพื่อให้รู้สึกธรรมดา
เมื่อนิยามได้ว่านี่คืออาการของโรคชนิดหนึ่ง แทนที่จะรู้สึกว่ามันเป็นโรคร้าย เราควรรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ที่ย่อมมีอาการป่วยบางอย่างบ้างเป็นครั้งคราว ไม่ควรรู้สึกว่า โอว แย่แล้ว เราเป็นโรคหรือคนข้างตัวเราเป็นโรค มันก็แค่เรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อให้เราอยู่ข้างๆ กันเพื่อให้กำลังใจและทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน

7. เปลี่ยนชื่อโรคกันไหม
ผมอยากชวนคิดชื่อโรคนี้กันใหม่จริงๆ เชียว คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ มันดูเทาทึมเหลือเกิน ทำให้เราไม่อยากบอกกับใครว่าเราเป็นโรคนี้ อันที่จริงเราไม่ได้จะซึมเศร้าไปตลอดชีวิตหรือตลอดเวลา ผมอยากเรียกมันว่า ‘โรคเนือยบ้างไรบ้าง’ เพราะมันเป็นอาการเนือยแค่ชั่วคราว แหม คนเราก็เนือยกันได้ป่าววะ ก็แค่ชั่วคราวเท่านั้น เดี๋ยวก็จะกลับมามีพลังใหม่ แค่ ‘เนือยบ้างไรบ้าง’ ไม่ได้ ‘ซึมเศร้า’ ไปตลอดกาล อย่าตกใจไป

8. ชวนเขาไปหาหมอ
ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ทราบว่ามีโรคนี้อยู่ในโลกนี้ บางคนอาจไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น ในอเมริกามีค่าเฉลี่ยว่าผู้ป่วยแต่ละคนใช้เวลาเกินสิบปีกว่าจะขอคำปรึกษาจากคุณหมอ ทั้งที่การไปหาหมอนั้นช่วยให้อาการดีขึ้นได้ ทั้งการได้นั่งพูดคุย เล่าอาการ การจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลเคมีในสมอง รวมถึงคำแนะนำจากคุณหมอล้วนเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย ถ้ามีคนใกล้ชิดมีอาการของโรคเนือยบ้างไรบ้าง ควรแนะนำให้เขาไปหาหมอ ก็เหมือนเราเจ็บคอ เป็นไข้นั่นแหละ เราก็ต้องหาหมอมิใช่หรือ การหาหมอรักษาอาการโรคนี้ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจแต่อย่างใด อย่างที่บอกไปครับว่า เป็นธรรมดา คนเราก็เป็นโรคกันได้

9. เธอไม่ได้อ่อนแอ เล่าสู่กันฟังบ้างก็ได้
ไม่ว่าเราจะเป็นโรคนี้เองหรือคนใกล้ชิดเป็น สิ่งหนึ่งที่เราควรเข้าใจคือเราไม่ได้อ่อนแอไปกว่าคนอื่น มันเป็นภาวะหนึ่งที่บางสิ่งในสมองไม่สมดุล ในภาวะนั้นอาจมีความคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เช่น เปิดเฟซบุ๊กแล้วรู้สึกว่าทุกคนมีความสุขกว่าฉัน (เล่นเฟซบุ๊กน้อยลงหน่อยก็ดี) หรือเปรียบเทียบกับตัวเองตอนที่สดใสกว่านี้ แต่ก็คล้ายกันกับตอนที่เราข้อเท้าซ้น เราไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ทันทีต่อให้เร่งวันเร่งคืนแค่ไหนก็ตาม การพูดคุยแบบเปิดใจช่วยเยียวยาความรู้สึกได้ รวมถึงการเล่าความคิดว่าจะฆ่าตัวตายก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน คนใกล้ตัวควรเปิดใจฟัง และผู้ป่วยโรคเนือยบ้างไรบ้างก็ควรเปิดใจบอกความรู้สึกให้คนที่เราไว้ใจได้รู้ บอกโลกไปเลยว่าฉันเป็นโรคนี้ คนรอบข้างจะได้เข้าใจ แน่นอนว่าท่ามกลางสังคมที่ยังไม่เข้าใจผู้ป่วยโรคนี้ ย่อมทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล ไม่กล้าบอกใคร เราจึงต้องการความเข้าใจในสังคมมากขึ้น เพื่อเรื่องราวที่วนเวียนอยู่ข้างในจะได้ถูกเล่าออกมาได้อย่างสบายใจขึ้น

10. ออกกำลังกายกันเถอะ
ผมพบว่าพี่ๆ น้องๆ หลายคนที่เป็นโรคเนือยบ้างไรบ้างอาการดีขึ้น สดใสขึ้น มีกำลังวังชามากขึ้นจากการออกกำลังกาย แม้แรกๆ จะฝืนบ้าง แต่ถ้าพยายามและทำได้ต่อเนื่องจะค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น ซึมน้อยลง เนือยน้อยลง การออกกำลังกายอาจทำให้สารเคมีบางตัวในสมองหลั่งออกมา เพิ่มความรู้สึกดีให้กับเรา บางคนบอกว่า มนุษย์เราเคยมีชีวิตในทุ่งกว้างมาก่อน แต่ก่อนต้องตากแดด วิ่งล่าหาอาหาร เดี๋ยวนี้ต้องมานั่งอยู่ในห้องแอร์แคบๆ ทั้งวัน ทำให้ผิดธรรมชาติดั้งเดิม เราจึงควรหาเวลากลับสู่กิจกรรมตามธรรมชาติของเราบ้าง การออกกำลังกายนั้นเป็นยาวิเศษจริงๆ ช่วยทั้งเรื่องสารเคมี ช่วยให้สุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ถ้ามีคนใกล้ตัวเนือยๆ ก็ลองชวนเขาไปออกกำลังกายด้วยกัน แต่ไม่ต้องกดดันมากนะครับ ค่อยเป็นค่อยไป

ทั้งหมดที่เล่ามา ผมคิดว่าการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเนือยบ้างไรบ้างนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งในระดับใกล้ตัว คือการปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยในบ้าน ในความสัมพันธ์ ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะปฏิบัติต่อกันได้ดีขึ้น และในระดับของสังคมวงกว้าง ถ้าสังคมเข้าใจ ผู้ป่วยก็จะกล้าพูดกล้าบอกกล้าเล่าเรื่องราวและความรู้สึกให้คนอื่นฟัง

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่เราจะมีบางช่วงเวลาที่ต้องใช้เวลาข้ามผ่านมันไป ไม่ว่าในระดับของครอบครัว คนใกล้ตัว หรือสังคมส่วนร่วม ผมคิดว่าเราต้องการความเข้าใจซึ่งกันและกันในการอยู่ข้างๆ กันเพื่อข้ามผ่านช่วงเวลานั้นไป ยังมีวันพรุ่งนี้ที่สดใสรออยู่

ถ้าไม่รบกวนเกินไปก็อยากฝากแชร์เพื่อแบ่งปันข้อมูลนี้ออกไปเพื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น หากใครมีข้อมูลอยากเสริมหรือท้วงติงอะไรก็คอมเมนต์บอกกันได้เลยครับ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน