กนง.มองเศรษฐกิจไทยโต แต่ยังมีสัญญาณลบ

426

กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง แต่การลงทุนภาคเอกชนและกำลังซื้อภายในประเทศ ยังไม่สูงนัก หนี้ครัวเรือนยังสูง ฟองสบู่คอนโดฯ เริ่มมีสัญญาณ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. วันที่ 19 ก.ย. 2561 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยอีก 2 เสียงเห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็น 1.75% ต่อปี เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอ โดยภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นเวลานานส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน แต่กรรมการส่วนใหญ่ยังต้องการให้คงดอกเบี้ยไว้เพราะเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงบ้างจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยด้านรายได้และการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้การฟื้นตัวมีความค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่ประเมินไว้ อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ระยะที่ 2, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟชานเมืองเส้นทางบางซื่อ-รังสิต

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า กนง. มองว่าเศรษฐกิจไทยมีเเนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 4.4% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9% การลงทุนภาครัฐอยู่ที่ 6.1% ลดลงจากเดิมที่ 8.9% การลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ 3.7% การบริโภคภาคเอกชนอยู่ 4.2% และจำนวนนักท่องเที่ยว 38.3 ล้านคน

ส่วนในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.2% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.3% ลดลงจากเดิมที่ 5% จากผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยว 40.6 ล้านคน

“เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่ 2 เรื่องที่ต้องติดตามในระยะต่อไป คือ 1. นโยบายกีดกันทางการค้า ที่สุดท้ายแล้วจะต้องดูว่าได้ข้อตกลงที่ชัดเจนหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทยและจะเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 2562 ซึ่งถ้าไม่มีปัจจัยเรื่องสงครามการค้าส่งออกปี 2562 จะขยายตัวได้มากกว่า 5% และ 2. การจัดการเลือกตั้งทั่วไป ที่สุดท้ายแล้วต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งการประมาณการล่าสุดยังไม่ได้รวมปัจจัยด้านการเลือกตั้งเข้าไป”นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ความจำเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่ง กนง. ไม่ได้บอกว่า จะเลิกในโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากๆ ในช่วงใด ซึ่งในการประชุมกนง. ทุกครั้งจะมีการอัพเดตตัวเลข ข้อมูลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้ที่ประชุมพิจารณา อีกทั้งการเลิกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย เช่น อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน และภาวะการเงินประกอบด้วย ซึ่งกรรมการจะยึดข้อมูลในปัจจุบันเป็นหลัก คงไม่ได้บอกว่าจะเป็นเมื่อใดๆ

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปียังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังได้รับความเสี่ยงจากราคาอาหารสดที่ยังผันผวนสูงตามสภาพอากาศและปริมาณการผลิต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจบนโลกออนไลน์ หรือ E Commerce ซึ่งทำให้การแข่งด้านราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เป็นผลกระทบระยะสั้น ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวมากนัก

ในส่วนประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไทยคงมีภูมิคุ้มกันด้านต่างประเทศ ทั้งเงินบัญชีเดินสะพัด กองทุนสำรองระหว่างประเทศ และอัตราหนี้ต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินไม่มากนัก อย่างในช่วงที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ค่าเงินอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเหรียญสหรัฐฯ แต่ไทยกลับเเข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันบางช่วงที่สกุลบาทอ่อนค่า ก็เป็นการอ่อนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ แต่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ นอกจากเรื่องสงครามการค้า ที่ให้น้ำหนักมากที่สุด ได้แก่ พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบเเทนที่สูงขึ้นในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน การเเข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง อีกทั้งการก่อสร้างอาคารชุดเพื่อปล่อยเช่าซื้อยังคงมีปริมาณเหลืออยู่ในตลาดเป็นจำนวนมากในบางพื้นที่ ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ไม่ดีพอสมควร และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า กนง. ควรจะยืนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม เพราะในจังหวะอย่างนี้ไม่ควรปรับขึ้น แต่คลังไม่สามารถไปสั่งการการตัดสินใจของ กนง. ได้ สำหรับการประชุมในครั้งต่อไปของปีนี้ที่เหลือในวันที่ 14 พ.ย. กับ 19 ธ.ค. ทาง กนง. ก็ควรพิจารณาปัจจัยความผันผวนของตลาดโลก หากไม่มีความจำเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ก็ควรนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง

ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังต้องการนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัว แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายได้ดีขึ้น ซึ่ง กนง. ควรจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ไว้เท่าเดิม เพราะตอนนี้ยังไม่มีแรงกดดันเรื่องเงินอัตราเงินเฟ้อสูง กนง. จึงยังไม่มีความจำเป็นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการคลัง ที่มีการเร่งการใช้จ่ายและการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ