“ ปณิธาน วัฒนายากร” วิเคราะห์ “การเมืองไทย” ในสายตา “เวทีนานาชาติ”

48

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ วิเคราะห์การเมืองไทย ในสายตานานาชาติ ในช่วงก่อนเลือกตั้ง

-การเลือกตั้งที่จะมาถึง มองว่าต่างชาติให้ความสำคัญและจับตาการเลือกตั้งของไทยมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร

โดยทั่วไปก็ได้รับความสนใจพอสมควร ด้วยเหตุผลหลายอย่างแต่ก็ไม่ใช่จะสนใจมากมายเหมือนในบางประเทศที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหรือว่ามีผลประโยชน์มากๆให้กับนานาชาติ แต่ว่าที่สนใจก็เพราะว่าประเทศไทย ถือเป็นประเทศขนาดกลาง ทางด้านเศรษฐกิจอยู่ในลำดับ 20 ต้นๆ ที่มีอิทธิพลต่อโลกและที่สำคัญประเทศไทยเป็นที่ท่องเที่ยว

แต่ว่าก็ไม่ได้มีปัญหาว่าจะเลือกตั้ง จะเป็นรัฐบาลอะไร การท่องเที่ยวก็เดินหน้าอยู่ปกติอยู่แล้วแต่ที่สนใจ เพราะว่ามีมหาอำนาจ 2-3 กลุ่มที่จะทั้งได้ และเสียประโยชน์ จากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นเขาก็คงสนใจพยายามที่จะโน้มน้าวชักจูง โดยข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าไม่สามารถแทรกแซงการเมืองของแต่ละประเทศได้

แต่หากติดตาม เรื่องต่างประเทศก็คงจะทราบกันว่ามหาอำนาจก็แทรกแซงประเทศอื่นๆเป็นประจำเพื่อผลประโยชน์ เพราะสนใจในระดับหนึ่งคือประเด็นแรก ประเด็นที่ 2 คือตัวบุคคลก็สนใจว่าท่านนายกฯ อยู่ในตำแหน่งนานกว่าปกติเมื่อเปรียบเทียบกับถัวเฉลี่ย 3 ปีกว่าที่เราเคยเห็นรัฐบาลมีนายกรัฐมนตรี แล้วก็ยังสามารถนำเสนอตัวเองที่จะไปต่อแต่ประชาชนจะเลือกหรือไม่ ต้องรอดูผล ก็ทำให้สนใจ

คล้ายๆกับตุรกีซึ่งขณะนี้ก็อยากจะไปต่อสมัยที่ 3 แล้วก็เป็นแหล่งผลประโยชน์ของมหาอำนาจหลายขั้วสนิทกับรัสเซียด้วย สนิทกับสหรัฐด้วย ประเทศตุรกีตอนนี้ก็แผ่นดินไหวมโหฬารคนเสียชีวิตเป็นหลายหมื่นคน สำหรับประเทศไทย ผู้คนก็ให้ความสนใจ ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะประเทศที่เป็นมหาอำนาจและประเทศในภูมิภาคเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศในอาเซียนก็จะสนใจ เหมือนเราสนใจการเมืองการเลือกตั้งในมาเลเซีย เพราะมีเรื่องได้เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ อย่างเช่นเรื่องภาคใต้ เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ

-ที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือตัวบุคคล ก็คือตัวนายกรัฐมนตรีตรงนี้จะแตกต่างจากปี 2562 เพราะว่าท่านเสนอตัวที่จะไปต่อ ในฐานะนักการเมืองเต็มตัว ตรงนี้จะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นให้กับบรรยากาศในการที่เราจะถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นหรือไม่

ก็เป็นหนึ่งในเหตุผล เนื่องจากต่างประเทศเขาชอบความแน่นอน ชอบความต่อเนื่องโดยเฉพาะนักลงทุน คนที่จะมาค้าขายกับประเทศไทยทางฝั่งตะวันออกโครงการ EEC ก็ต้องการรู้ว่าคนเดิมยังจะอยู่อีกไหม ถ้าคนเดิมไม่อยู่แล้วนโยบายจะยังอยู่ไหมที่จะเปิดกว้างให้มาลงทุน กฎหมายหลายฉบับที่ออกไปแล้ว เช่นทำประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการต่างประเทศสมัยใหม่ ยังจะเดินหน้าไหมอย่างนี้เป็นต้น นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเหมือนเดิมไหม

นอกจากเรื่องตัวบุคคลซึ่งก็เป็นอีกประเด็นว่าอดีตทหารจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แบบอินโดนีเซียที่เคยมีอดีตทหารมาเล่นการเมืองตั้งนาน เกิดปฏิวัติรัฐประหารบ่อยแบบเกาหลีใต้เมื่อสมัยเด็กๆมีปฏิวัติรัฐประหารบ่อยแบบไต้หวันแบบละติน อเมริกาหลายประเทศและทหารก็เข้าสู่การเมือง เริ่มเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบเสรีนิยมมากขึ้นในประเทศไทยจะเป็นอย่างนั้นหรือไหม ก็คงจะจับตาดูประเด็นพวกนี้ด้วย

จะเกิดความขัดแย้ง อย่างภาพที่เคยเกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิตที่ล่มไป เมื่อหลาย 10 กว่าปีก่อน แล้วก็ภาพคุ้นตาใหม่ในการประชุมเอเปก 2022 ที่ผ่านมา ต่างประเทศก็อยากจะรู้ว่าเลือกตั้งจะเปลี่ยนอะไรกลับไปแบบเดิมหรือมันจะเดินหน้าต่อแบบนี้

-ในส่วนของนโยบายจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างเช่นซาอุดิอาระเบียหลายปีเลยทีเดียว ที่เราเพิ่งกลับมาสานความสัมพันธ์กันใหม่

ใช่ครับ เราก็ยกระดับความสัมพันธ์กับมาเลเซียอย่างที่เราเห็นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ บรรยากาศดีมากกับจีนก็ไม่ใช่ว่าไม่ดีนะครับดีพอสมควร ตัวบุคคลของเราสนิทกับผู้นำระดับสูงสุดที่เป็นกลุ่ม Politburo แล้วก็คุ้นเคยกันกับทางสหรัฐก็เป็นเพื่อนเก่า มีปัญหาระหองระแหง แต่ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว ส่วนในยุโรปก็จัดลำดับให้ไทย เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดีขึ้นเป็นต้น นอกจากดัชนีน่าเที่ยว น่าลงทุน ค่าใช้จ่ายถูก คนไทยน่ารักเป็นมิตรแล้ว ก็ยังมีดัชนีทางด้านการเมืองที่ดีขึ้น แต่ดัชนีทางด้านการแข่งขัน หรือว่าดัชนีน่าลงทุนจะยังไม่ดีมาก อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เขาจะสนใจว่ารัฐบาลใหม่มา น่าจะมีบรรยากาศดีกว่านี้หรือไม่ อย่างน้อยๆแบบเดิมก็ดีแต่แบบใหม่น่าจะดีขึ้นไหม จะเปลี่ยนไปเป็นคนที่มีการตอบรับจากนานาชาติมากขึ้นไหมอย่างนี้เป็นต้น

-การจัดการประชุมเอเปค 2022 ที่รัฐบาลจัดไปถือเป็นผลงานและสร้างเครดิตให้มากขึ้นหรือไม่ และนอกจากนี้ยังมีการเสนอแง่มุมการเมืองบนท้องถนนควบคู่ไปกับการประชุมเอเปค ด้วย

ที่จริงการประชุมนานาชาติปัจจุบันต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มต่างๆกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการค้าเสรีนิยมแบบสุดโต่ง โลกาภิวัตน์แบบไม่รักษ์โลกสิ่งแวดล้อม แล้วก็เรื่องเกี่ยวกับการใช้พลังงานแบบไม่สมดุล ไม่หมุนเวียน ไม่สีเขียว การบริโภคแบบสุดโต่ง ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้กับเขา แสดงจุดยืนก็มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็คงจัดเวทีแบบคู่ขนานจริงจังกว่านี้

ซึ่งเราก็เคยเริ่มจัดมาแล้วให้กับภาคประชาสังคมที่หัวหิน ที่ชะอำแต่การประชุมนานาชาติส่วนใหญ่จะเป็นการประชุมของรัฐบาลใช้ค่าใช้จ่ายเยอะมาตรการรักษาความปลอดภัยเยอะ ใช้คนเป็นพันเป็นหมื่น นำเอาผู้นำมาประชุมกันในสิ่งที่จริงๆตกลงกันไปแล้วแล้วก็มีคณะทำงานระดับรัฐมนตรีปลัดกระทรวงอธิบดีทำงานกันมาตลอดปี มาถึงผู้นำก็มาโบกมือสวยมายิ้มแย้มแจ่มใสแล้วก็จับไม้จับมือในบางกรณีในเอเชียใส่เสื้อแปลกๆจับไม้จับมือแปลกๆมีการไปเล่นกอล์ฟมีการไปทำอะไรร้องเพลงบรรยากาศชื่นมื่นเป็นมิตรก็ดี

แต่คนก็สงสัยว่าเขาได้อะไรในกระเป๋าบ้าง แล้วก็ทุนกลุ่มผูกขาด แก้ปัญหาอย่างไรในการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ทุกปี ในการประชุมดาวอสก็เหมือนกันผู้นำเศรษฐกิจเอกชนโลก คนก็ตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ผมก็เคยไป ก็มียักษ์ใหญ่ในด้านพลังงาน ไฟฟ้าทางด้านออนไลน์อินเทอร์เน็ตไปทุกปี แต่เดี๋ยวนี้คนตั้งคำถามเยอะมากว่าแล้วทำอะไรให้มันดีขึ้นหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ทำอะไร เขาก็จะมาชุมนุมมาประท้วงมาแสดงจุดยืนก็ต้องจัดเวทีให้เขา สองถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเชิญเข้ามาเลย ซึ่งประเทศไทย พยายามอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยๆก็จัดให้เรียบร้อยขึ้น

ภาพจำเก่าที่ว่าวุ่นวายมากการประชุมใหญ่ๆ นานาชาติต้องล่ม ต้องปิดกลางคัน มันลบยาก กว่าจะลบได้ต้องใช้การประชุมใหม่ๆอย่างเช่นที่เราเป็นประธานการประชุมอาเซียนเมื่อ 3-4 ปีก่อนแล้วจะต้องผลิตผลงานออกมาด้วย ส่วนการประชุมเอเปกเมื่อเร็วๆนี้ ก็เพื่อให้โลกได้มีภาพจำใหม่ ว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว เคยมีหลายเวทีที่เรามีโอกาส พิธีบรมราชาภิเษกอันนั้นก็เป็นหนึ่งงานซึ่งคนก็ดูกันพอสมควร

นอกจากงานสงกรานต์งานปีใหม่ของไทยฟูลมูนปาร์ตี้ต่างๆ ข้อดีก็เยอะ ข้อเสียก็มีในแง่ของงานรื่นเริงที่นักท่องเที่ยวเขาประสบกับปัญหาแต่ว่าโดยรวมทั้งหมด ตอนนี้ก็ถือว่าประเทศไทยถูกมองด้วยสายตาถูกจัดอันดับดีขึ้นเยอะ แล้วก็ทำที่น่าสนใจการเลือกตั้งถึงได้น่าสนใจตามขึ้นมาด้วย

-บอกได้หรือไม่ว่าการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพจำใหม่ให้ไทย แบบพลิกไปอีกด้านหนึ่งเลย

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามเรื่องเมืองไทยมากมาย คนที่ติดตามเรื่องเมืองไทยก็รู้สึกแล้วว่าหลายปีผ่านไปการชุมนุมก็ไม่ได้ดุเดือดเลือดตกยางออก หรือเสียชีวิตไปแบบในอดีต แต่ก็ยังมีอยู่ แล้วประเด็นก็เข้มข้นขึ้นไม่ได้น้อยลง แต่ว่ามีวิธีการเหมือนจัดการใหม่ๆภาพจำตรงนั้นก็ดีขึ้น การประชุมเรียบร้อยดี ไม่มีระเบิดศาลพระพรหม อย่างที่เคยเป็น นักท่องเที่ยวเสียชีวิต ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่มันเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่น่ากลัว แต่ว่าผลการประชุมได้อะไรบ้าง

ในการประชุมเอเปก เราได้ผลักดันประเด็นพลังงานหมุนเวียนพลังงานสีเขียว และเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศก็บอกว่า สามารถทำได้ เขายกประเด็นนี้ติดปาก ติดหูคน ติดตาคน ทั้งๆที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยก็ว่ากันว่าพื้นฐานยังไม่เข้มแข็งในเรื่องนี้ แต่ว่าก็ผลักดันได้ แล้วก็กลายเป็นประเด็นใหม่ พูดกันคึกคัก เขาบอกอันนี้เป็นความสำเร็จอีกขั้น ไม่ใช่ภาพจำเดิมว่าจัดได้เรียบร้อย แต่จัดแล้วมีสาระ

-การเลือกตั้งครั้งนี้ มองว่าจะเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองหรือว่าอะไรที่ทำให้เราได้ภาพใหม่ๆเป็นภาพจำใหม่บ้างหรือไม่

ในแง่ของการเปลี่ยนไปของผู้มาลงคะแนนคนรุ่นใหม่ๆที่มีการจัดระบบ มีการรองรับพรรคการเมืองใหม่ๆก็ถือว่าก็ดีกว่าหลายประเทศ ดัชนีของเราในภาพรวมดีขึ้นเยอะในช่วงปีที่ผ่านมาถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้นก็จะดูทรงๆอยู่ แต่การเปิดกว้างมากขึ้นให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมมากขึ้น มีการเปิดพื้นที่ของสื่อให้มีข้อจำกัดน้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ในภาพรวมบรรยากาศถือว่าไม่ได้แย่ไปกว่าหลายประเทศ แต่ก็ยังมีกฎเกณฑ์กติกาบางอย่างที่บางฝ่ายมองว่าไม่ค่อยเป็นธรรมไม่ค่อยที่จะเป็นไปตามสากลนิยมหรือว่าตะวันตกนิยมหรือว่าฝรั่งนิยม

หรือพูดง่ายๆว่าอเมริกานิยม อังกฤษนิยม ทั้งๆที่อเมริกัน อังกฤษ ดัชนีประชาธิปไตยตกรุ่นเลยย่ำแย่ ไปเยอะเปลี่ยนตัวรัฐบาลบ่อย รัฐมนตรีอังกฤษนี่จำกันไม่ได้แล้ว ของอเมริกันก็บุกเข้าไปในรัฐสภาอเมริกันเสียชีวิตด้วย ของเราบุกไปตั้งหลายรอบยังไม่เสียชีวิตในสภาเลย แล้วก็เป็นคดีความกันมาดำเนินคดีอดีตประธานาธิบดี ดังนั้นโดยทั่วไปก็ถือว่าเราก็ยังมีเรื่องต้องปรับปรุง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ทำให้เห็นปรากฏการณ์ของการมาสมัครเข้าไปสู่สนามการเลือกตั้งของอดีตทหารของคนรุ่นใหม่ของภาคประชาสังคมในหลายรูปแบบ

โดยภาพรวมก็ถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คึกคักพอสมควรแล้วก็มีพรรคการเมืองถือว่าไม่น้อยไม่ว่ากติกาอาจมองกันว่าเอื้อให้กับพรรคใหญ่มากกว่า แต่ก็ถือว่ามีตัวเลือกมากขึ้น อาจจะแบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม เสรีนิยม ประชาธิปไตย ให้เราได้คิดกันว่าจะเลือกอะไรแล้วก็มีระบบที่จะเลือกตัวบุคคลก็ได้เลือกพรรคการเมืองก็ได้ แล้วก็มีระบบคอยประคับประคอง อย่างเช่น ที่วุฒิสภาชั่วคราว ต่อไปก็อาจจะไม่มี จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ ในต่างประเทศก็ถือว่าซับซ้อนอยู่พอสมควร ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ซับซ้อนเหมือนบางประเทศที่มีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคะแนนแบบหลายรูปแบบที่เราเองก็ตาม

ตามลำดับที่เยอรมันที่นิวซีแลนด์ในอีกหลายประเทศ แต่เราก็มีระบบสัดส่วนที่ซับซ้อนไม่เบาต่างประเทศก็อาจจะไม่เข้าใจทั้งหมดแต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่าง่ายขึ้น ระบบสัดส่วนผสมต่างๆก็ง่ายขึ้นการคำนวณสูตร ส.ส.ที่มาจากพรรคการเมือง มาจากการลงคะแนนของประชาชนโดยตรงที่เลือกพรรคไม่ได้เลือกคนก็ดูน่าจะสนใจมากขึ้น

คาดว่าคราวนี้ความคึกคักน่าจะมีไม่น้อย แล้วก็จะทำให้ภาพรวมการเลือกตั้งของไทยเป็นที่น่าสนใจให้ต่างประเทศ ให้กับนักลงทุน ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในอดีต ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านเรา ซึ่งเขาก็จะเลือกตั้งเหมือนกัน หลายประเทศก็ยัง เป็นกังวลมากกว่าเรา

-ทำไมยังมีความกังวลของอดีตนายกรัฐมนตรี บางคนว่าไทยเราอาจจะกลับไปสู่การรัฐประหาร

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะว่าหลายท่านหลายคนที่เคยทำนายแล้วว่าจะไม่มีรัฐประหารแล้วก็กลับมาอีกในอดีตก็มี โดยถัวเฉลี่ยในสมัยก่อนอย่างที่ได้เรียน ก็สามปีกว่า ก็ถือว่ามีอายุไม่ยืนยาวเท่าไหร่แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนกับว่าสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป แต่กลุ่มพลังอำนาจทางการเมือง ที่เป็นกลุ่มพลังดั้งเดิมอย่างเช่นกลุ่มข้าราชการ กลุ่มฝ่ายทหาร-ตำรวจ กลุ่มทุนใหญ่ๆ ก็ยังมีพลังมาก

ภาคประชาชนมีพลังมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีพรรคการเมืองที่เขารักเขาชอบ อย่างคนในภาคใต้เอง ก็ยังมีพรรคการเมืองซึ่งมาจากพื้นฐานของคนภาคใต้จรงิๆ ทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา คนในพื้นที่ก็เข้มแข็งขึ้น เลือกตั้งคราวนี้ก็คาดกันว่าได้หลายที่นั่งอยู่แต่ก็ยังมาจากความกังวลว่ากลุ่มเดิมๆ พลังอนุรักษ์นิยม พลังที่เคยทำให้เกิดรัฐประหารก็ยังมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะน้อยลง แล้วก็ดูตัวบุคคลแล้วก็ไม่เหมือนเดิม

ก่อนที่จะรัฐประหาร บางทีเราเห็นตัวบุคคลชัดเจน เห็นผู้นำของเหล่าทัพ ซึ่งวันนี้ เราคงเห็นแล้วว่าเหล่าทัพหลายคน เปลี่ยนไปเยอะมีการปรับโครงสร้างในรูปแบบใหม่ มีการแยกส่วนงานของทหารและทหารอาชีพก็ไปด้านหนึ่ง ทหารที่รองรับภารกิจพิเศษก็จะไปในอีกกลุ่ม

สุดท้ายคือคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีทุกที่ ของมหาวิทยาลัยก็มี ของทหารก็ต้องมี คนรุ่นใหม่ในแวดวงทหารต่างๆก็คงคิดคนละอย่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นที่ท่านอดีตนายกฯหรือผู้ใหญ่บางท่านเป็นกังวลก็อาจจะมาจากพื้นฐานเก่า แต่ว่าถ้าใหม่ๆ ลงไปดูรายละเอียดลึกๆก็อาจจะเปลี่ยนไป

โดยเฉพาะยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะออกมาอย่างไร ผลจะเป็นแบบไหน จะมีกลไก มีเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต นั่นคือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่คนไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก

-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ใช่ครับ คนก็มองว่าเรื่องนี้มาจากคนที่อายุมาก คิดอะไรแปลก แต่จริงๆประเทศที่เขาบังคับวิถีให้เดินไปข้างหน้าอย่างสำเร็จเป็นประชาธิปไตยแบบเปลี่ยนผ่านที่ดีอย่างเช่นเกาหลีใต้ ไต้หวันแม้แต่สิงคโปร์ อังกฤษมาเลเซีย มียุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหมด แล้วก็บังคับวิถีให้ ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานของรัฐอย่างเดียวภาคเอกชนด้วยเดินไปด้วยกัน ของไทยเอง 20 ปีแล้วก็อยากจะออกจากกับดักที่เราเรียกว่ารายได้ปานกลาง ประชาชนไม่ได้มีเงินมากขึ้นเต็มที่สักที ถ้าบังคับวิถีให้ทุกคนไปในทางเดียวกัน ก็อาจจะประสบความสำเร็จ อย่างเช่นมาเลเซียกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่บังเอิญว่า มาเลเซียอาจจะลืมพัฒนาการเมืองทำให้กลับไปติดหล่มอีก แต่ด้านเศรษฐกิจเข้าไปเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกในโลกมุสลิม

เพราะว่าบังคับวิถี 10 ปีแรกยุทธศาสตร์ชาติเขาไม่ได้ผลเลยแต่ว่า 10 ปีที่ 2 เนี่ยทะยานไปข้างหน้าเลย ที่ไม่ได้ผลก็คือเขาเอาราชการไปคุมราชการ ตอนนี้ก็ดีขึ้นเยอะ แต่ก็ยังเป็นปัญหาอย่างเช่นเราอยากจะจัดระเบียบชายแดน จะจัดกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกับมาเลเซีย จะมีหน่วยงานประมาณ 20 กว่าหน่วยงานดูแลเรื่องภาคใต้ไม่มีกลุ่มงานความมั่นคงจริงๆ ท่านนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ไม่ต้องการ มาจัดตรงนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่

แต่ว่ายุทธศาสตร์ชาติ เราเริ่มเห็นว่าหน่วยงานเอาจริงเอาจัง มีตัวชี้วัด มีการควบคุมจำกัดการใช้เป็นการใช้จ่ายในภาพรวม ใน 6 ด้าน ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านสิ่งแวดล้อมด้าน การศึกษาเป็นต้นจะทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เริ่มเดินไปข้างหน้า เพราะว่าไม่มีตัวชี้วัดที่ต้องวัดอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าเขาจะขอผ่อนผันปรับตัวชี้วัดไปบ้าง แต่มีกลไกอันหนึ่งที่ไม่ค่อยได้ใช้คือประชาชนสามารถเข้ามาควบคุม เข้ามาใช้ยุทธศาสตร์ชาติในการบังคับวิถีให้กับท้องถิ่นตนเองให้กับพื้นที่ตัวเองได้ ถ้าไม่ได้ก็ฟ้องร้องก็ได้ โดยฟ้องร้องไปยังสภาไปยังคณะกรรมการป.ป.ช.ก็ได้ ว่าหน่วยงานราชการไม่ทำตามแผนชาติไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติไม่ทำตามแผนปฏิบัติการ

อันนี้เป็นครั้งแรกที่ทดลองใช้ รัฐบาลไหนมาก็คงจะต้องนำไปใช้แต่แก้ไขได้ปรับได้ การคาดเดาคาดการณ์ไปข้างหน้า 20 ปี ทำกันทุกประเทศอย่างประเทศจีนน่ะคาดการณ์ไปเป็น 100 ปีเลย เขาคาดการไป 100 ปี ว่าจะทำอะไร พอ 50 ปีเข้ามาถึง อย่างเช่น โครงการ 1 แถบ 1 เส้นทาง เขาเริ่มทำ 20 ปีหลังโครงการ 1 แถบ 1 เส้นทางเดินเต็มที่ เพราะฉะนั้นการวางแผนไม่ใช่ใกล้ ยาวๆก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่ว่าต้องมีแผนย่อยๆระยะสั้น 3 ปี ในกรณีของเราปรับทุก 3 ปี

ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติก็จะทำให้เราได้เครื่องมือในการบังคับให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าในทุกภาคส่วนโดยที่ไม่เป็นยึดติดกับตัวบุคคลรัฐบาลใหม่ พรรคการเมือง และบังคับสุดท้ายให้กับระบบราชการ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่มากในอดีต แต่ในปัจจุบันดีขึ้นเยอะแล้ว โดยบังคับให้ข้าราชการต้องรับผิดชอบ ถือว่าแตกต่างจากยุทธศาสตร์ชาติอื่น เพราะของไทยสามารถฟ้องร้องข้าราชการได้

-รัฐบาลหน้าที่จะมาหลังการเลือกตั้ง ควรจะมีทิศทางนโยบายด้านความมั่นคงกับต่างประเทศ อย่างไร และมีประเด็นอะไรที่จะต้องมีติดตามเป็นพิเศษ เพื่อนำเสนอต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ

ประเด็นแรกต้องรักษาสมดุลในการเป็นมิตรกับทุกประเทศแบบเดิม และใกล้ชิดกว่าเดิมให้ได้เพราะขณะนี้มิตรประเทศเราหลายประเทศกำลังต่อสู้ขัดแย้งกัน ซึ่งอาจจะเข้าสู่สงครามในอนาคตข้างหน้า ประเทศบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน ถึงแม้ว่าจะค้าขายกัน ตัวเลขค้าขายก็ดีขึ้นในปีนี้แต่ว่าในทางการเมืองการทหารเริ่มที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกันเผชิญหน้ากันเราต้องรักษาสมดุลอย่างไร เพื่อไม่ไปเข้าพวกไหนถ้าไม่จำเป็นจริงๆซึ่งต้องรอเวลา แต่ขณะเดียวกันไม่ใช่รอเฉยๆก็คงจะต้องไปคบหาสมาคมกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน รัสเซีย อินเดีย และอื่นๆเพื่อให้เราได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ต้องหาสมดุลต้องทำเพิ่มขึ้นในบางเรื่อง

และอาจจะต้องระมัดระวังในบางเรื่องที่สำคัญคืออย่าไปประกาศตัวเป็นศัตรูกับใครเพราะโดยหลักของความมั่นคงของไทย การต่างประเทศของไทย เราจะไม่มีศัตรูที่ต้องเผชิญหน้ากับเราแบบเข้มข้นเพราะจะเสียหายกับผลประโยชน์ของเรา เราคอยรักษาผลประโยชน์ของเรา ประคองตัวให้ดี หาสมดุลใหม่ ซึ่งจริงๆอยู่ในยุทธศาสตร์ของเราแล้ว อยู่ในการปฏิบัติของกระทรวงต่างประเทศ มีนโยบายเรื่องนี้ชัดเจนออกมาตั้งประมาณ 4-5 ปี

ที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปพูดที่สิงคโปร์ ว่าดุลยภาพใหม่ของเราที่จะต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า คือรักษาสมดุลแล้วก็เป็นกลางๆ แต่ไม่ใช่ 50:50 บางเรื่องเราอาจจะเข้าไปร่วม 70- 80% บางเรื่องอาจจะต้องเหลือ 40-30% แต่รวมๆกันแล้วได้ดุลยภาพแล้วก็ทำให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศไทย

ความมั่นคงของไทยเป็นความมั่นคงเดิมที่ต้องหาสมดุลร่วมกับความมั่นคงใหม่ที่มีภัยคุกคามสมัยใหม่เรื่องโลกไซเบอร์ออนไลน์เรื่องการค้ามนุษย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องพลังงานทางเลือกสิ่งแวดล้อมปีนี้ก็จะหนักอีกต้องหาสมดุลใหม่ แล้วก็เพิ่มบทบาท เพิ่มนโยบายเรื่องความมั่นคงทางด้านนี้ไปด้วย สุดท้ายจะทำได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ที่ได้กล่าวมา ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคการต่างประเทศ เปิดให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นคงแบบยั่งยืนมากขึ้น