จับตาดู วันเพ็ญ กลางเดือนรอมฎอน เป็น “ไมโครมูน”

173

ดวงจันทร์จิ๋ว!! 9 มิถุนายนนี้ เตรียมพบกับ “ไมโครมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเล็กสุดในรอบปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยคืน 9 มิถุนายน 2560 ดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี หรือเรียก “ไมโครมูน” เป็นวันที่ดวงจันทร์โคจรไกลโลกที่สุดในรอบปีและตรงกับคืนเดือนเพ็ญ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า วันที่ 9 มิถุนายน 2560 ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,402 กิโลเมตร เวลาประมาณ 05:21 น. ตามเวลาประเทศไทย และยังตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง (ดวงจันทร์เต็มดวงมากที่สุดเวลาประมาณ 20:11 น.) คืนดังกล่าวจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า ไมโครมูน หากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวง ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าช่วงที่ใกล้โลกที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30% ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 406,222 กิโลเมตร

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

 
 
ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

เรียบเรียงโดย

จินต์จุฑา เจนสระคู : สำนักข่าวทีนิวส์