ผ่าทางตัน!”สมชาย”แนะทางเลือก แก้พ.ร.บ.งบฯ สะดุด”โหวตใหม่-ออก พ.ร.ก.”

114

สว.”สมชาย” แนะ ทางเลือกแก้ปัญหา พ.ร.บ.งบฯปี63 สะดุด เสนอ 2 แนวทาง ออก พ.ร.ก. ให้ สภาฯหรือ วุฒิสภา เห็นชอบ หรือ ให้ ให้ ก.คลัง ออก พ.ร.ก.กระตุ้นศก.นำเงินออกมาใช้จ่ายก่อน เผยเคยนำมาใช้ได้สมัย รัฐบาล”ยิ่งลักษณ์”

24 ม.ค.63 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “สมชาย แสวงการ” ระบุว่า..รัฐบาลต้องตัดสินใจด่วนแก้ไขปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 สะดุด ทางเลือกคือตรวจสอบกฎหมายให้ชัดเจนว่านำเข้าสภาโหวตใหม่ได้หรือไม่ หรือ ออกพระราชกำหนดแก้ไขปัญหาทางการเงินเร่งด่วน

จริงอยู่ครับว่างบประมาณแผ่นดินนั้นจะต้องตราเป็นกฎหมายโดยผ่านรัฐสภา แต่เหตุล่าช้าในการใช้งบประมาณ 2563 เม็ดเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจยามวิกฤติสงครามการค้าและวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศมิอาจรอได้และดูจะริบหรี่ล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 1-3 เดือนหรืออาจมากกว่า

เหตุเพราะปัญหาที่ทั้ง ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล คงต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีปัญหาการมีผู้กดบัตรลงคะแนน ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่ในสภาบางมาตราและหลากหลายกรณี

ในฐานะที่เคยเป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในหลายคดีรวมถึงคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีการออก พ.ร.บ.เงินกู้2ล้านล้านในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น

แม้ศาลรัฐธรรมนูญท่านจะให้ความสำคัญพรงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เป็นต่อประโยชน์สาธารณะมากเพียงใดก็ตาม ก็คงต้องให้เวลาศาลรัฐธรรมนูญท่านได้ไต่สวนข้อเท็จจริงซึ่งมีหลายกรณีตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากประสบการณ์คงต้องใช้เวลาไต่สวนและให้ส่งเอกสารประกอบคำชี้แจงทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายถูกร้อง หลายครั้ง และใช้เวลาแต่ละนัดรวมกัน 1-2 เดือน

ถ้ากรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีบางส่วนที่ขัดหรือแย้ง และต้องกลับไปให้ ส.ส. ส.ว.ลงมติใหม่บางส่วน ก็จะใช้เวลารวมกันกว่าจะใช้งบประมาณ2563ใหม่นี้ได้อย่างเร็วก็ราวเดือนเมษายน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 เสียไปทั้งฉบับ และอาจต้องเสนอใหม่ทั้งหมด

กระบวนการทั้งหมดคงเสร็จเลยปีงบประมาณ2563 ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ คงยากจะคาดเดา

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาตัดสินใจแก้ไขปัญหานี้เป็นการเร่งด่วนโดย

1) ออกเป็นพระราชกำหนดพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี2563 ตามวงเงินที่สภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาแก้ไขแปรญัตติแล้ว 3.2ล้านล้านบาทและนำพระราชกำหนดดังกล่าวเข้าผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา หรือ

2) ออกพระราชกำหนดวงเงินให้กระทรวงการคลังใช้เงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวนหนึ่ง เช่น 6 แสนล้านบาท เท่ากับเม็ดเงินที่เตรียมไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 63

ซึ่งการออกพระราชกำหนดนั้นถือเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่สามารถกระทำได้ในยามจำเป็นเร่งด่วน และมีตัวอย่างที่รัฐบาลในอดีตสามารถออกพระราชกำหนดทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจประเทศเป็นการจำเป็นเร่งด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้และลับ

เช่น เมื่อ พ.ศ.2541 รัฐบาลออกพระราชกำหนด บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ซึ่งออกมาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำในสมัยพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี และสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ.ศ.2552 คณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 แต่เมื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 99 คน เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดนี้ออกตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรคหนึ่ง คือ ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษา ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือวรรคสอง คือ ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น รีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่

ในระหว่างนี้เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ได้รับคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งกรณีตัวอย่างนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วและพิจารณาเห็นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของการเข้าชื่อเสนอความเห็น จึงมีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณา จึงได้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ พร้อมทั้งแจ้งให้นายกรัฐมนตรีในฐานะคณะรัฐมนตรี นายประเกียรติ นาสิมมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็น ได้จัดทำคำชี้แจง หรือ เสนอความเห็นเป็นหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552

และในวันรุ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งพิจารณาเพื่อรับฟังคำชี้แจงและแสดงความเห็นจาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนผู้เสนอความเห็น และ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้แทนนายกรัฐมนตรีในฐานะคณะรัฐมนตรี และอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายทำความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ก่อนการวินิจฉัย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน 2552

ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ได้วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ตราขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะและเป็นความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา184