ยื่นปปง.สอบ “วันฮาลาล”หลอกพี่น้อง 3 จังหวัดลงทุน ตอบแทนสุดเว่อร์ 600%

7101

สมาพันธ์แชร์ลูกโซ่ร้องปปง.สอบ บ.วันฮาลาล ระบุพฤติกรรมแชร์ลูกโซ่ระดมทุนผ่านยูทูป เจาะกลุ่มปชช.จังหวัดชายแดนใต้ อ้างจ่ายปันผล 648% คาดมีผู้เสียหาย 500 ราย

นายสามารถ  เจนชัยจิตรวนิช  ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย  นำตัวแทนผู้เสียหายกรณีถูกหลอกให้ร่วมลงทุนกับบริษัท  วันฮาลาล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท  ซานโตนเนส จำกัด  ซึ่งมีนายยุสรี วันฮาลาล อายุ 31 ปี  เป็นเจ้าของ เข้าร้องขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เร่งรัดติดตามธุรกรรมทางการเงินในคดีฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นมูลฐานความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน  โดยมี ร.ต.อ.ไพรัตน์  เทศพานิช  เลขานุการกรม   เป็นผู้รับเรื่อง

นายสามารถ กล่าวว่า บริษัท วันฮาลาลฯ และซานโตนเนสฯ มีพฤติการณ์ชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุน อ้างว่าประกอบธุรกิจหลายประเภททั้ง น้ำมันพืช  ทองคำ และอื่น ๆ โดยเสนอผลตอบแทนที่สูงถึง 54% ต่อเดือน หรือ 648% ต่อปี  เช่น  ร่วมลงทุนราคาหุ้นละ 3,000 บาท จะได้ค่าตอบแทน 400 บาทต่อสัปดาห์ ต่อ 1 หุ้น  กรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายเกือบ 500 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท  ผู้เสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้  โดยเฉพาะจ.นราธิวาส  สงขลา และปัตตานี  แต่ละรายเฉลี่ยความเสียหายหลักแสนบาท  เบื้องต้นพบเจ้าของธุรกิจดังกล่าวมีหมายจับแล้วถึง 2 หมาย ในพื้นที่จ.ยะลาและจ.ปัตตานี  ปัจจุบันบริษัทที่เปิดในพื้นที่จ.นราธิวาสก็ปิดตัวไปแล้ว

นายสามารถ กล่าวต่อว่า บริษัท วันฮาลาลฯมีการเปิดกิจการประมาณ 1 ปี ผู้เสียหายระบุว่าถูกชักชวนให้เข้าร่วมกลุ่มไลน์ที่มีการส่งข้อมูลเชิญชวนให้เข้าร่วมธุรกิจ  มีการส่งข้อมูลและภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงการประกอบกิจการ และการร่วมลงทุนในธุรกิจหลายประเภท  นอกจากนี้ยังมีการระบุชื่อบุคคลที่มีตำแหน่งในคณะกรรมการอิสลามเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ  พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนาสร้างแรงบันดาลใจ  ในช่วงแรกที่ร่วมลงทุนจะเหมือนกับกรณีแชร์ลูกโซ่ทั่วไปคือได้รับเงินปันผลตามสัดส่วนที่ร่วมลงทุน  ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและนำเงินมาเพิ่มทุนขึ้นเรื่อย ๆ  และชักชวนบุคคลใกล้ชิดให้ร่วมลงทุน ทั้งที่ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการดำเนินกิจการจริง  อย่างไรก็ตาม  มีการอ้างให้ผู้เสียหายยินยอมแปลงทุนเดิมไปลงทุนในเฟสใหม่เพื่อจะได้รับทุนคืน ซึ่งพบว่าการย้ายดังกล่าวต้องมีการลงทุนเพิ่ม  ทำให้ผู้เสียหายถูกหลอกซ้ำอีก

ทั้งนี้  จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฯดังกล่าวเคยออกรายการแข่งขันทางธุรกิจชื่อดัง ซึ่งมีการนำรายการดังกล่าวที่เผยแพร่ผ่านทางยูทูปมาชวนเชื่อเพื่อหาสมาชิกเพิ่มเติมด้วย

นายกิตติ  ทัฬหพงศ์  อายุ 39 ปี  ประกอบธุรกิจส่วนตัว  หนึ่งในผู้เสียระบุว่า  ได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้เข้าร่วมกลุ่มไลน์ของเครือข่ายดังกล่าว ทำให้หลงเชื่อข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทั้งภาพและข้อความเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัท  โดยตนเข้าร่วมลงทุนเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว  มีการระบุว่าบริษัทได้ทำข้อตกลงทางธุรกิจใหม่กับประเทศลาว  ตนนำเงินมาลงทุน 2 ครั้ง ครั้งแรก 150,000 บาท ได้ทุนคืนหมดแล้ว จึงลงทุนในครั้งที่ 2 อีก 150,00 บาท ซึ่งในครั้งนี้ได้ทุนคืน 100,000 บาท ขาดทุน 50,000 บาท ขณะที่เพื่อนสูญเงินลงทุนไปประมาณ 230,000 บาท

ด้านร.ต.อ.ไพรัตน์  กล่าวว่า  ขอเตือนประชาชนที่ได้รับการชักชวนจากบุคคลหรือนิติบุคคลให้ร่วมลงทุนในกิจการที่มีผลตอบแทนสูงควรไตร่ตรองและหาข้อมูลการประกอบกิจการให้ดี  ต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือและตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่ตรวจสอบได้ ปัจจุบันมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนและมีความเสียหายเป็นมูลค่าสูงหลายคดีที่ปปง.อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ

คมชัดลึก