หน้าแรก ในประเทศ กอ.รมน. ลุยตรวจ’เด็กผี’ 3 จังหวัดใต้ พบ 1,300 คน ขณะทั่วประเทศมี 70,000 คน

กอ.รมน. ลุยตรวจ’เด็กผี’ 3 จังหวัดใต้ พบ 1,300 คน ขณะทั่วประเทศมี 70,000 คน

1161

กอ.รมน. ลุยตรวจเด็กผีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุมี 1,300 คน ในขณะทั่วประเทศมีมากถึง 70,000 คน ระบุทำกันเป็นขบวนการ 

วันที่ 15พ.ย.61 กรณีพบนักเรียนที่มีชื่อซ้ำซ้อนกันในหลายโรงเรียน แต่กลับไม่มีตัวตนจริง หรือ “นักเรียนผี” ส่งผลให้มีการเบิก “งบอุดหนุนรายหัวนักเรียน” เกินจริง ซึ่งอาจเข้าข่ายทุจริตนั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายให้ตรวจสอบเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ตลอดจนค่าอาหารกลางวัน และนมโรงเรียน รวมถึงคุณภาพทางการศึกษา เพื่อป้องกันการทุจริต

เนื่องจากที่ผ่านมา พบการทุจริตจริงในโรงเรียนบางแห่ง และบางกรณี ยังเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงด้วย แต่การตรวจสอบต้องให้กระทรวงศึกษาธิการ และ คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นหน่วยงานหลัก โดยฝ่ายทหารเป็นหน่วยสนับสนุน

“เราได้มีการตรวจพบบางโรงเรียน และมีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตเงินอุดหนุนของโรงเรียนซึ่งขณะนี้ในเรื่องของการตรวจสอบ ท่านแม่ทัพได้มีนโยบายว่าต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียด แต่ว่าเจ้าภาพหลักที่จะต้องเข้ามาดำเนินการตรวจสอบคือ กระทรวงศึกษาธิการ และก็ศช. ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ครับ” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว

แต่ละปี จะมีงบประมาณอุดหนุนรายหัวนักเรียน ร้อยละ 80 ต่อคน หรือคนละ 18,000 บาท แต่ชาวบ้านบางคนไม่ทราบข้อมูลว่า รัฐมีการช่วยเหลือและให้เงินอุดหนุน จึงเกิดช่องว่าง เกิดการฉ้อโกง

หลังจากนี้ จะตรวจสอบและดูเจตนาเป็นรายกรณี โดยนำร่องในจังหวัดปัตตานี ก่อนขยายไปยังจังหวัดยะลาและนราธิวาส

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงส่วนน้อย เมื่อเปรียเทียบกันทั้งประเทศ โดยข้อมูลจาก เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ระบุว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากครูรายหนึ่งในจ.ชัยภูมิ ให้ตรวจสอบทุจริตการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา นำไปแจกจ่ายให้โรงเรียนในสังกัดสพฐ.ทั่วประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลคนละ 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท มัธยมศึกษาตอนต้นคนละ 3,500 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลายคนละ 3,800 บาท

แต่กลับพบพฤติการส่อทุจริต ของผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดชัยภูมิ ที่นำรายชื่อและเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักของนักเรียน ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน มาเวียนขอรับงบประมาณ หรือเรียกว่า นักเรียนผี

ซึ่งนอกจากจะเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อน ยังส่งผลต่อการบริหารงาน และภาพลักษณ์ของวงการการศึกษาไทยด้วย เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริหารของโรงเรียนได้เลื่อนตำแหน่งเร็วขึ้น หรือได้รับสิทธิ์เลือกโรงเรียนแห่งใหม่ได้

หลังพบความผิดปกติ กลุ่มครูในจ.ชัยภูมิ รวบรวมเอกสารหลักฐาน ไปยื่นร้องเรียนต่อรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง และได้สั่งการไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

ซึ่งเมื่อ 22 ตุลาคม 2561 รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ส่งหนังสือลงคำสั่งด่วนที่สุด ไปยังนายอำเภอ 9 อำเภอ ในจ.ชัยภูมิ รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ และนายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ ให้รายงานผลการตรวจสอบให้ทราบ ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2561

นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยอมรับว่า ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ และพบความผิดปกติจริง โดยพบว่าจำนวนนักเรียนในสังกัดสพฐ. 180,000 คน มีตัวตนจริงเพียง 110,000 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 70,000 คน เป็นนักเรียนผี ที่มีรายชื่อซ้ำซ้อน ซึ่งหากคิดเป็นงบประมาณที่ภาครัฐสูญเสียไปน่าจะมากถึงหลักพันล้านบาท หลังจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบจำนวนนักเรียนในระยะที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2561 ต่อไป รวมถึงตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องในโครงการ ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ไปจนถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการในกระทรวง หากพบความผิดจะดำเนินการทั้งทางวินัยและอาญาอย่างไม่ละเว้น

ข้อมูล workpoint/NationTV