มาอีกแล้ว! เตือนประจวบกับ 9 จังหวัดใต้รับมือฝนตกหนัก 31 ต.ค.-1 พ.ย.

107

ปภ.ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 9 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย.60

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 9 จังหวัดภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย.2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง จัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง และพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนติดตามข่าวสารและคำแนะนำจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2560 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ เข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2560

ปภ.ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมสรรพกำลัง วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำและประสานการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม โดยเฉพาะในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง และพื้นที่เศรษฐกิจ กรณีสถานการณ์รุนแรงให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ/แผนเผชิญหตุแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด พร้อมพิจารณาอพยพประชาชนไปพักอาศัยยังศูนย์พักพิงหรือจุดอพยพที่ปลอดภัย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ สถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้จุดเสี่ยง อาทิ ใต้ต้นไม้ใหญ่ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการถูกล้มทับ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด

ท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป