2 ทัศนะที่แตกต่าง “แต๊ะเอีย-อั่งเปา” มุสลิมรับได้และไม่ได้

มีทัศนะที่แตกต่าง เรื่องการรับอั่งเปาหรือแตะเอีย ในเทศกาลตรุศจีนว่า มุสลิมสามารถรับได้หรือไม่

อ.บรรจง บินกาวัน ให้ความเห็นในบทความระบุว่า อั๋งเป๋านั้น มุสลิมสามารถรับอั๋งเป๋าได้ เพราะมันเป็นคล้ายๆกับเงินโบนัส ที่เขาให้กับลูกน้อง ในฐานะที่ลูกน้องช่วยทำงานมา ทำให้เขามีกำไร มีรายได้ขึ้นมา มีความมั่งคั่งขึ้นมา เขาก็เลยตอบแทนลูกน้อง ทำให้สามรถรับอั๋งเป๋ารับได้นั้นเอง
หรือในส่วนผู้สื่อข่าวมุสลิมไปทำข่าวต่างๆแล้วในงานมีการแจกอั๋งเป๋า มุสลิมสามารถรับได้ เพราะเขามีตังค์แล้วอยากจะแจก เพราะวันตรุษจีนเป็นการปิดบัญชีของคนจีนเขา ก็เหมือนสากลสิ้นปีที่มีการแจกโบนัส โบนัสไม่ได้เป็นพิธีกรรมศาสนา เพราะแบ่งปันผลกำไร เป็นกำลังใจให้แก่คนที่ทำงานให้เขามั่งคั่งขึ้น เหมือนเป็นการตอบแทน แต่เรื่องอาหารการไหว้เจ้า อาหารที่นำไปไหว้เจ้าโดยตรงมันกินไม่ได้อยู่แล้ว”

ขณะที่อีกทรรศนะหนึ่ง จากเวบไวด์ Thaimuslim ระบุว่า ในเทศกาลตรุษจีน จะมีการใช้คำว่า “ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” แปลว่า “ขอให้โชคดีปีใหม่” ซึ่งเป็นคำอวยพรของชาวจีน และลูกหลานมักจะพูดกลับไปว่า “อั่งเปา ตั่วๆไก๊ไล้” แปลว่า ขอซอง หนาๆ นะ ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน ในเทศกาลนี้จะมีการแจกอั่งเปา หรือแต๊ะเอีย และมีการทำของเซ่นไหว้เจ้าตามความเชื่อของชาวจีน

มุสลิมรับได้หรือไม่?

ชาวจีนมีความเชื่อว่า “อั่งเปา ซองแดงบรรจุธนบัตรเป็น ของขวัญ ในการเริ่มต้นชีวิตในขวบปีใหม่และการพักผ่อนอันเบิกบานติดต่อกันนานหลายๆ วัน” ซึ่งมุสลิมไม่มีความเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะอิสลามมิได้ระบุว่า การเริ่มต้นชีวิตใหม่ต้องรอให้ถึงสิ้นปี ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ้นเดือนซุลหิจญะฮฺ ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปฏิทินอิสลามก็ตาม

ส่วนเงินที่ได้รับในวันตรุษจีนนี้จึงเรียกว่า เงินแต๊ะเอีย และถือว่าเป็นโชคลาภอย่างหนึ่งซึ่งคนจีนรวมทั้งคนไทยเชื้อสายจีนได้ตั้งความ ปรารถนาจิตใจจดจ่อที่จะได้รับในวันตรุษจีน ฉะนั้นซองที่เรียกว่า เงิน (หรือซอง) แต๊ะเอียก็ถือว่าเป็นโชคลาภอย่างหนึ่ง ซึ่งโชคลาภข้างต้นเป็นความเชื่อของชาวจีน ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรกับมุสลิมเลยแม้แต่น้อย เพราะมุสลิมถูกสอนให้เชื่อว่าความจำเริญ (บะรอกัต) นั้นมาจากพระเจ้า หรือสิ่งที่พระเจ้ากำหนดไว้เท่านั้นว่าสิ่งนั้นทำแล้วมีความจำเริญ สิ่งนั้นทำแล้วได้รับความเมตตา

สรุปได้ว่า ไม่ว่าเงิน หรือซองจะเรียกว่า “อั่งเปา” หรือเรียกว่า “แต๊ะเอีย” ล้วนมาจากความเชื่อของชนชาวจีนทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม จึงวายิบ (จำเป็น) จะต้องหลีกห่างกับแนวความเชื่อข้างต้น

เป็น 2 ทัศนะที่แตกต่าง ซึ่งเป็นการ “ตีความ” ตามความเห็นของผู้เขียนบทความ มุสลิมนำไปใคร่ครวญพินิจพิจารณาได้ตามสติปัญญาว่า จะตีความแบบแคบหรือแบบกว้างๆ อยู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม

เรียบเรียงโดย Mtoday