ท้วง’กอ.รมน.’บังคับ คนชายแดนใต้ลงทะเบียนซิมใบหน้า ชี้ละเมิดสิทธิ์ตามรธน.

พรรคประชาชาติ ตั้งคณะศึกษาคำสั่ง กอ.รมน. ให้ผู้บริการมือถือใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อ.ของสงขลา ลงทะเบียนตรวจสอบใบหน้า และหากไม่ลงทะเบียนตามเวลาที่กำหนดจะงดให้บริการ 

22 มิ.ย.62 มีรายงานว่า พรรคประชาชาติ ได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษากรณีกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ส่งข้อความให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ4 อำเภอของจังหวัดสงขลาคืออ.จะนะ อ.นาทวีอ.สะบ้าย้อยและอ.เทพา โดยระบุว่า กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน 3 จว.ชายแดนใต้ +4 อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ภายใน 31 ต.ค.62 เช็กสถานะซิมกด*165*5* เลขบัตรปชช.# โทรออก หากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้ ฟังข้อมูลเพิ่มเติมกด*915653 ภาษายาวีกด*915654

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนให้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรม สนับสนุนให้หน่วยงานด้านความมั่นคงบูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อความสงบสุขของพื้นที่ โดยใช้แนวทางสันติวิธีและยึดรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นแนวทางการทำงาน ซึ่งการบังคับลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และพิสูจน์อัตลักษณ์นั้นจำเป็นต้องผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อยกร่างเป็นกฎหมายจึงจะสามารถบังคับใช้ได้

อย่างไรก็ตามพรรคประชาชาติ เห็นว่า ประเด็นนี้ได้สร้างความอึดอัดใจแก่ประชาชนในพื้นที่ จึงได้เตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคอย่างเร่งด่วน เพื่อหาทางออกทางกฎหมายในประเด็นนี้ โดยคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาชาติ ประกอบด้วย พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ที่ปรึกษา, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ที่ปรึกษา, นายวิทยา พานิชพงศ์ ที่ปรึกษา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน จะประชุมหารือร่วมกับนักกฎหมายและเตรียมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป

ทั้งนี้  การบังคับให้ประชาชนลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และบังคับให้สแกนใบหน้าและอัตลักษณ์นั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้าอาจต้องทบทวนอย่างละเอียดว่า สามารถกระทำได้หรือไม่ แม้จะอ้างระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ตาม

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่า ระเบียบกสทช.มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฏหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่มุ่งหมายให้บังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าทางใดๆ การตรวจ การกักหรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันรวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆเพื่เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม ที่ หลังจากที่ กอ.รมน.ภาค 4 ขอให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอชายแดนของ จ.สงขลา ลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า และอัตลักษณ์ภายในวันที่ 31 ต.ค. ทำให้มีชาวบ้านไปลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก อาทิ ที่จ.นราธิวาส  บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ทุกคนตื่นตัวที่จะมาลงทะเบียนแม้จะบ่นบ้างก็ตาม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการในพื้นที่นั้นจะต้องลงทะเบียนทุกครั้งที่ซื้อซิมอยู่แล้ว การเข้ามาลงทะเบียนอีกครั้งเหมือนการบันทึกประวัติซ้ำซ้อนและเป็นการเสียเวลา โดยผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนบางรายต้องบันทึกประวัติซ้ำถึง 5 ครั้ง เนื่องจากมีการซื้อซิมโดยใช้ชื่อตัวเองถึง 5 หมายเลข นอกจากการถ่ายรูปจากบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงแล้ว ก็จะต้องถ่ายใบหน้าเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของเจ้าของอีกครั้งด้วย ขณะที่ผู้มาลงทะเบียนต่างได้รับการบริการจากเจ้าหน้าที่ของแต่ละเครือข่ายอย่างดี ถึงแม้จะไม่เข้าใจแต่ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะเป็นการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ