พัฒนาต่อเนื่อง!ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล เปิดตัวแอพ​ HAL+ สู่ยุคใหม่มาตรฐานฮาลาล

493

ครบรอบ 16 ปี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จากก้าวเล็กๆสู่องค์กรวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก และยังพัฒนาต่อเนื่องด้วยการเปิดตัว HAL+ แอพพลิเคชั่น ที่จะนำการตรวจสอบฮาลาลสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย กาวไกลจนยากที่ใครจะตามทัน

วันที่ 8​ สิงหาคม​ 2562​ เวลา 8.00 น. ที่อาคารสำนักงานสวนหลวงสแควร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีกำกับดูแลด้านยุทธศาสตร์แผนและงบประมาณ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานแสดงความยินดีครบรอบ 16 ปี แห่งการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล พิธีเปิดงาน นิทรรศการสิ่งต้องห้ามและต้องสงสัย Museum of Haram โดยมีผู้ร่วมงานมากกว่า 250 คน

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มต้นโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2538 โดยมีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม จนงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลได้ขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นลำดับได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก

ในวันเดียวกัน ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แถลงข่าวเปิดตัวแอพพลิเคชั่น​ HAL+ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ โดยกล่าวว่า โปรแกรมและแอ็พพลิเคชั่น “ฮาลพลัส” ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบมาตรฐานการตรวจสอบฮาลาล

ดร.วินัย กล่าวว่า ฮาลาลมาจากภาษาอาหรับมีความหมายว่าอนุมัติ อิสลามกำหนดให้มนุษย์บริโภคสิ่งที่ฮาลาลและดี (ตอยยิบ) ซึ่งปัจจุบันฮาลาลครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมโดยรวมถึงผู้บริโภคที่มิใช่มุสลิมด้วย แนวคิดเรื่องฮาลาลเพื่อทุกคนจึงขยายไปในทุกภาคส่วน เป็นเพราะฮาลาลเข้ามาแสดงบทบาทอย่างสูงในทางอุตสาหกรรมและการค้าของโลกสมัยใหม่ ใน พ.ศ.2540 คณะทำงานภายใต้สหประชาชาติคือโคเด็กซ์ ได้กำหนดมาตรฐานอาหารฮาลาลขึ้น กลายเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานฮาลาลของทั่วทั้งโลกรวมถึงองค์การความร่วมมือประเทศอิสลามหรือโอไอซีที่กำหนดมาตรฐานฮาลาลขึ้นเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นเรียกว่ามาตรฐาน SMIIC หรือซีมิก

กรณีของประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐานอาหารฮาลาลขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งแต่ พ.ศ.2550 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) อันเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการรับรอง ฮาลาลตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ได้นำมาประยุกต์ใช้

ทั้งนี้ เพื่อให้การรับรองฮาลาลของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล คณะรัฐมนตรีมีมติเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการฮาลาลของประเทศดังต่อไปนี้ (1) วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2545 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันมาตรฐานฮาลาล แห่งประเทศไทย (สมฮท.) ภายใต้ สกอท. (2) วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (ศวฮ.) ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2558 กำหนดให้ใช้แนวทาง Thailand Diamond Halal ที่พัฒนาขึ้นโดย ศวฮ. สมฮท. และ สกอท. ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฮาลาลของประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวกำหนดวิธีการ “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” ในงานการรับรองฮาลาลของประเทศไทย

ดร.วินัย กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนงานการรับรองฮาลาลของ สกอท.และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (สกอจ.) ศวฮ.ได้พัฒนางานการมาตรฐานฮาลาล (Halal standardization) ขึ้นเพื่อสร้างความสะดวกต่อภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ในการนำมาตรฐานฮาลาลไปสู่การปฏิบัติในภาคการผลิต งานการมาตรฐาน ฮาลาลดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ดังนี้ (1) การพัฒนาระบบ Halal-HACCP หรือ “ฮาลาล-ฮาสัพ” โดย ศวฮ.ร่วมกับสถาบันอาหารใน พ.ศ.2542 (2) การพัฒนาระบบ Halal-GMP/HACCP หรือ “ฮาลาล-จีเอ็มพี-ฮาสัพ” โดย ศวฮ. ร่วมกับ สกอท.ใน พ.ศ.2550 (3) การพัฒนาระบบ HAL-Q หรือ “ฮาลคิว” ขึ้นโดย ศวฮ. ใน พ.ศ.2553 (4) การพัฒนาระบบ HAL+ หรือ “ฮาลพลัส” โดย ศวฮ.ร่วมกับ สมฮท.และ สกอท. ใน พ.ศ.2562 โดยทำการเปิดตัวในวาระครบรอบ 16 ปี ศวฮ.

งานการมาตรฐานฮาลาลได้รับการพัฒนามาตลอดระยะเวลามากกว่า 16 ปีเป็นการลดระยะเวลาที่ใช้ในการวางระบบ Halal-HACCP จาก 1-2 ปีเป็นน้อยกว่าหนึ่งปีด้วยระบบ Halal-GMP/HACCP ก่อนพัฒนาเป็นระบบ 4×4 ใช้เวลา 3-5 เดือนด้วยระบบ HAL-Q โดยมีภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์เข้าร่วมจัดวางระบบกว่า 1,000 สถานประกอบการ เมื่อโลกเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มตัวกระทั่งเข้าสู่ยุค “ดิสรัพทีฟเทคโนโลยี” (Disruptive Technology) ศวฮ.ที่สะสมประสบการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในระยะหนึ่งจึงได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า “ฮาลพลัส” ขึ้นเพื่อร่นระยะเวลาการวางระบบฮาลคิวในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์มีการพัฒนาระบบที่เรียกว่า SPHERE หรือ System Protocol for Halal Electronic Resources Exchange เชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของภาคส่วนต่างๆในงานฮาลาลตั้งแต่ภาคผู้ประกอบการ ภาคองค์กรศาสนาอิสลาม ภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจโครงข่าย ภาคผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งของงานคือการประยุกต์ระบบไอทีเข้ากับงานการมาตรฐานฮาลาลฮาลคิว ครอบคลุมการพัฒนาแอ็พ หรือแอ็พพลิเคชั่น (App หรือ Application) เพื่อสร้างความสะดวกแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกทางด้านการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการหรือการจับคู่ธุรกิจ (Business matching) นำเอากิจกรรมต่างๆที่ ศวฮ.ร่วมกับ สกอท.และ สมฮท.ดำเนินการ เช่น การจัดงาน Thailand Halal Assembly การจัดประชุมวิชาการ Halal Certification Bodies Convention และ International Halal Science and Technology Conference (IHSATEC) ฯลฯ เข้าร่วมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ของประเทศ

‘เชื่อมั่นวาา แอ็พ “ฮาลพลัส”จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันของฮาลาลประเทศไทยที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ “ฮาลาลเพื่อทุกคน” ขยายฐานผู้บริโภคจากร้อยละ 17 ของตลาดอาหารโลกสู่ร้อยละ 90 อันเป็นแนวโน้มของเศรษฐกิจฮาลาลที่ประเทศต่างๆทั้งที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มตัวในขณะนี้’ ดร.วินัย กล่าวในที่สุด