ปฏิวัติฮัจย์ไทย ลบคราบน้ำตาฮุจยาต(ยังไม่สำเร็จ)

370

ปฏิวัติฮัจย์ไทย ลบคราบน้ำตาฮุจยาต


การบริหารจัดการ “ฮัจย์ไทย” ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิเสธไม่ได้ว่าขึ้นอยู่กับการทำงานของ “แซะ” หรือผู้นำฮัจย์ที่ชักชวนคนมาทำฮัจย์ ด้านหนึ่งเป็นความดีงามที่นำคนมาปฏิบัติตามหลักการศาสนา แต่อีกด้านหนึ่งมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จนต้องออกกฎหมายให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามากำกับดูแล 

การบริหารจัดการของแซะ เป็นแบบของใครของมัน ใครมีความน่าเชื่อถือมากกว่าก็จะมีฮุจยาตเดินทางไปด้วยมาก ด้วยเหตุนี้แซะจึงมีอิทธิพลต่อระบบการบริหารจัดการฮัจย์ไทยมาก แม้ว่าในระยะต่อมาจะมีองค์กรภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเกิดปัญหาเดิมๆ ประกอบด้วย ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบมีการบริการด้านอาหาร ที่พัก และบริการอย่างอื่นไม่เหมาะสมกับจำนวนเงินที่จ่ายไปปัญหาการลอยแพ ตั้งแต่การรับเงินแล้ว ฮุจยาตไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ หรือมามักกะห์แล้ว ขาดการดูแล ไม่มีที่พัก ไม่มีอาหารบริการ เป็นต้น
ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบระหว่างการอยู่ที่มักกะห์ อาทิ การเรียกเก็บเงินค่าบริการเพิ่มจากที่ตกลง การเพิ่มค่าบริการอย่างอื่น อาทิ น้ำซำซำ ที่มีขายในราคา 9 เหรียญ แต่มีการโขกราคา 20 เหรียญ หรือการเอาส่วนต่างจากราคาดัม หรือส่วนปรับจากการทำฮัจย์ ที่จะเสียเป็นแพะ
 ปัญหาการขาดทักษะในการบริหารจัดการ ภาครัฐมองเห็นปัญหาจึงเข้ามาบริหารจัดการ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามุสลิมไม่สามารถบริหารกันเองได้ หน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ภาครัฐเข้ามาด้วยการออกกฎหมายให้หน่วยงานรัฐเข้ามากำกับดูแล เริ่มตั้งแต่ปี 2515 เป็นอำนาจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่การเข้ามาของกรมการปกครองในยุคนนั้นมองปัญหาเรื่องความมั่นคงเป็นหลักและเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นกันมโหฬาร
 ปัญหาการจัดการภาครัฐการมองของภาครัฐต่อการมาทำฮัจย์ในยุคนั้นมองในมิติด้านความมั่นคง เนื่องจากมีความหวาดระแวงว่าผู้เดินทางมาประกอบพิธีฮัจย์เป็นกลุ่มที่เข้ามารับเอาแนวความคิดก่อความรุนแรงกลับประเทศ จึงส่งเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นหน่วยความมั่นคง อาทิ ทหาร และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง เข้ามาสอดส่อง ซึ่งก็ไม่เจออะไร เพราะการมาทำฮัจย์คือการมาปฏิบัติตามหลักศาสนา แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็ไม่ได้มาจริง ออกมาแล้วไปเที่ยวยุโรป ใช้จ่ายกันฟุ่มเฟือย จึงเป็นที่มาให้มีการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยนั้น ด้วยการย้ายการกำกับดูแลไปยังกรมการศาสนา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องศาสนา ต้องให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องศาสนามาดูแล หลังปี 2524 การนำกรมการศาสนามาดูแลกิจการฮัจย์ได้กลายเป็นปัญหาพอกหางหมู
ไม่เพียงดูแลให้การทำฮัจย์เป็นไปอย่างราบรื่นไม่ได้ยังมาเพิ่มปัญหาให้กับฮุจยาต มาจากปัญหา
1. การขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
2. การประกอบพิธีฮัจย์เป็นการเดินทางไปต่างประเทศ ประเทศไทยมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีเพียงกงศุลเป็นผู้ดูแล
3. การทำงานของกรมการศาสนามีข้าราชการที่เป็นมุสลิมน้อย ระยะแรกแทบไม่มีข้าราชการที่เป็นมุสลิมเลย ระยะหลังมีจำนวน 3 คน
4. องค์กรที่ดูแลเป็นองค์กรระดับกอง ขาดอำนาจและความคล่องตัวในการดำเนินการ
5. การประสานงานกับหน่วยงานอื่นมีปัญหา
6. การทำงานขาดมิติของการคุ้มครองผู้บริโภค เน้นการดูแลผู้ประกอบการมากกว่า ฮุจยาต อาทิ การตั้งเงินกองทุน 300 ล้านบาท มาช่วยผู้ประกอบการยืมในการเช่าบ้าน เช่าที่พัก
7. การกำกับดูแลไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อาทิ การเช่าบ้าน เช่ารถ จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของที่พัก และรถ แต่การตรวจสอบไม่มีประสิทธิภาพ ฮุจยาตยังคงพักในที่พักที่ขาดคุณภาพ  ใช้บริการรถที่มีปัญหา
8. ในการเช่าบ้านมีระเบียบว่า หากที่พักไกลจาก 2 กิโลเมตร จะต้องจัดรถให้ฮุจยาต ซึ่งที่พักเกือบทั้งหมด ไม่เกิน 2 กิโลเมตร แต่ใกล้เคียง 2 กิโลเมตร อาทิ บริเวณมัสยิดญิน ห่างจากมัสยิดฮารอม 1.2 กิโลเมตร จะต้องใช้เวลาเดินทางมาละหมาดเกินกว่า 20 นาที ทำให้ผู้สูงอายุประสบปัญหาไม่สามารถเดินทางไปละหมาดที่มัสยิดฮารอมได้ ส่งผลต่อการปฏิบัติอิบาดะห์
9. มีการเกิดช่องโหว่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในบางด้าน
10. การบริหารมีการเล่นพรรคเล่นพวก
11. การบริหารจัดการขาดการดำเนินการในเชิงรุก เช่นการออกกฎระเบียบมาแก้ปัญหาผู้ประกอบการกระทำต่อฮุจญาต อย่างกรณีล่าสุด การลอยแพฮุจยาตที่ จ.สงขลา มามีมาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น
12. ปล่อยให้มีการเรียกเก็บค่าเดินทาง มาฮัจย์สูง เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความอยู่ของฮุจยาต ทั้งเรื่องที่พักและอาหาร แม้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มให้มีอามีรุ้ล ฮัจย์ขึ้นมาเสริมการทำงานของกรมการศาสนา ในปี 2531 ในรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ แต่อามิรุ้ลฮัจย์ เป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นชั่วคราวในช่วงที่มีเทศกาลฮัจย์ รวมทั้งขาดอำนาจในการกำกับดูแลอย่างจริงจัง เอาเข้าใจเป็นตำแหน่งที่เหมือนมาให้กำลังผู้ประกอบพิธีฮัจย์ ต่อมีการจัดตั้งกองทุนมาแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการในการเช่าบ้าน ภายใต้การดูแลของกรมการศาสนา แม้มีการออกระบียบมาบังคับใช้เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ การลอยแพ และปัญหาอื่น แต่ไม่ครอบคลุมเพียงพอ และขาดมาตรการลงโทษทางกฎหมายที่เคร่งครัด อาทิ ระเบียบว่าด้วยการเช่าที่พัก ระเบียบการเช่ารถ
การจัดตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นให้กับเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างในปี 2551 ที่มีการเช่าบ้านซ้ำซ้อนกับที่พัก จนฮุจยาตจำนวนมากไม่มีที่พัก แต่สรุปสุดท้ายไม่มีผู้มีความผิดจากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
• ตีแผ่ทุกมุมที่มักกะห์เพื่อรังสรรค์สิ่งใหม่

อีกด้านหนึ่งในส่วนของการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ มีปัญหาไม่แพ้กันเช่นกัน หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ารูปแบบการบริหารจัดการเรื่องฮัจย์ ในส่วนของเอกชน มีผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ ฮุจยาต ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และแซะ หรือผู้นำกลุ่ม ซึ่งบางแหงผู้ประกอบการกับแซะเป็นคนๆ เดียวกัน ในการบริหารจัดการนั้น แซะ หรือผู้นำกลุ่มบางบริษัทจะต้องพึ่งพาแซะ ในการหาฮุจยาตเดินทางไปทำฮัจย์ ทำให้แซะมีบทบาทเหนือบริษัทที่เป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมาย บางแห่งแซะ เป็นผู้จัดหาที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่ซาอูดิอาระเบียบเองจึงเกิดปัญหาที่พอสรุปได้ คือ
แซะ ได้รับค่าผลตอบสูงเกินไป ตัวอย่างข้อมูลจากบริษัท เอสที อารเบียน บริษัทได้เงิน 120,000 กว่าบาท จากจำนวน 200,000 บาท ที่มีการเรียกเก็บ เท่ากับแซะมีรายได้ต่อหัว 70,000-80,000 บาท ขณะเดียวกันแซะจะต้องนำทีมฮุจยาตเดินทางมาซาอุดิอารเบีย เป็นต้นทุนเพิ่มของบริษัท หากพิจารณาต้นทุนการดำเนินการต่อหัว พบว่า มีค่าใช้จ่ายค่าเดินทางประมาณ 40,000-50,000 บาท ถ้าใช้การบินไทยบินตรงมายังซาอุฯ จะแพง เพราะการบินไทยจะต้องตีเครื่องเปล่ากลับไทย แต่หากใช้บริการของสายการบินอื่นราคาจะถูกลงแต่จะต้องเสียเวลาเปลี่ยนเครื่องเล็กน้อย ราคาจะอยู่ประมาณ 30,000 บาท ค่าที่พักและอาหารที่มาดีนะห์ 8 วัน ประมาณ 10,000 บาท โดยเฉลี่ยที่มักกะห์  ประมาณ 40,000-50,000 บาท ไม่นับการไปพักที่ทุ่งมีนา 3 วัน ค่าเหยีบเมือง ซึ่งรวมค่ารถ ค่าบริหารจัดการอื่นที่จ่ายผ่านกรมการศาสนา 13,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ยังต้องตรวจสอบมาก เพราะซาอุฯ ไม่ได้เก็บค่าเหยียบเมือง เพียงกรมการศาสนานำมาบริหารจัดการ อาทิ การจัดเช่ารถ หัวละ 70 เหรียญ จะได้รถที่เก่ามากและเสียระหว่างทางบ่อยครั้ง ต้นทุนจริงๆ ต่อหัวต่อคนประมาณ 100,000-120,000 บาท ผู้ประกอบการได้ประมาณหัวละ 20,000-30,000 บาท ผู้นำกลุ่มกลับมีรายได้ต่อหัว 70,000-80,000 บาท นำฮุจยาตเดินทางมา 10 คนสามารถอยู่ได้ทั้งปี
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องกินเล็กกินน้อยจากฮุจยาตในการใช้ชีวิตในมักกะห์ การคิดส่วนต่างในการนำไปสถานที่ต่างๆ การซื้อสินค้าและบริการต่างๆ อย่าลืมว่าฮุจยาตที่เดินทางไปส่วนใหญ่ไปครั้งแรก ไม่รู้จักมาดีนะห์หรือมักกะห์เลย ทุกอย่างต้องอาศัยผู้นำกลุ่ม ความไม่รู้เป็นช่องทางให้มีการกินเล็กกินน้อยจากฮุจยาตการบริการด้านอาหาร ดูเหมือนเป็นปัญหาใหญ่ของฮุจยาตไทยที่ไม่ค่อยคุ้นชินกับเครื่องเทศแบบอาหรับ ส่วนใหญ่จะพกเครื่องปรุงจากเมืองไทยไป อาทิ พวกน้ำพริก อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น โดยเฉพาะการทำข้าวกล่องแจก มีปัญหาคนไทยกินไม่ได้เกือบทั้งหมด เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้เลย
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย อันเนื่องมาจากคดีเพชรซาอุฯ และการหายตัวไปของนักการทูต กระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุฯ มายาวนาน กว่า 20 ปี กระทบต่อการบริหารจัดการหลายๆ ด้าน ซึ่งช่องการฟื้นคืนความสัมพันธ์ยังไร้ทาง ออก ผลกระทบจึงยังมีอยู่อีกต่อไป

• การเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจย์ ไปเรียนร้อยก่อนเข้าสู่เทศกาลฮัจย์ 1 สัปดาห์ หลักการสำคัญ คือการถ่ายโอนภารกิจ ให้กระทรวงมหาดไทยดูแลแทนกรมศาสนากระทรวงวัฒนธรรม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทยและเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ จากเดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม/ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเพิ่มผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี ผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และผู้แทนบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริม กิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามอธิบายว่า กฎหมายนี้จะทำให้การดำเนินกิจการฮัจย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากนี้ไปกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จะต้องเข้ามาทำงานอย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องมุสลิมไทย ขั้นตอนต่อไปจะต้องไปออกกฎหมายลูก หรือกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มงวด
การที่เปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาฮัจย์ของไทย กฎระเบียบที่ออกมาใหม่ จะต้องเน้นการส่งเสริมฮุจยาตมากกว่าส่งเสริมผู้ประกอบการเหมือนที่ผ่านมา ควรจัดตั้งกองทุนให้ผู้สนใจไปฮัจย์ได้เก็บเงินสะสมไว้ จนถึงเวลาหนึ่งจะได้ไปฮัจย์ได้ และกองทุนสามารถนำเงินไปแสวงหากำไรเพื่อมาจ่ายสมทบให้กับผู้ฝากเงินได้มีโอกาสเดินทางไปฮัจย์ได้เร็วขึ้น ควรส่งเสริมให้คนไปฮัจย์ตั้งแต่รุ่นหนุ่มสาวจากเดิมที่มักจะเดินทางไปในช่วงที่สูงอายุแล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนดีในการบริหารจัดการหลายๆ ด้าน ควรจะมีระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน มีการลงโทษผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการขึ้นทะเบียนแซะ และผู้ประการโดยมีระบบการตรวจสอบที่ชัดเจน ขจัดคนที่มีประวัติไม่ดีออกจากวงการ เพื่อเป้าหมายใหญ่เพื่อให้การเดินทางมาฮัจย์ของฮุจยาตเป็นไปอย่างราบรื่น

การเช่าที่พัก เช่ารถ จะต้องมีระเบียบที่รัดกุมกว่าเดิม ไม่สร้างปัญหาให้ฮุจยาตที่จะนำไปสู่ผลกระทบในการปฏิบัติอิบาดะห์โดยรวม และควรมีการกำหนดราคากลางและมาตรฐานราคากลางไว้ให้ชดเจน เพื่อใหฮุจยาตสามารถเลือกใช้บริการตามที่พอใจได้

มีระบบการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายชัดเจน มีระบบการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และให้ฮุจยาตสามารถตรวจสอบได้ทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจในการเดินทางไปทำฮัจย์ในส่วนของผู้ประกอบการควรจัดระบบการบริหารจัดการใหม่ โดยผู้ประกอบการจะต้องเข้ามาเป็นผู้จัดการเองทั้งหมด ไม่ปล่อยให้เป็นภาระของแซะ โดยมองถึงคุณภาพการให้บริการเป็นหลัก ควรเปลี่ยนความคิด จากเดิมที่มุ่งเน้นการอิบาดะห์เพียงอย่างเดียวให้มีเรื่องของหัวใจบริการด้วย เพราะความเป็นอยู่ของฮุจยาตนั้นกระทบต่อการปฏิบัติอิบาดะห์และต่อสภาพจิตใจ อย่างการเช่าที่พักที่อยู่ไกล แม้ไม่เกินกว่าที่กำหนดในระเบียบ แต่ก็กระทบต่อการเดินทางมาปฏิบัติอิบาดะห์ที่มัสยิดฮารอม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
การบริการจัดการใหม่ควรลดบทบาทของแซะลงโดยใช้ระบบออนไลน์เข้ามาในการแสวงหาฮุจยาต และในพื้นที่มักกะห์และมาดีนะห์ ควรปรับเปลี่ยนจากระบบส่งแซะมาให้นักศึกษา ที่มักกะห์หรือมาดีนะห์ ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยบริหารจัดการในพื้นที่ และเทรนด์พนักงานบริษัทที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการในพื้นที่ สามารถลดต้นทุนแซะได้ถึง 80% จะทำให้สามารถบริหารจัดการได้ในราคา 150,000 บาท ในอนาคตในโลกออนไลน์กำลังขยายตัว ระบบแซะค่อยๆ หายไปจากระบบ เป็นช่วงเวลาที่แซะเองจะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน การบริหารจัดการฮัจย์จะต้องให้เหมือนกับระบบของทัวร์ที่มีการเปิดเผยข้อมูลให้กับฮุจยาตเป็นตารางกำหนดการชัดเจน เป็นหลักประกันให้ฮุจยาตได้มีความมั่นใจ และหน่วยงานรัฐจะต้องบังคับใช้ให้เป็นไปตามกำหนดการ ดังกล่าวด้วย
• มีเงินค้ำประกันชัดเจน ป้องกันการเบี้ยว

ทุกอย่างจะต้องมีระบบระเบียบที่ชัดเจน แม้ว่าการนำคนมาฮัจย์เป็นหลักการศาสนาที่ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นอมานะห์ที่จะต้องทำให้ดีที่สุด แต่ต้องไม่ลืมว่ามีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง การบริหารจัดการจึงต้องการความสมดุลย์กันระหว่างบุญกับธุรกิจ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามาภายหลังเหมือนอย่างที่เป็นอยู่การแก้ไขกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรับผิดชอบเป็นความหวังของสังคมมุสลิมไทยที่จะบริหารจัดการฮัจย์ กระทรวงมหาดไทย แม้ในอดีตบริหารจัดการโดยมองความมั่นคงเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยงานให้การบริการประชาชนมากขึ้นในหลายๆ ด้าน การส่งเสริมกิจการฮัจย์สามารถระดมบุคคลากรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ มาทำงานได้อย่างเต็มที่ และสามารถเข้าถึงชาวบ้านได้ทุกครัวเรือน การบริหารจัดการจึงน่าจะทำได้ดีกว่าในอดีต สิ่งสำคัญมองที่เป้าหมายที่การบริหารจัดการเพื่อการมาฮัจย์ของมุสลิมไทย ราบรื่น  สะดวกสบาย มีการจัดการที่ดี และมีความเป็นธรรมอย่างแท้จริง
จึงจะเป็นการปฏิวัติฮัจย์ไทยย่างแท้จริง!

หมายเหตุ : จากนิตยสาร MTODAY ปีที่ 5 ฉบับที่ 57 ประจำเดือนกันยายน 2559