เป็นเรื่อง! ม.ล.ปนัดดาชี้มูลกอจ.กรุงเทพฯขาดคุณสมบัติ เร่งมท.-กอท.ถอดถอน

249

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เร่งกระทรวงมหาดไทย ถอดถอน กอจ.กรุงเทพฯ 22 คนออกจากตำแหน่ง ระบุชัดขาดคุณสมบัติ ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรี แต่รมว.มหาดไทยและคณะกรรมการกลางฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

สำนักงานรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวัติ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นำเสนอข้อมูลกรณีการร้องเรียนและขอความเป็นธรรม กรณีกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานครา จำนวน 22 คน ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งด้วยเหตุไม่ประพฤติปฏิบัติตามบัญญัติศาสนาอย่างเคร่งครัดตามที่จุฬาราชมนตรีและศาลฎีกามีคำวินิจฉัย ในหนังสือระบุว่า นายสมชาย อัลดุลเลาะฮ์ ประชาชนชาวไทย นับถือศษสนาอิสลาม ได้ทำหนังสือร้องเรียนและขอความเป็นธรรมกรณการขาดคุณสมบัติของกอจ.กรุงเทพฯ โดยในหนังสือได้ท้าวความ เมื่อปี 2551 ผู้ร้องในฐานะผู้ร่วมซื้อที่ดินวากั๊ฟ(อุทิศ)ให้เป็นสมบัติของโรงเรียนสอนศาสนา ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยให้มีมติเนื่องจากขาดคุณสมบัติเนื่องจากร่วมกันฝ่าฝืนโดยให้จัดตั้งมัสยิดที่ผิดต่อบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามตามที่จุฬาราชมนตรีวินิจฉัยไม่เห็นชอบให้จัดตั้งมัสยิดอิบาดิรเราะห์ ไม่ตรงกับเจตนาของผู้วากั๊ฟ และผลจากการจดทะเบียนมัสยิดทำให้มีผลทำให้ที่ดินวากั๊ฟเปลี่ยนสภาพจากเดิมเป็นนิติบุคคลที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดเข้ามาบริหารแทน

จากการร้องเรียนดังกล่าว คณะกรรมการกลางอิสลามฯ มีความล่าช้าในการดำเนินการผู้ร้องจึงยื่นหนังสือถึง รมว.มหาดไทย(นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์)ขณะนั้น แจ้งการขาดคุณสมบัติ  แต่รมว.มหาดไทย ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ดำรงตำแหน่งจนหมดวาระ ขณะที่ผู้ถูกร้องได้ยื่นฟ้องต่อศาลมีนบุรี กล่าวหาผู้ร้องว่า นำคำวินิจฉัยของจุฬาราชมนตรีที่มิชอบไปยื่นถอดถอน และต่อมาผู้ถูกร้องได้สมัครและได้รับการคัดเลือกเป็นกอจ.กรุงเทพฯ และผู้ร้องได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อรมว.มหาดไทย แต่ได้รับการเพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการ

ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2558 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในคดีที่กอจ.กรุงเทพฯ ได้ฟ้องผู้ร้อง โดยได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริงแห่งคดีว่า หนังสือร้องเรียนของผู้ร้องที่ได้ยื่นถึงเลขาธิการคณะกรรมการกลางฯ และหนังสือร้องเรียนที่ยื่นไปยังรมว.มหาดไทย เป็นการกล่าวไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และได้วินิจฉัยตอนท้ายก่อยพิพากษายกฟ้องว่า หากโจทก์มีพฤติกรรมตามที่จำเลยทั้ง 3 (ผู้ร้อง)เข้าใจและมีความเห็น ถือว่า ขาดคุณสมบัติและต้องพ้นจากตำแหน่งตามที่กฎหมากำหนดไว้

“ที่ผ่านมาผู้ร้องได้ยื่นหนังสือขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้คัดเลือกกอจ.กรุงเทพฯ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยว่า อำนาจหน้าที่ในการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้ารับการเสนอชื่อกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นอำนาจหน้าที่ของรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการตามพ.ร.บ.บริหารองค์กรศาสนาอิสลามฯ  การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของรมว.มหาดไทย และกกท.ทำให้รัฐได้รับความเสียหายโดยต้องจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งให้แก่ ประธานกอจ.และกรรมการ กอจ.ที่ขาดคุณสมบัติ ” หนังสือ ระบุ

ในหนังสือที่ ม.ล.ปนัดดา ส่งถึงรองนายกณ ระบุด้วยว่า เพื่อให้กฎหมายบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการบังคับใช้พ.ร.บ.การบริหารองค์กรศาสนาอิสลามฯ จึงขอให้เร่งรัดดำเนินการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการถอดถอน กอจ.กรุงเทพฯจำนวน 22 คน

ในตอนท้ายของหนังสือ ยังได้ระบุถึงประเด็นที่จะวินิจฉัยว่า การขาดคุณสมบัติของกอจ.กรุงเทพฯตามที่ศาลฎีกาวินิฉัยในข้อเท็จจริงแห่งคดี มีผลตั้งแต่เมื่อใด กรณีการขาดคุณสมบัติมีผลต่อการดำรงตำแหน่งอิหม่ามประจำมัสยิดหรือไม่ รวมถึงอำนาจการถอดถอนเป็นของรมว.มหาดไทยหรือกอท. และหากกอท.ฝ่าฝืนไม่ถอดถอนกอจ.กรุงเทพฯออกจากตำแหน่งเหมือนที่ผ่านมาหรือดำเนินการล่าช้า ซึ่งรัฐเสียหายต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคคลที่ขาดคุณสมบัติ รมว.มหาดไทย จะสามารถถอดถอนเองได้หรือไม่