วงเสวนาชัด’ชาติ’ทุกคนร่วมกันสร้าง อย่านำศาสนามาสร้างความแตกแยกเพื่อประโยชน์ตัวเอง

428

สถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี ได้จัดกิจกรรม สนทนาปัญหาคาใจของพี่น้องต่างศาสนา : ประวัติศาสตร์ การศึกษา และการสร้างชาติ”เพื่อสะท้อนมุมมองด้านประวัติศาสตร์ กับการสร้างชาติ กรณีที่มีการต่อต้านการเรียนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับมุสลิมและศาสนาอิสลาม ณ ศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ม.ล.วันชัย นวรัตน์ อิหม่ามธนารัช วัชระพิสุทธิ์ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรรัตน์ มีดร.สุภาสเมต ยุนยะสิทธิ์ จากสถาบันมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเสวนา

สถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา จัดตั้งโดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นทางสายกลางมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาแนวคิดที่รุนแรงที่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก มี ผศ.ดร.อับดุลเลาะฮ์ หนุ่มสุข เป็นผู้อำนวยการ

ผศ.ดร.อับดุลเลาะฮ์ กล่าวเปิดการเสวนาระบุว่า อาณาบริเวณที่เรียกกันว่า สุวรรณภูมิเป็นอาณาบริเวณที่ผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ ศาสนา ใช้ชีวิตทำมาหาเลี้ยงชีพมาอย่างปกติสุข ก่อนที่จะมีการบริหารจัดการทางสังคมที่เราเรียกว่ารัฐชาติสมัยใหม่ ศาสนาเป็นสายใยหลักให้ผู้คนได้ยึดโยงซึ่งกันและกัน ในอดีต เมื่อเราพูดถึงศาสนาเราหมายถึงโครงข่ายของสังคมเช่นเดียวกับโครงข่ายการศึกษา การค้า โครงข่ายการกุศล ระบบประกันสังคมต่อผู้ยากไร้ อนาถา แม่หม้าย เด็ก คนชรา ขณะเดียวกันศาสนาเป็นต้นน้ำของการปรับปรุงจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล โครงข่ายเหล่านี้ทำงานสอดประสานกันภายใต้การนำและการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ สังคมลักษณะนี้ได้ผลิตศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณกรรมที่รุ่มรวยและเป็นมรดกตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเป็นสมบัติสาธารณะร่วมกัน

ภาพขุนนางกรมท่าขวาในสมุดภาพริ้วขบวนพยุหะยาตราพระกฐินสถลมารค ภาพเขียนทหารม้าแขกรักษาพระองค์จากสมุดภาพขบวนพยุหะยาตรา ภาพชาวเปอร์เซียจิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ และวัตถุทางประวัติศาสตร์จำนวนมากล้วนชี้ไปในแนวทางเดียวกันว่า อารยะธรรมที่รุ่มรวยในสุวรรณภูมิเป็นผลงานของความร่วมมือของผู้คนต่างชาติพันธุ์ ศาสนา และความเชื่อ

ในอดีต เรื่อง Identity หรืออัตลักษณ์ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก มิใช่ว่าผู้คนไม่ตระหนักรู้ว่าตัวเองคือใคร พุทธ อิสลาม คริสต์ และศาสนาอี่นๆต่างมีคำสอนว่าให้รู้จักตัวเอง แต่การรู้จักตัวเองในอดีตคือการขัดเกลาจิตวิญญาณและการขจัดตัวตนหรือความเห็นแก่ตัวออกไป ครั้นเมื่อเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ แม้ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติ แต่สายใยเครือข่ายทางศาสนาที่เคยสอดประสานได้แตกสลายลงไป วัดและมัสยิดที่เคยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่จิตวิญญาณ ความเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ วัตรปฏิบัติที่ดีงาม มีความเป็นเนื้อเดียวกันกับวิชาความรู้เพื่อการดำเนินชีวิต ได้ลดบทบาทลง

การศึกษาสมัยใหม่ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการสร้างชาติมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการทำลายสายใยเหล่านี้ นักเรียนที่ผ่านกระบวนการศึกษาสมัยใหม่ถูกฝึกให้ทำงาน และเชี่ยวชาญในวิชาชีพ แต่สายใย จิตวิญญาณ ความอ่อนโยน ความเอื้อเฟื้อ ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน (Sense of Community) ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการศึกษาสมัยใหม่เท่าใดนัก

ผลก็คือ ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความผิดปกติทั้งหลายที่เกิดขึ้น มิใช่เป็นผลโดยตรงมาจากความแตกต่างทางศาสนาหรือความเชื่อ หากแต่เป็นผลมาจากการแตกสลายของสายใยทางสังคมที่ศาสนาเคยถักทอเอาไว้
การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในยุคสมัยของเรา เนื่องด้วยโซเชียลมีเดียอันเปรียบเสมือนคลื่นสึนามิที่มาถล่มสังคมของเรา ทำให้ความเกลียดชัง และการแตกแยก ยิ่งทวีความรุนแรงและแตกสลายมากขึ้น

‘ถึงเวลาแล้วที่เราจะคิดวิเคราะห์กันอย่างจริงจังและร่วมมือกันหาทางออก กิจกรรมการพูดคุยสนทนาในวันนี้จะเป็นก้าวแรกๆ แต่เป็นก้าวสำคัญในการริเริ่มการสานเสวนาถักทอสายใย และร่วมกันสร้างชาติในยุคสมัยของเรา’ผศ.ดร.อับดุลเลาะฮ์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวะสะฏียะฮ์ฯ กล่าวว่า เราคงได้รับรู้ รับทราบถึงปรากฏการณ์ของการตื่นกลัวอิสลามในสังคมไทยที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจ การคลาดเคลื่อนในข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริง และมาจากการใช้ทฤษฎีเหมารวมในการอธิบายสถานการณ์ต่างๆที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและความเข้าใจที่คับแคบของมุสลิมเอง อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรง และการโต้เถียงกันไปมาในโลกของโซเชียลมีเดียไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันในสังคมสมานฉันอย่างสังคมไทย และอาจบานปลายไปสู่การแตกแยกและการเกลียดชังระหว่างศาสนา เหมือนกับที่เกิดขึ้นในบางประเทศรอบบ้านของเรา

ด้วยเหตุนี้สำนักจุฬาราชมนตรีโดยสถาบันวะสะฏียะฮ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนาจึงได้ร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธและอิสลาม ทำงานด้านการสร้าง PlatForm (สร้างเวที สร้างพื้นที่) เพื่อการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ แก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและอคติระหว่างศาสนา และนำเอาบทสะท้อนและคำแนะนำของพี่น้องต่างศาสนามาสร้างการตรวจสอบแก่สังคมมุสลิมในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการร่วมมือและการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ อันจะทำให้สังคมไทยมีความสุขสันติ และส่งผ่านสังคมที่ดีเช่นนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป
ทั้งนี้ คำว่า วะสะฏียะฮ์ เป็นคำภาษาอาหรับ มีความหมายว่า ดุลยภาพ หรือทางสายกลาง วะสะฏียะฮ์ในอิสลามเป็นระบบของจักรวาล ระบบของโลก และระบบของมนุษย์และสังคมมนุษย์ในการอยู่ร่วมกันด้วยการเคารพและให้เกียรติ การให้ความเป็นธรรม การไม่เบียดเบียนและประทุษร้าย การไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม การให้อภัย และการแบ่งปัน


ผศ.ดร.โกวิท กล่าวว่า คำว่า ชาติ ความหมายตามหลักภาษา คือ ชาตะ คือ เกิด ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงที่เราแปลมาจากคำว่า Nation ในภาษาอังกฤษ ความหมายของชาติ ก็คือ ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะมี 2 ส่วน คือ การสร้างสัญลักษณ์ร่วมกันและการสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน ของไทยร่วมในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการคุมคามมาจากชาติตะวันตก มีการสร้างพระสยามเทวธิราช มีการสร้างประวัติศาสตร์ชาติขึ้นมา ซึ่งในอดีตความเป็นอาณาจักรไม่มีอาณาเขตที่แน่นอน ออกจากกำแพงพระราชวังก็เป็นป่าแล้ว พม่ายกทัพมาด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแคมป์ปลูกข้าว 1 ปี ค่อยยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดรัฐชาติขึ้นมา เริ่มจากยุโรปเมื่อ 400 ปีก่อน จึงมีการกำหนดอาณาเขตที่ชัดเจน ซึ่งมีปัญหาหลายประการ

‘ชาติ หมายถึงความรู้สึกร่วม ดังนั้นการแบ่งพรรคแบ่งพวกจึงเป็นการทำลายชาติ’ ผศ.ดร.โกวิท กล่าว

ม.ล.วันชัย นวรัตน์ กล่าวว่า คนเอเชียทั้งหมดมาจากแผ่นใหญ่ของจีน และมายังประเทศไทยกลายเป็นสยาม เราจึงมีคำพูดว่า เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกคนที่อยู่ในผืนแผ่นนี้ เป็นคนไทยไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนาใด เพราะทุกศาสนาสอนให้ทำดี มีความเอื้ออาทรในการอยู่ร่วมกัน ชาติจะอยู่ได้ทุกคนทุกศาสนาจะต้องร่วมมือกัน สร้างชาติเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดหรือลัทธิหนึ่งลัทธิใดสร้างขึ้นมา

‘ชาติไทยคนไทยเป็นผู้ร่วมสร้าง ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นกรอบ ถ้ากรอบดีชาติก็เจริญถ้ากรอบไม่ได้ชาติก็ไม่เจริญ ทุกคนต้องช่วยกันดูแลสังคม มองคนที่มีคุณค่าทางสังคม แล้วเลือกมาเป็นผู้นำ’ ม.ล.วันชัย กล่าว และว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ช่วยบำบัดความทุกข์ให้กับคนที่ศรัทธา อย่านำศาสนามาสร้างความแตกแยก เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือของคนบางกลุ่ม

นายธนารัช วัชระพิศุทธิ์ อิหม่ามประจำมัสยิดฮารูน กทม. กล่าวว่า การสร้างชาติกขอยกตัวอย่างในดินแดนอารเบียแตกแยกเป็นเผ่น มีความขัดแย้งกันรุนแรง รบราฆ่าฟันกันมาตลอด ยากมากที่จะรวบรวมเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่ศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)ทำก็คือ การพูดจริงทำจริง ดังนั้นบ้านเราทุกต้องพยายามโกหกให้น้อยลง และมีวิสัยทัศน์อันเฉียบขาด เวลาเป็นพ่อค้าก็เลือกของที่ดีที่สุดไปขายในราคาย่อมเยาว์ มีผู้นำที่มีวิทยปัญญา ในการบริหารก็ให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง ที่สำคัญต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต

‘การมีสัญลักษณ์เดียวกัน ชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ สิ่งนี้่ผมเชื่อ และศาสนาก็เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ของใครของมันทำไป ต้องความเป็นยูเนี่ยน ความเป็นเอกภาพ เราจึงต้องรวมกันมีความจริงใจต่อกัน ไม่ปิดบังกัน อย่างมัสยิดใครไปให้ให้เข้าเลย บอกค้นเลย ผมซุกอาวุธไว้ตรงไหน พวกเราไม่มี เพราะเรายึดหลักศาสนาที่ว่า ถ้าเราไปทำร้ายใคร เราไม่ใช่ผู้ศรัทธา

ส่วนเรื่องประวัติศาสตร์ อิหม่ามประจำมัสยิดฮารูน กทม. กล่าวว่า เมื่อเรารู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน ทำให้เรารู้สึกภูมิใจและจะต้องรักษาเอาไว้ ส่วนดร.โกวิท เห็นว่า ประวัติศาสตร์มักจะมองแต่ความแตกต่าง เราควรจะมองความเหมือนกัน สิ่งที่เป็นมาเหมือนกันเพื่อให้เกิดความสามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ส่วนเรื่องการศึกษา ดร.โกวิท เห็นว่า ระบบการศึกษาก่อให้เกิดปัญหา เพราะเป็นระบบที่สอนให้ท่องจำ เมื่อสอบเสร็จก็ลืมทำให้การวิเคราะห์แยกแยะไม่เป็น ได้ฟังอะไรมาก็ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ จึงก่อให้เกิดปัญหา ส่วนอิหม่ามมัสยิดฮารูน เห็นว่าการศึกษาควรจะได้เรียนรู้กันและกันของทุกฝ่ายเพื่อจะได้เข้าใจกัน อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ขณะที่ม.ล.วันชัย เห็นว่า การศึกษาจะต้องสร้างจิตสำนึกในความรักชาติ การอยู่ร่วมกันเป็นชาติ ซึ่งควรจะนำวิชาหน้าที่พลเมืองที่หายไปกลับมา เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกเยาวชนในการสร้างชาติ