ทหารนำสื่อมวลชน เที่ยวปราสาทตาควายพันปี ชายแดนไทย-กัมพูชากองกำลังสุรนารีจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัมพันธ์ 3 จังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมนำเสนอผลงานโครงการสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ
วันนี้ ที่กองกำลังสุรนารี อ.เมือง จ.สุรินทร์ พลตรี กิตติศักดิ์ บุญพระธรรมชัย ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวพบปะคณะสื่อมวลชนจาก จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และจากส่วนกลาง รวมจำนวน 50 คน ที่เข้าร่วมโครงการสื่อมวลชนสัมพันธ์ ประจำปี 2562 โดยได้นำเสนอผลงานและตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชน เสร็จแล้วคณะได้ออกเดินทางไปยังวัดป่าเขาโต๊ะ ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ โดยมี พ.อ.ณัฐ ศรีอินทร์ รองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี นำลงพื้นที่ชายแดน เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรมโครงการ”เธอคือความหวัง” ซึ่งกองกำลังสุรนารีบูรณาการความร่วมมือกับท้องถิ่น วัด ชุมชน โรงเรียน เพื่อนำเยาวชน ผู้ปกครอง ให้มีกิจกรรมด้านสังคม เน้นการเสียสละ พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมในใจของเยาวชนเป็นหลัก โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว กล่อมเกลาจิตใจ ให้เยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต มีความยั้งคิด รู้เท่าทันสังคมและเทคโนโลยีที่เจริญสวนทางกับใจจิตใจ เน้นย้ำให้เยาวชนมีจิตใจเป็นสาธารณะกุศล โดยมีเป้าหมายเป็นเยาวชน ชุมชน วัด ในพื้นที่ 21 อำเภอชายแดน จ.บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ อำนาจเจริญ
จากนั้นคณะเดินทางไปยังปราสาทตาควาย ซึ่งตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผา สูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ที่ 17 ต.บักได อ.พนมดงรัก เพื่อเยี่ยมดูสภาพพื้นที่และการใช้ชีวิตของหน่วยกำลังพลที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ปราสาทแห่งนี้ ซึ่งพื้นที่บริเวณปราสาทตาควายเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแบ่งเส้นเขตแดนที่ยังไม่ได้เจรจากันในคณะกรรมการปักปันเขตแดน จึงมีการตกลงร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา จัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย โดยคณะได้มอบอาหาร และเครื่องดื่ม ให้กำลังพลทั้งของไทยและกัมพูชา เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน ซึ่งทั้งหมดต่างยิ้มแย้ม และแสดงความเป็นมิตรเช่นเดิม
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเดินทางไปเที่ยวชมปราสาทตาควายได้ทุกวัน เป็นเส้นทางลาดยาง เดินทางสะดวกสบาย มีทหารไทย คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวตลอดเวลา
สำหรับปราสาทตาควาย (ปราสาทตาวาย) หรือ ปราสาทตากระเบย (ในภาษา เขมร ระเบย/กรอเบย หมายถึง ควาย) จากรูปทรงปราสาทสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างอยู่ในช่วงของปลายสมัยนครวัดต่อช่วงต้นสมัยบายน คือช่วงพระเจ้า สุริยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 อายุประมาณ 800-900 ปี สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานหรือเป็นวัด เพราะตรงกลางมีลักษณะคล้ายกับสวยัมภูวลึงค์ (ศิวลึงค์ธรรมชาติ)
ตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผา สูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงรัก ที่บริเวณช่องตาควาย ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ปราสาทตาควาย เป็นปราสาทหินศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สำหรับผังของปราสาทนั้น เป็นรูปกากบาท มีส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วน
บนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น ปราสาทตาควาย ยังเป็นปราสาทหลังเดียวโดด ๆ ไม่มีอาคารประกอบอื่น ๆ ทำให้เชื่อว่า ปราสาทตาควาย เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดังเช่นปราสาทอื่น ๆ เพียงแต่ทำการก่อ
ขึ้นรูปไว้เท่านั้นยังมิได้มีการขัดแต่งผิวหิน หรือ แกะสลักลวดลายใด ๆ จึงทำให้ปราสาทตาควายยังคงรูปอยู่ได้ โดยไม่ถูกทำลายหรือถูกลักลอบกะเทาะชิ้น ส่วนต่าง ๆ ไป เช่นที่เกิดขึ้นกับปราสาทอื่น ๆ ตามแนวชายแดน ส่วนอายุนั้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจสุรินทร์