ครม.ไฟเขียว ร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้คงมี ส.ข. ไว้ แต่เมื่อหมดวาระแล้วไม่เลือกใหม่ เพิ่มอำนาจ กกต.หากพบทุจริต เพิกถอนสิทธิ์ได้ทันที คาดจัดหลังเลือกตั้งใหญ่ แบ่ง 2 เฟส ให้จะเริ่มใน 40 จังหวัดก่อน
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอที่ประชุมครม. เห็น ชอบร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) สามารถ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการได้ ส่วน กรุงเทพฯ สภากรุงเทพ (ส.ก.) กับสภาเขต (ส.ข.) ยังคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่า ส.ข.เมื่อหมดวาระ แล้วจะไม่มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่า ส.ข. จะยังมีอยู่หรือไม่ โดยจะออกเป็นกฎหมายฉบับที่ 7
นอกจากนี้ การรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ประชาชนไม่ได้เลือกผู้ใด และกฎหมายใหม่ กกต.จะตรวจสอบการเลือกตั้งในเชิงรุกมากขึ้น โดยมีสิทธิตรวจสอบเมื่อได้รับข้อมูล เบาะแส หรือเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าจะมีการทุจริต โดยไม่ต้องรอให้มี คนมาร้องเรียน
ขณะเดียวกัน ยังมีการแก้ไข เรื่อง คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น นายกเทศมนตรี ต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีความเข้มงวดซึ่งต้องไม่มี ประวัติคดีความทุจริต หากพบว่ามีประวัติคดีที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน จะลงรับสมัครไม่ได้ สำหรับวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปียังคงเหมือนเดิม แต่มี การกำหนดอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาร้องทุกข์กล่าวโทษกันระหว่าง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับ สำนักงานตรวจเงิน แผ่นดิน (สตง.) เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับองค์กรอื่นๆ
โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ เพิ่มจำนวนคนจาก 1 แสนคน เป็น 1.5 แสนคน ส่วนในต่างจังหวัดการ
แบ่งเขตตามหมู่บ้าน สามารถรวบกันได้ เพราะบางหมู่บ้านมีประชากรไม่ถึง 25 คน และยังมีการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายใหม่ ไม่จำ เป็นต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน หรือ ต้องเสียภาษีท้องถิ่นนั้นเป็นจำนวนกี่ปี จึงจะรับสมัครได้ เรื่องนี้ได้ตัดออกไปแล้ว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริต เดิมกำหนดให้ กกต. เพิกถอนสิทธิ ก่อนและหลัง แต่สำหรับ กฎหมายใหม่ หาก กกต.ตรวจสอบแล้วพบมี การทุจริตสามารถจะถอนสิทธิ์ได้ โดยยื่นคำร้อง ศาลอุทธรณ์ เมื่อพบทุจริต จะมีสิทธิ์เพิกถอน ได้ภายในระยะเวลา 10 ปี และผู้ทุจริตจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการเลือกตั้งด้วย
ทั้งนี้จะส่งร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ภายในเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน หรือ ภายใน พ.ย.นี้ จะเรียบร้อย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป โดยคาดว่ากระบวนการจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนก.พ. 2562 ซึ่งจะพอดีกับโรดแม็พเลือกตั้ง อาจจะ เลือกตั้งได้ในวันที่ 24 ก.พ.2562
อย่างไรก็ตามมีข้อตกลงเรื่อง การเลือกตั้งท้องถิ่น ควรมีระยะห่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ ประมาณ 3 เดือน จะก่อน หรือ หลัง ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งระดับชาติเกิดขึ้นช่วงเดือน ก.พ. 62 เพื่อให้ กกต.เตรียมการได้ทันการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องขยับออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งการจัดการเลือกตั้ง ท้องถิ่น อาจต้องจัด 2 ครั้ง ครั้งแรก ประมาณ 40 จังหวัด ในเขตการเลือกตั้งที่ไม่มีเปลี่ยนแปลง ส่วนอีก 30 กว่าจังหวัดจะจัดขึ้นในภายหลังมีการแบ่งเขตเลือก ตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว