ควรตีตรา “บีอาร์เอ็น” เป็นองค์กรก่อการร้าย…ได้แล้วหรือยัง?

587

เหตุคาร์บอมบ์ห้างบิ๊กซี ปัตตานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 80 คน ซึ่งมีเด็กและผู้หญิงเป็นจำนวนมาก นับเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบอีกครั้งหนึ่งที่ผู้ก่อการถูกประณามจากทุกฝ่าย ทั้งคนในพื้นที่ นอกพื้นที่ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ 

          ที่น่าสนใจคือแถลงการณ์ประณามของ “ฮิวแมนไรท์วอทช์” องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่มีบทบาทสูงมากในปัจจุบัน เพราะมีเนื้อหารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยย้ำว่าการก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้า โดยมีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าหมาย ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาจเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามกติการะหว่างประเทศ
          แถลงการณ์ยังย้ำว่า นับแต่มีการโจมตีด้วยอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังเดือนมกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบจากกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้กระทำการที่ละเมิดกฎหมายสงครามหลายครั้ง ในบรรดาผู้เสียชีวิตกว่า 6,800 คนในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ประมาณ 90% ของคนเหล่านี้เป็นพลเรือนทั้งที่เป็นชาวไทยพุทธ และชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู
          ทั้งๆ ที่ “กฎหมายสงคราม” หรือที่เรียกว่า “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” ห้ามการโจมตีต่อพลเรือน หรือการโจมตีโดยไม่แยกแยะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับพลเรือน ข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ว่าการโจมตีต่อพลเรือนชอบด้วยกฎหมาย เพราะพลเรือนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพุทธไทย หรือเป็นเพราะกฎหมายอิสลามที่พวกเขาตีความ อนุญาตให้กระทำการโจมตีดังกล่าวได้ ข้ออ้างเช่นนี้ไม่ชอบธรรมตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
          จากแถลงการณ์แบบชัดๆ ของฮิวแมนไรท์วอทช์ ทำให้เกิดคำถามในแวดวงคนทำงานด้านความมั่นคงว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่ประกาศให้กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย เพราะการกระทำของบีอาร์เอ็นเข้าข่าย “การก่อการร้าย” อย่างชัดเจน
          ที่ผ่านมารัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคงพยายามลดระดับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นเพียงเรื่องของ “การก่อความไม่สงบ” โดยใช้ช่วงต้นๆ ของเหตุการณ์ ราวปี 2547-2550 ใช้คำเรียกผู้ก่อเหตุว่าเป็น “ผู้ก่อความไม่สงบ” จากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้คำเรียกที่ลดทอนความสำคัญลงไปอีกว่า “ผู้ก่อเหตุรุนแรง” ใช้ตัวย่อว่า “ผกร.” ทั้งๆ ที่ก่อนปี 2547 ฝ่ายความมั่นคงไทยเรียกขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “ขบวนการโจรก่อการร้าย” หรือ ขจก.
          สาเหตุสำคัญเป็นเพราะรัฐบาลไทยทุกชุดมีนโยบายให้ปัญหาชายแดนใต้เป็น “ปัญหาภายใน” ไม่ต้องการให้ประเทศอื่น หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง

          แต่ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางหน่วยระบุว่า แม้รัฐบาลจะไม่ประกาศให้ “บีอาร์เอ็น” หรือผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” แต่ก็มีหน่วยงานความมั่นคงของประเทศต่างๆ เช่น ซีไอเอ จากสหรัฐอเมริกา หน่วยข่าวกรองของออสเตรเลีย หรือแม้แต่หน่วยงานความมั่นคงในชาติอาเซียน ขอเข้ามาสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ชายแดนใต้ของไทยตลอดอยู่แล้ว
          ที่สำคัญประเทศอย่างจีนและรัสเซีย ก็ประกาศให้กลุ่มกบฏในประเทศของตนเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ทั้งอุยกูร์ และเชชเนีย ซึ่งเมื่อประกาศแล้วก็ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากองค์กรระหว่างประเทศแต่อย่างใด

          ฉะนั้นหากรัฐบาลเสนอให้ “บีอาร์เอ็น” หรือผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “ผู้ก่อการร้ายสากล” ซึ่งต้องได้รับการประกาศรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะส่งผลดีหลายประการกับการแก้ไขปัญหา เช่น รัฐบาลมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต้องให้ความร่วมมือกับไทยในการไม่ให้ที่พักพิงกับสมาชิกของบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าสมาชิกของขบวนการเหล่านี้หลบซ่อนตัวอยู่ใน 2 ประเทศนี้เป็นจำนวนมาก
          ขณะที่รัฐบาลไทยจะได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศในการกดดันบีอาร์เอ็นให้เคลื่อนไหวยากขึ้น และผลอีกด้านที่จะเกิดตามมาทันทีก็คือ การพูดคุยเจรจากับกลุ่มคนเหล่านี้จะกระทำไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

          หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่แกนนำบีอาร์เอ็นเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพกับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 ก็ได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และหนึ่งในนั้นคือห้ามเรียกบีอาร์เอ็นว่าเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” แต่ให้ใช้คำว่า “ผู้ปลดปล่อยปาตานี” แทน สะท้อนว่าบีอาร์เอ็นเองก็กลัวว่าพวกตนจะถูกหมายหัวให้เป็น “ผู้ก่อการร้าย” อ้นจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือขอความช่วยเหลือจากนานาประเทศได้อีกต่อไป
          ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ค.ศ.1999 และได้ตรากฎหมายภายในคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เมื่อปี 2559 ซึ่งต่อยอดมาจากกฎหมายเดิมเมื่อปี 2556 นอกเหนือจากการเพิ่มฐานความผิด “ก่อการร้าย” เข้าไปในประมวลกฎหมายอาญาเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น
          ภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ และอนุสัญญาสหประชาชาติฯในเรื่องเดียวกัน รัฐบาลไทยโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ต้องประกาศรายชื่อ “บุคคลที่ถูกกำหนด” ซึ่งเป็นผู้ก่อการร้ายสากลตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศ ผลของการเป็น “บุคคลที่ถูกกำหนด” คือจะถูกยึดอายัดทรัพย์ และระงับการทำธุรกรรม ตลอดจนการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของคนเหล่านี้และผู้เกี่ยวข้องทุกกรณี
          ที่น่าสนใจคือ นอกจาก “บุคคลที่ถูกกำหนด” ตามบัญชีของยูเอ็น ซึ่งก็คือผู้ก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ เช่น อัลไกด้า ตาลีบัน แล้ว ยังมีบัญชี “บุคคลที่ถูกกำหนด” ของไทย หรือที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ลิสต์” ซึ่ง ปปง.ประกาศไปแล้ว 95 คน ในจำนวนนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้งสิ้น

          นั่นย่อมหมายความว่า รัฐบาลไทยก็ยอมรับอยู่กลายๆ ว่า ผู้ก่อความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน ไม่ว่าจะสังกัดองค์กร “บีอาร์เอ็น” หรือองค์กรอื่นใดก็ตาม ถือเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯอยู่แล้ว
          คำถามก็คือจะช้าอยู่ใยที่จะเสนอขึ้นบัญชีให้บีอาร์เอ็นเป็น “องค์กรก่อการร้าย” เพื่อใช้เขี้ยวเล็บของกฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศจัดการกับขบวนการนี้ ไม่ให้ก่อเหตุรุนแรงคร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้หญิง และผู้บริสุทธิ์ทุกเพศทุกวัย ทั้งๆ ที่จำนวนไม่น้อยก็มีถิ่นกำเนิดและนับถือศาสนาเดียวกับพวกเขาเอง

ขอบคุณ : กราฟฟิกทั้งหมดจากสถานีโทรทัศน์ cr:สำนักข่าวอิศรา