ทส.ผนึกกำลังทวงคืนผืนป่าเกาะพะงัน พร้อมสร้างเครื่อข่ายอนุรักษ์

61

วันที่ 7 พฤษภาคม นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงกรณีการบุกรุกป่าบนเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่ามีกลุ่มนายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และแนวเขตที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ เพื่อเข้าจับจองที่ดินบนเกาะพะงัน ในการใช้ทำที่พักให้นักท่องเที่ยวและตัดไม้ส่งขาย จนเกิดปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อครอบครองที่ดินโดยมิชอบ และการปลูกโฮมสเตย์รุกล้ำแนวเขตทะเล ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแล้วพบว่าพื้นที่บนเกาะพะงัน จำนวน 105,000 ไร่ ส่วนหนึ่งประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะพะงัน เนื้อที่ 24,450 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ถาวร เนื้อที่ 2,727 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน โดยมีเนื้อที่ทางบกและทางทะเล รวมเนื้อที่ 26,895 ไร่

นายชลธิศกล่าวว่า ในส่วนของกรมป่าไม้ได้มีสั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร ประสานงานร่วมกันในการปฏิบัติงาน โดยปฏิบัติการร่วมกันกับชุดปฏิบัติการพิเศษพญาเสือ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าไม้บนเกาะพะงัน ทั้งนี้ ผลจากการปฏิบัติการดังกล่าวสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าไม้ จำนวน 9 คดี รวมเนื้อที่กว่า 393 ไร่ และคดีลักลอบทำไม้อีก 1 คดี มีปริมาตรของไม้ 0.69 ลบ.ม. และนอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ลักลอบทำไม้ในเขตพื้นที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเตรียมการ ธารเสด็จ-เกาะพะงัน จำนวน 3 คดี ตรวจยึดไม้ท่อน 10 ท่อน ไม้แปรรูป 116 แผ่น มีปริมาตร 43.18 ลบ.ม โดยทั้งนี้จะได้ขยายผลถึงกลุ่มนายทุนผู้กระทำผิดที่บุกรุกพื้นที่และการลักลอบทำไม้มีค่ามาดำเนินคดีต่อไป

อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวอีกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เล็งเห็นถึงการแก้ไขการบุกรุกพื้นที่ป่า จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) โดยมีกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดแผนปฏิบัติการการป้องกันขบวนการลักลอบทำไม้ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน โดยจะเพิ่มฐานปฏิบัติการทางยุทธวิธี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันรักษาป่าให้มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างแนวร่วมสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของกลุ่มพี่น้องชาวบ้านบนเกาะ โดยการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนบนพื้นที่เกาะถึงข้อกฎหมายในการบุกรุกพื้นที่ป่า และเป็นการสร้างกระแสร่วมกันต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดตั้งเครือข่าย

Cr. Matichon