ลุ้นระทึก! “วิษณุ”ชี้ชัด ถ้าพรบ.งบประมาณ ไม่ผ่านสภาฯ รัฐบาล ต้องลาออก-ยุบสภา

96

“วิษณุ”ย้ำ หาก ร่าง พรบ.งบประมาณ ไม่ผ่านสภาฯ รัฐบาล ต้อง ลาออก-ยุบสภา ชี้ เป็นเรื่องปกติและธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ หาก หน้าด้านอยู่ต่อ ก็ทำได้ ไม่มีกฎหมายบังคับ ส่วนการลงมตินั้น ส.ส.ที่เป็น รัฐมนตรี สามารถยกมือโหวตได้

วันนี้ (8 ต.ค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีที่ชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่ารัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.สามารถลงมติร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ส.ส.เป็นรัฐมนตรีในเวลาเดียวกันได้ และไม่ได้ระบุว่าจะลงมติในเรื่องที่ตนมีส่วนได้เสียไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกตัดออกไปแล้ว ซึ่งก็แปลว่าสามารถลงมติได้ แต่โดยมารยาทแล้วในการลงมติไม่ไว้วางใจตัวเอง เป็นเรื่องไม่สมควร แต่การเสนอกฎหมาย จะเป็นเรื่องงบประมาณ หรือ กฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เป็นเรื่องมีส่วนได้เสียส่วนตัว แต่เป็นส่วนได้เสียส่วนรวม ฉะนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม และโดยสรุปก็มีรัฐมนตรีที่เป็นส.ส. มีความสงสัยอยู่ 19 คน สามารถลงมติในเรื่องงบประมาณเช่นเดียวกับลงมติในเรื่องอื่นๆได้

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯก็บอกให้รัฐมนตรีที่เป็นส.ส.เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยเหตุว่าในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี จะเป็นส.ส.หรือไม่เป็นส.ส.ก็ตาม ก็ต้องเข้าประชุม เพราะเป็นเรื่องงบประมาณ หากมีการสอบถามเรื่องของกระทรวงใดก็สามารถที่จะช่วยอธิบายได้ โดยเฉพาะในวาระที่หนึ่ง ขณะเดียวกัน นายกฯยังกำชับว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 เอาไว้พิจารณาในชั้นแปรญัตติ จึงขอให้ผู้แทนรัฐบาลที่มีอยู่ 15 คนที่จะไปเป็นกมธ. ควรเป็นคนที่มีเวลาว่างเป็นหลัก ไม่ใช่ไปเป็นโก้ๆ หลายคนคิดว่าการไปเป็นกมธ.งบประมาณ เป็นเกียรติยศ แต่ความจริงต้องนั่งประชุมตลอดเวลาถึง 60 วัน เพราะต้องพิจารณากฎหมายยาวนานที่สุด  ซึ่งที่ประชุมจะต้องดูไปทีละมาตรา ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีที่จะมาเป็นกมธ.ในส่วนรัฐบาล ยังได้รายชื่อไม่ครบ แต่ได้ 3 รายชื่อที่จะเป็นตัวแทนหลัก ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ในส่วนที่เหลือจะให้แต่ละพรรคการเมืองไปหาและนำมาเสนอโดยไม่ต้องนำรายชื่อเข้าครม.อีก

ต่อขช้อถามว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ถ้าหากไม่ผ่านสภาฯ จะมีผลอย่างไร กับ ความรับผิดชอบทางการเมืองและทางกฎหมาย นายวิษณุตอบว่า หลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีอยู่แล้วว่า อะไรก็ตามที่สภาฯเสียงข้างมากไม่ไว้วางใจรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็ไม่พึงจะอยู่ต่อไป ซึ่งการไม่ไว้วางใจนั้น แสดงออกได้ 2 อย่าง คือ 1.ไม่ไว้วางใจโดยเปิดเผย ตรงนี้ทำโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ 2.ไม่ไว้วางใจโดยปริยาย จะแสดงออกจากการที่รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายสำคัญเข้าสภาฯ แล้วสภาฯลงมติให้ไม่ผ่าน ซึ่งก็แปลว่าสภาฯไม่ยอมให้เครื่องมือรัฐบาลไปทำงาน รัฐบาลก็ไม่ควรจะต้องอยู่ โดยทำได้ 2 อย่าง คือ 1.ทำโดยรัฐบาลลาออก หรือ 2.ทำโดยออกด้วยกันทั้งคู่ เพราะการที่สภาฯไม่เห็นชอบนั้น ไม่รู้ว่าประชาชนเขาคิดอย่างไร จึงยุบสภาแล้วไปเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ดังนั้น ทางออกสามารถทำได้ 2 อย่าง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่เรื่องแปลก และเราก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา โดยในอดีตก็เคยมีรัฐบาลที่ลาออกเพราะสภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมาย แต่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ลาออกแม้สภาฯลงมติไม่ผ่านกฎหมายเช่นกัน เพราะถือว่าไม่ใช่กฎหมายสำคัญ แต่สำหรับกฎหมายงบประมาณนั้นเป็นกฎหมายสำคัญ