มอ.ปัตตานีคึกคัก! ปราชญ์,นักวิชาการ,นักการศาสนา 37 ประเทศ ร่วมสัมมนา”อิสลามการสร้างสันติสุข”

134

องคมนตรี ให้การต้อนรับผู้นำประเทศ ผู้นำศาสนาและนักวิชาการจาก 37 ประเทศ ที่มาร่วมสัมมนา การศึกษาอิสลามกับการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ที่ ม.อ.ปัตตานี

เมื่อเช้าวันนี้ (24 กรกฎาคม 2560) ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 โดยมีผู้นำประเทศ ผู้นำศาสนา และนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจาก 37 ประเทศ รวม ประมาณ 500 คนร่วมสัมมนา

รศ. ศ. ดร. ชูศักดิ์ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความว่า สถานการณ์ในปัจจุบันทำให้เกิดความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่จะพัฒนาสังคมมนุษย์ให้มีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง สถาบันการศึกษาทุกแห่งในโลกนี้ ต้องมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และส่งเสริมการการพัฒนา และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้การพัฒนาจะสามารถเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมมีความสันติอย่างยั่งยืน

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ให้ความสำคัญกับการสร้างบัณฑิตที่จะเป็นอนาคตและพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า ดังนั้นหลักสูตรและการเรียนการสอนด้านอิสลามจะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทราบหลักการศาสนาที่ถูกต้อง เหมาะสมกับความท้าทายในความทันสมัยของโลกปัจจุบัน จึงทำให้เกิดการสัมมนาในหัวข้อ “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจัดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ การสัมมนาวิชาการนานาชาติในครั้งนี้จะทำให้เกิดหลักสูตร แนวทางการพัฒนารายวิชา และรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมแห่งการศึกษาอิสลามเพื่อ “การพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป”

รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ได้กล่าวขอขอบคุณ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีที่ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาในครั้งนี้ ทำให้การสัมมนาครั้งนี้มีคุณค่าควรแก่การจดจำมากขึ้น และกล่าวรายงานความว่า การจัดสัมมนา “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ซึ่งกําหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม 2560 ณ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเป็นการจัดการสัมมนาครั้งที่ 4 ในรอบ 8 ปี โดยในครั้งนี้มีนักวิชาการ ผู้บริหารประเทศ และปราชญ์มุสลิม จาก 37 ประเทศ ทั่วโลก ร่วม 500 คน ร่วมการสัมมนา จาก

ผลของการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีจึงได้เอาแนวคิด หลักการ และวิธีการต่างๆ ต่อยอด จัดโครงการการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “การศึกษาอิสลาม : พลังแห่งการขับเคลื่อนในการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้กล่าวเปิดการสัมมนาโดยสรุปความว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นโอกาสที่สำคัญในการตอบสนองความท้าทายของการศึกษาอิสลามในปัจจุบัน คือ การสร้างการศึกษาอิสลามที่สมดุล เหมาะสมกับความทันสมัย และทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยรูปแบบการศึกษาอิสลามจะต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในแนวคิดและรูปแบบการเรียนการสอน และการจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการจัดสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการศึกษาอิสลาม การสร้างปัจเจกชนและสังคมแห่งสันติสุข และการวิเคราะห์สังเคราะห์ประสบการณ์ของประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมในการนำแนวคิดสู่นี้การปฏิบัติ การที่สถาบันการศึกษา ปราชญ์ ผู้รู้ ได้มาร่วมศึกษาเรื่องดังกล่าวจะนำสูการพัฒนาและสันติสุขที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

การศึกษาของอิสลามนั้นสามารถบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ทำให้เกิดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งศาสนาและทักษะในการประกอบอาชีพ การศึกษาด้านศึกษาอิสลามจึงสามารถตอบสนองความต้องการชองตลาดงาน จึงทำให้บัณฑิตด้านอิสลามศึกษาสามารถมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ และสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชาติ อย่างสันติสุข

หลังจากนั้นเป็นการการสุนทรพจน์ของ ศาสตราจารย์ ดร.กุฏุบ มุสฏอฟา ซาโน (Prof.Dr.Koutoub Moustapha Sano) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกและที่ปรึกษาการทูตของประธานาธิบดีสาธารณรัฐกินี ในหัวข้อ การศึกษาอิสลามในฐานะพลังในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในโลกปัจจุบัน ,ศาสตราจารย์ ดร.มุสตาฟา ฟูดิล (Prof. Dr. Mustapha Foudil ) ผู้แทนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมอิสลาม ปาฐกถาในหัวข้อ การศึกษาอิสลาม พื้นฐานความเข้าใจ นิยาม และอัตลักษณ์ และภาคบ่ายดร.มุหัมมัด อะฮฺมัด มุซัลลัม อัล-คอลัยละฮฺ ประธานผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนา ประเทศจอร์แดน ปาฐกถาในหัวข้อการศึกษาอิสลาม พลังแห่งการขับเคลื่อนการพัฒนาและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และ ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ประเทศไทย ปาฐกถาในหัวข้อ ตัวอย่างการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในยุคสมัย ของมูฮัมหมัดรอซูลแห่งความเมตตา