รู้จักนักเขียนสาวมุสลิม’ณัฐณรา’ผู้สรรค์สร้าง’มาตาลดา’ จนเป็นละครฮิตของช่อง 3

9008

กลายเป็นละครช่อง 3 ที่เรตติ้งพุ่งกระฉูด ‘มาตาลดา’ ประพันธ์โดย ‘ณัฐณรา’ หรือกิ่ง-ชลธิดา ยาโนยะ สาวมุสลิมคุณแม่ลูกจากแม่สอด Mtoday จะพาไปรู้จักมาตาลดา และ กิ่ง-ชลธิดา กันให้ถึงแก่น

มาตาลดา เป็นเรื่องของหญิงสาวแสนซื่อ และมองโลกในแง่ดี แม้ในโลกนี้จะเต็มไปด้วยความโหดร้าย แต่ยังมีเธอที่มองโลกในแง่ดี เต็มไปด้วยพลังของความใจดีจนใครหลายคนคิดว่าเธอเพี้ยน กับคุณหมอปุริม ผู้ที่สังคมมองว่าแสนเพียบพร้อม ทั้งที่ความจริงแล้วเขาอาจขาดมากกว่าใครหลาย ๆ คน เธอและเขาได้มาพบกันและต่างก็เข้ามาเติมเต็มหัวใจของกันและกัน ระหว่างทางของทั้งคู่ ได้บอกเรื่องราวไว้มากมายหลากหลายแง่มุม แง่คิดสอนใจ จนมัดใจคนดูจนติดกันงอมแงม เป็นละครไทยน้ำดีถูกพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ละครที่มีเนื้อหาที่แฝงแนวคิดและเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นหัวใจ ขึ้นแท่นละครในดวงใจโดย EP.11 ทำลายสถิติเรตติ้ง Bangkok ถึง 7.13 เรตติ้ง 15+ BU ทำได้ 5.62 และเรตติ้ง Nationwide อยู่ที่ 3.28 ทั้งยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยอีกด้วย

กิ่ง-ชลธิดา พูดถึงนิยายมาตาลดาว่า เมื่อประมาณ 8-10 ปีก่อน ได้รับโอกาสจาก บ.ก. ท่านหนึ่ง คือ พี่โป่ง-การบูร สุขวิไลธารา จากความตั้งใจที่จะเขียนนิยายเอาไว้ให้ลูกสาวในวัยกำลังโตได้อ่าน เพื่อถ่ายทอดคำสอนให้กับเขา เนื่องจากบางครั้งสิ่งที่แม่อยากจะสอนลูกไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ เราต้องคิดหากุศโลบายที่จะส่งสารของเราให้กับลูก นี่จึงเป็นต้นกำเนิดของนิยายเรื่องมาตาลดา

โดยสิ่งที่กิ่ง-ชลธิดา ต้องการจะสอนลูกมีหลายเรื่อง ตั้งแต่ การตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอก การอยู่ร่วมกันกับคนอื่น การใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข และการคาดหวังและการรับมือกับความผิดหวัง

‘ตอนนั้นเขายังเด็ก เราไม่สามารถจะสอนเขาได้ แล้วเราก็รู้ว่าถ้าเขาโตขึ้น เราอาจไม่มีเวลามากพอที่จะสอนเขา และอาจจะลืมความรู้สึกที่อยากสอนเขาในเรื่องนี้ไปแล้ว ดังนั้นจึงดีกว่าหากมีการบันทึกไว้เป็นนามธรรมส่งต่อให้เขา’ กิ่งกล่าวกับประชาชาติธุรกิจ

สำหรับตัวละครที่มี LGBTQ+ กิ่ง ให้คำตอบว่า การให้ตัวละคร พ่อเกริกพล หรือพ่อเกรซ เป็น LGBTQ+ เพราะคนที่เป็นเพศทางเลือกมักถูกตัดสินว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ทันที ซึ่งแตกต่างจากหญิงหรือชายเเท้ ที่ไม่ถูกตีค่าและตัดสินใจว่าเป็นคนอย่างไรตั้งแต่แรกเห็น คุณกิ่งจึงสร้างพ่อของมาตาลดาให้เป็นเพศทางเลือก เพราะง่ายต่อการยกเป็นตัวอย่างที่สุด

แม้ตัวคุณกิ่งเองจะไม่ค่อยได้คลุกคลีกับเพศทางเลือก เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีโอกาสได้รู้จักกับคนที่เป็น LGBTQ+ อยู่บ้าง ซึ่งก็พบว่าเขาเป็นคนที่น่ารัก นิสัยดี และประกอบอาชีพสุจริต ดังนั้นคุณกิ่งจึงอยากจะสอนลูกว่าอย่ามองคนที่รูปลักษณ์ภายนอก อย่าด่วนตัดสินใจโดยที่เรายังรู้จักเขาไม่ดีพอ เพราะบางคนต่อให้รู้จักกันมา 10 ปี เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลึก ๆ แล้วเขาเป็นคนยังไง เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขา 24 ชั่วโมง เราเห็นแต่สิ่งที่เขาต้องการให้เราเห็น เราไม่ได้เห็นตัวตนที่แท้งจริงของเขา

‘ตัวเองผ่านการใช้ชีวิตมาแล้ว 2 สถานะ คือเคยเป็นลูกมาก่อน เคยอยู่ในกรอบและเเบกรับความหวังของพ่อเเม่ไว้บนบ่า และตอนนี้มีสถานะเป็นแม่คน ก็มีกรอบและคาดหวังในตัวลูกเช่นกัน จึงกลัวว่าวันหนึ่งเราจะเป็นพ่อเเม่ที่ใช้ชีวิตผ่านชีวิตลูก หรือเอาความหวังไปวางไว้บนตัวเขา และเขาจะไม่มีความสุขกับชีวิตของเขา
ลูกไม่ใช่ถ้วยรางวัล พ่อแม่บางคนในวัยเด็กขาดเเคลนบางสิ่งบางอย่าง หรืออยากได้อะไรแล้วไม่ได้ จึงเลือกชดเชยสิ่งเหล่านั้นผ่านชีวิตของลูก อย่างเช่น บางคนอยากเป็นดารา อยากเป็นนางแบบ เมื่อมีลูกก็ส่งเสริมลูก พยายามพาลูกไปสมัครที่นั่นที่นี่ โดยที่บางทีเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่ได้รู้หรอกว่าเขาอยากเป็นและอยากทำไหม’ กิ่ง-ชลธิดา กล่าว

กิ่ง-ชลธิดา ได้สร้างตัวละครมาตาลดา ที่มีถึงอุปนิสัยของหญิงสาวที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มองโลกในแง่ดี พร้อมมอบพลังบวกให้แก่คนรอบข้าง ซึ่งคนแบบมาตาลดา ข้อดีคือไม่นำความทุกข์ของตัวเองไปโยนใส่คนอื่น ไม่ toxic ใส่คนอื่น และไม่จมอยู่กับความทุกข์นาน

นอกจากนี้ คนอย่างมาตาลดาไม่มีพิษมีภัยกับใคร หากใครได้เป็นเพื่อนก็คงจะมีความสุขตามไปด้วย เพราะเขาเป็นคนยิ้มง่าย ไม่เครียด เรามีงานมีอะไรให้เครียดในชีวิตกันเยอะแล้ว เรามีเพื่อนดี ๆ แบบนี้สักคนหนึ่งเอาไว้เรียกรอยยิ้มเรา คงจะมีความสุข

ปัจจุบันคนเราเวลาเครียดกับงาน เวลาเจอปัญหาอะไร มักจะจมอยู่กับปัญหานััน สุดท้ายเมื่อความเครียดถูกสะสมมาก ๆ ทำให้บางคนเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากเราเอาเวลาที่นั่งเครียดแล้วร้องไห้เสียใจมาคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ข้ามผ่านไปได้ จะมีประโยชน์กว่า

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการมองโลกในแง่ดีมากเกินไปก็เป็นดาบสองคม เนื่องจากเรามองทุกสิ่งรอบตัวเป็นบวกไปเสียหมด จนทำให้เราไม่ทันระวังภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะความเป็นจริงโลกไม่ได้สวยอย่างที่หลายคนวาดฝัน

คุณกิ่งกล่าวว่า เห็นด้วยว่าการมองโลกในเเง่บวกจนเกินไปอาจนำมาซึ่งอันตราย เเต่มาตาลดาทั้งในนิยายและในละครไม่ได้เป็นสาวโลกสวยอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ขนาดนั้น มาตาลดาเป็นเด็กที่แบกรับปัญหาครอบครัวมาตั้งแต่เล็ก เห็นพ่อถูกตีถูกไล่ออกจากครอบครัว รับรู้ถึงการใช้ความรุนแรง

ชีวิตของมาตาลดาหนักหน่วงกว่าชีวิตของเด็กหลายคน เพียงแต่พ่อเกรซเรียนจิตวิทยาเด็กตามที่ละครนำเสนอ จึงสามารถดูแลลูกให้เติบโตมาเป็น นางสาวมาตาลดาที่จิตใจดี

ทั้งนี้ ในนิยายจะมีอยู่วลีหนึ่งที่พ่อพูดกับลูกว่า “เลี้ยงลูกมาภายใต้ปีกที่ปกป้องและคุ้มครอง และกลัวว่าลูกจะไม่รู้ว่าโลกที่อยู่ภายใต้ปีกของพ่อจะเป็นอย่างไร”

การใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กสำคัญอย่างยิ่ง ปัจจุบันจะเห็นว่ามีจิตแพทย์เด็กจำนวนมาก และมีหลายครอบครัวที่พาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เพราะอะไรเด็กต้องไปพบจิตแพทย์ตั้งแต่อายุยังน้อย ?

ตัวละคร อย่างเป็นหนึ่ง จะมีปมเรื่องที่พ่อคาดหวังในตัวเขา ตีกรอบชีวิตไว้มากเกินไปจนไม่สามารถหลุดจากกรอบนั้นได้ แม้เป็นหนึ่งจะประสบความสำเร็จจริงอย่างที่พ่อคาดหวัง แต่เขากลับไม่มีความสุขเลย

“มาตาลดาปัญหาจะไม่เกิดขึ้นเลย หากพ่อแม่ไม่นำสิ่งที่ตัวเองได้รับถ่ายทอดผ่านลูก เหมือนที่ตอนต้นของเกริกพลได้พูดไว้ว่า ‘ลูกไม่ใช่ถังขยะ และลูกก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแทนเราได้’ คือคุณถูกพ่อบีบคั้นกดดันมา คุณถูกพ่อเปรียบเทียบมา คุณถูกครอบครัวคาดหวัง หรือให้แข่งขันกับใคร แล้วสุดท้ายคุณเลือกมาลงกับลูกเช่นกัน ก็ไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก

หากเราตัดวงจรได้ กล่าวคือ สมมุติว่าปู่ทำแบบนี้กับคุณพ่อ คุณพ่อทำแบบนี้กับเรา แล้วเราตัดวงจรนั้นโดยการที่ไม่ทำกับลูกต่อไป ไม่โยนภาระตั้งความหวังให้กับเด็ก และเลี้ยงดูเขาให้มีความสุข ให้เขาเรียนในสิ่งที่เขารัก ให้เขาใช้ชีวิตอย่างที่เขาอยากเป็น เราดูแล ห่วงใย เอาใจใส่ได้ แต่ต้องไม่ใช้กรอบที่แคบจนเขาขยับตัวไม่ได้” คุณกิ่งกล่าว

อีกหนึ่งตัวละครที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียไม่แพ้กันคือ คุณแพง หรือ อรุณรัศมี ที่มีการถกเถียงว่าเธอเป็นเฟมินิสต์จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เฟมทวิต หรือ pick me girl

หลังจากละครเรื่องมาตาลดาออกอากาศเป็นที่เรียบร้อย นอกจากจะได้รับคำชมทั้งในเรื่องของตัวบทที่สร้างสรรค์สังคม แฝงแง่คิดที่ดีซึ่งผู้ชมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ความน่ารักอบอุ่นหัวใจในความสัมพันธ์ของมาตาลดากับเป็นหนึ่ง รวมถึงความสามารถทางการแสดงของนักแสดงแต่ละท่าน

อีกหนึ่งคำชมที่ส่งตรงถึงผู้เขียนคือ ประโยคที่ผู้ชม และผู้อ่านกล่าวว่า “คนเขียนนิยายจะต้องเป็นแม่ที่ดีอย่างแน่นอน”

คุณกิ่งตอบประเด็นนี้ว่า เราเองไม่ได้เป็นแม่ที่ดีเหมือนพ่อเกรซหรอก เวลาลูก ๆ ทะเลาะกันก็ยังอยากจะหยุมทั้งคู่อยู่เลย ไม่ได้ใช้จิตวิทยาเด็กในการสอนเลย ก็ยังมีความโกรธ มีความโมโห มีความวีนอยู่

เราไม่สามารถสอนพ่อแม่คนอื่น ๆ ได้ว่าควรเลี้ยงลูกอย่างไร เพราะบริบทสังคมและบริบทของแต่ละครอบครัวต่างกัน ฐานะ อาชีพ เป็นสิ่งสำคัญที่จะเอื้อให้ครอบครัวนั้นดูแลลูกอย่างไร

หลังจากมาตาลดาถูกนำไปสร้างเป็นละครและออกอกาศไปเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้รับคำชมจากแฟนละครจำนวนมาก ทำเอานักแสดง ผู้กำกับ และทีมงานหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เจ้าของบทประพันธ์เองก็เช่นกัน โดยคุณกิ่งเผยความรู้สึกว่า ต้องใช้คำว่าตะลึงเลยทีเดียว เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด ไม่คาดฝัน

“ตอนแรกแค่คิดว่าได้ทำละคร ได้เห็นตัวละครออกมาโลดแล่น เราก็ดีใจมากแล้ว แต่พอเราเห็นเสียงชื่นชมในโซเชียล ทั้งทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก ก็ปลาบปลื้มใจ ต้องขอยกความดีความชอบให้กับผู้จัด คุณจ๋า ยศสินี และทีมเขียนบท เพราะบางไดอะล็อกมาจากทีมผู้เขียนบท ไม่ได้มาจากหนังสือ มีการปรับ มีการใส่มุมมองที่ดีเข้าไป เนื่องจากในนิยายเขียนขึ้นเมื่อ 8-10 ปีที่แล้ว จึงยังมีความเชยอยู่ เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนไป คำพูดบางคำพูด คำสอนบางคำสอน มาจากทีมผู้เขียนบทเขียน” กิ่ง-ชลธิดา กล่าวถึงความปราบปลื้ทในละครที่ได้รับความนิยม

ได้ดูละคร มาตาลดาแล้ว หลายคนอยากรู้จัก กิ่ง-ชลธิดา ยาโนยะ เป็นใครมาจากไหนถึงได้ประพันธ์เรื่องราวได้น่าสนใจ

กิ่ง-ชลธิดา ยาโนยะ เป็นสาวมุสลิมเกิดที่แม่สอด จ.ตาก พ่อ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ชื่อ สงกรานต์ ยาโนยะ เป็นโรงเรียนเล็กๆ ริมชายแดนแม่สอด แม่ชื่อ นาง ปทุม ยาโนยะ มีพี่น้อง 3 คน น้องสาวสองคนคือ ชฎาภา และ ชนิดา สถานภาพแต่งงานแล้วกับสามี ณรงค์ เองชวเดชากุล มีลูก 3 คน หลังเรียนจบ เธอเคยรับราชการเป็นครูปฐมวัย ทำงานใต้สังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต่อมาได้ลาออก ตอนเป็นครูก็ได้เขียนนิยายควบคู่ไปด้วย แต่เกิดประเด็นเพื่อนร่วมงานแอบแทงข้างหลัง เลยตัดสินใจลาออก เป็นนักเขียนนิยายอิสระ

กิ่ง-ชลธิดา บอกว่า ชีวิตของเธอผูกติดกับนิยายมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่เลยก็ว่าได้ เพราะคุณแม่และคุณพ่อเป็นนักอ่านตัวยง ทั้งสองท่านชอบอ่านหนังสือ ตอนคุณแม่ท้องกิ่ง ได้เล่าให้ฟังว่าสามารถนอนอ่านนิยายเช่าจากร้านแถวบ้านจนหมดทั้งร้านเลย ส่วนกิ่งเองโตมาพออ่านออกเขียนได้ ก็รักการอ่านเช่นกัน และบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าพ่อและแม่เป็นแรงบันดาลใจให้กิ่งเขียนนิยาย

‘ มันเริ่มจากการที่เราถูกปลูกฝังมาแต่เล็กแต่น้อย ภาพที่เห็นชินตาคือ หนังสือเล่มหนาๆ กองซ้อนกันเป็นตั้ง ก็เคยคิดสงสัยนะว่า เฮ้ย… ทำไมพ่อกับแม่สามารถนั่งอดทนอ่านได้เป็นวันๆ ไม่เบื่อนะ (ตอนนั้นคุณพ่ออ่านเพชรพระอุมา) พอโตมาหน่อย ก็เริ่มหยิบมาอ่านบ้าง และเริ่มเขียนนิยายตอนอยู่ประถมสี่ แอบฉีกสมุดเรียนตรงหน้ากลางมาเขียน เขียนแล้วก็ซ่อนไว้ พอแม่ทำความสะอาดห้องเจอเศษกระดาษ ก็โดนตีตามระเบียบ ยังจำได้ว่า นางร้ายคนแรกของกิ่งชื่อว่า อรุณวดี และต้องทาลิปสติกสีแดงด้วยนะ พอโตขึ้นหน่อย นิยายเรื่องแรกที่อ่านและยังประทับใจไม่รู้เลือนคือ ปุลากง ของคุณ โสภาค สุวรรณ หลงรักตัวละครทุกตัวในเล่มนั้น ท่านเลยเป็นนักเขียนในดวงใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้’ เธอ กล่าว

พอแต่งงานมีครอบครัว ก็ห่างการอ่านนิยายไป จนช่วงลาคลอดลูกชายคนเล็ก อยู่บ้านแล้วว่างก็หันมาอ่านนิยายอีกครั้ง โดยไล่หาอ่านจากเว็บเด็กดี แล้วก็เกิดความรู้สึกอยากลองเขียนบ้าง นิยายเรื่องแรกที่ลงมือเขียนคือ ‘รักร้ายในกรุงโรม’ เป็นนิยายโรมานซ์ที่ร้อนแรงมากๆ จนทุกวันนี้ กลับมาอ่านยังคิดว่า เฮ้ยยย… แต่งได้ยังไงกัน เรื่องที่สองพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือคือ ปั้นหยาที่รัก เป็นนิยายแนวสีขาว

กิ่ง เขียนนิยายลงในเว็บเด็กดีแล้วมีบ.กของทางสำนักพิมพ์อินเลิฟติดต่อมา หลังจากนั้นก็ส่งงานให้กับทางสำนักพิมพ์มาเรื่อยๆ ผลตอบรับงานสองเรื่องแรกค่อนข้างดี คนอ่านมักจะตกใจเมื่อทราบว่าคนเขียนทั้งสองเรื่องเป็นคนๆ เดียวกัน เพราะนิยายทั้งสองเรื่องฉีกแนวไปจากกันมากๆ

สำหรับผลงานของกิ่ง-ชลธิดามีมากถึง 30 เรื่องค่ะ ส่วนใหญ่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์อินเลิฟ ในนามปากกา ณัฐณรา มีเรื่อง ปั้นหยาที่รัก / ตรวนรักสีน้ำผึ้ง / รักร้ายในกรุงโรม / อาญาปรารถนา / ดาหลาสีดำ / มายาบุหลัน / บ่วงปรารถนามาเฟีย / กลรักตรวนหัวใจ / นางบำเรอสัญญาทาส / พันธะรักดวงใจเถื่อน / นางบำเรอยกระดับ / เจ้าสาวสัญญาเถื่อน / เจ้าบ่าวเสน่หาเถื่อน / ทดสอบรักข้ามคืน / ต้านสัมผัสปรารถนาร้าย / กับดักรักพันเล่ห์ / หวามรักจอมเผด็จการ / ยอมแล้วทูนหัวอยากมีคนข้างตัวเป็นคุณ / กรงรักตรวนน้ำผึ้ง / นกน้อยในกรงไม้ / กลรักแก้วกัลยา / มหาเศรษฐีตีราคารัก / แผนรักการะบุหนิง

สำหรับนามปากกา’ณัฐณรา’ มาจากชื่อของลูกสาวสองคนผสมกัน ไม่ได้มีาหลักโฉลกอะไร ณัฐ มาจากณัฐธิดา ส่วน ณรา มาจาก ณรธิดา ตัดมารวมกันเป็น’ณัฐณรา’

นามปากกา ชลธิดา สำนักพิมพ์ไลต์ออฟเลิฟ เรื่อง สเน่หา ณ ผืนทราย ปี 2557 ส่วนนามปากกา Blue Ribbon อ้อนรักป๊ะป๋ากำมะลอ / รักร้ายเจ้านายของฉัน / ร้อนรักสามีวายร้าย และนามปากกา อลัญชนา เรื่อง คู่นอนขาประจำเจ้าพ่อ / เซ็นสัญญาวิวาห์จอมบงการ / ต้านเสน่ห์เจ้านายซาตาน งานเขียนที่ถนัดคือ แนวโรมานซ์ร้อนแรง และแนวสีขาว อ่านหวานๆ ไร้เลิฟซีน เน้นความน่ารัก

ทำไมสามปีถึงสามารถเขียนนิยายออกมา 30 เรื่องได้ เธอ บอกว่า เป็นคนชอบเอาชนะ โดยเฉพาะชนะตัวเองและคำดูถูกของคนอื่น เป็นคนไม่สนใจคนอื่นที่ไม่หวังดีกับเรา คำนินทาของคนที่เกลียดเราไม่มีค่าเท่าคำชมเชยของคนที่รักเรา และเป็นคนมีวินัยในการทำงานมาก เคยทำสถิติ แต่งนิยายสองเรื่องในเดือนเดียว 150 เอสี่ กับ 100 เอสี่ แต่ว่าแทบตายเหมือนกัน

ดูมาตาลดา และรับรู้ประวัติของ ผู้เขียนแล้ว ต้องบอกว่า อึ้งในความสามารถที่สามารถสร้างสรรค์นิยายออกมาได้มากมายและเป็นที่นิยม

ขอบคุณข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ-hilightdd.com