เด็กไทยสร้างชื่อ คว้าแชมป์โครงการวิทยาศาสตร์ที่เกาหลีใต้

130

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า อพวช. ได้ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำตัวแทนเยาวชนไทยร่วมเวทีการประชุมนักวิทยาศาสตร์แห่งอนาคตของกลุ่มประเทศเอเปค ครั้งที่ 6 ประจำปี 2560 (6th APEC Future Scientist Conference 2017) ระหว่างวันที่ 7 – 14 มกราคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ การประชุมดังกล่าวได้มีการจัดกิจกรรมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของเยาวชนที่มาร่วมการประชุม โดยมี 10 ประเทศ ที่ส่งผลงานเข้าประกวด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และไทย

ปรากฏว่า เยาวชนไทย สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากโครงงาน “โปรแกรมแปลภาษา และพริ้นเตอร์อักษรเบลล์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” ซึ่งเป็นผลงานของ นาย ณลงกรณ์ บุญเจริญ, นาย คัคเนศ สุทธิรัตน์ และ นายณวรุตม์ ไพรรุ่งเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยมีอาจารย์ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ เป็นผู้ควบคุมทีม ขณะที่ นาง กรรณิการ์ กล่าวว่า ถือเป็นการสร้างชื่อให้กับประเทศไทย ในเวทีนานาชาติอีกครั้ง หลังเยาวชนไทยสามารถนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวก เพิ่มโอกาสในสังคมให้กับผู้พิการทางสายตา จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีใหญ่ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่กลุ่มประเทศเอเปคให้ความสำคัญ เพื่อปั้นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตให้กับภูมิภาค

ด้านนาย ณลงกรณ์ บุญเจริญ ตัวแทนทีมเยาวชนไทยที่คว้ารางวัล กล่าวว่า พวกเขารู้สึกภูมิใจ ตั้งแต่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมฯ เพราะเป็นเวทีระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งโครงงานที่พวกเขาได้นำมาเข้าประกวด เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาต่าง ๆ ของการพิมพ์อักษรเบลล์ เพราะปกติเขา และเพื่อน ๆ จะส่งเอกสารอักษรเบลล์ เช่น บทความ หนังสือ และนิทาน ให้กับโรงเรียนผู้พิการทางสายตาเป็นประจำ จึงได้ลองคิดหาวิธีการแก้ไขจนเป็นที่มาของโครงงาน “โปรแกรมแปลภาษา และพริ้นเตอร์อักษรเบลล์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” ที่สามารถพิมพ์เอกสารสำหรับผู้พิการทางสายตาได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้อย่างแม่นยำ พร้อมพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่น สำหรับแปลข้อความภาษาไทย และภาษาอังกฤษให้เป็นอักษรเบลล์ แถมยังเข้าใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์ ทุกแพลตฟอร์ม เมื่อแปลเป็นภาษาอักษรเบลล์แล้ว ยังสามารถบันทึก และสั่งพิมพ์ได้ทันที

นอกจากนี้ ณลงกรณ์ ยังกล่าวอีกว่า เครื่องพิมพ์ที่นำมาใช้จะนำมาจากเครื่องพิมพ์หัวเข็มเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาดัดแปลงแก้ไข สามารถสั่งพิมพ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทันที และสามารถใช้งานพร้อมกันได้หลายอุปกรณ์ โดยการเชื่อมต่อที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things) ซึ่งหลังจากนี้ พวกเขาจะพัฒนาต่อยอดโครงงานชิ้นนี้ให้สามารถแปลบทความทางวิชาการที่เป็นอักขระพิเศษได้ เช่น สูตรเคมี และคณิตศาสตร์ โอกาสนี้พวกเขาขอขอบคุณ อาจารย์ภาณุพงศ์ เยี่ยมยงวรรณ ซึ่งเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษา และคำแนะนำต่าง ๆ ตลอดจน อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ที่ให้การสนับสนุนในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ พวกเขาจะดีใจและภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ และยังประทับใจที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับเพื่อนต่างชาติต่างภาษา รวมทั้งได้รับความรู้มากมายจากการได้ร่วมเวิร์คช็อป และร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมไทยต่อไป