“ทักษิณ” เขียน บทความ วิเคราะห์ ศก.ไทย กำลังย้อนรอย วิกฤต”ต้มยำกุ้ง”ปี 40 ชี้ กำลังดิ่งเหว จากปัญหา ค่าบาทแข็ง กระทบส่งออก เตือน รบ.เร่งแก้
วันที่ 5 ก.พ.63 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขียนบทความเผยแพร่ผ่าน นสพ.ออนไลน์ Thai Enquirer มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในส่วนของภาษาไทยมีเนื้อหาบางส่วน ดังนี้
เศรษฐกิจไทย ซึ่งเคยเป็นที่อิจฉาของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แต่ไม่นานมานี้ การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ได้ถดถอยลงเรื่อยมา จนวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยถูกจัดว่าเป็นเศรษฐกิจที่ตามหลังประเทศอื่นในภูมิภาค
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกลายเป็ประเทศที่แย่ที่สุดและมีแนวโน้มจะแย่ลง ไม่มีท่าว่าจะดีขึ้นอย่างเร็ววัน
แต่ท่ามกลางหลายๆ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ยังมีบางภาคส่วนในสังคมเจริญรุ่งเรือง และจุดนี้กลายเป็นช่องว่างที่ขยายขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มชนชั้นที่มีโอกาสและกลุ่มชนที่ด้อยโอกาส
สภาวะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะที่คนชนชั้นบนของสังคมยังคงได้รับประโยชน์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องทนทุกข์ต่อไป ไม่เคยมีมาก่อนที่คนด้อยโอกาสจะประสบความยากลำบากอย่างวันนี้
ขณะที่เศรษฐกิจโลกประสบวิบากกรรมของเศรษฐกิจผ่านความโกลาหลมาหลายครั้งหลายครา แต่ผ่านพ้นมาได้ทุกครั้ง บทเรียนที่ประเทศไทยเรียนรู้จากเศรษฐกิจปี 2540 เป็นที่เรื่องที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ปี 2540
วิกฤติการณ์วันนี้พอที่ทำให้เราเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเงินในปี 2540 หรือที่เรียกว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง
เหตุผลที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันสิ้นหวัง ไม่ได้มีสาเหตุมาจากระบบการเงินของประเทศไทยในสถานะย่ำแย่เหมือนปี 2540 แต่เป็นเพราะระบบการเงินไทยแข็งแรงเกินไปและไม่ได้สนับสนุนพอให้พยุงภาคธุรกิจ เนื่องจากความหวาดระแวงว่า สถานภาพทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ ถ้าเศรษฐกิจแย่ลง
ความหวาดกลัวนี้ประกอบกับการใช้วิถีความคิดของพวกคนรวยสร้างวงจรที่บั่นทอนประเทศ สถาบันธนาคารในประเทศของเราก็มีส่วนทำให้คนรวยร่ำรวยขึ้น ขณะที่กำลังปล่อยให้คนจนจนมากขึ้น
ประเทศไทยในปัจจุบันนี้ สิ่งที่ประจักษ์ดี คือ สถาบันธนาคารสนับสนุนแต่ธุรกิจยักษ์ที่มีแต่จะโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนทั่วไป ยังคงต้องตะเกียกตะกาย เวลาที่จะขอการสนับสนุนให้ได้เงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงิน
นอกเหนือจากประเด็นนี้ คือ ความจริงที่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ทำตัวเป็นองค์กรอิสระอย่างที่ควรจะเป็น แทนที่จะขอให้ธนาคารต่างๆ ช่วยสภาพคล่องให้ธุรกิจคนทั่วไป เหมือนว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางให้ธนาคารต่างๆ ทางเดียวกัน ให้ช่วยคนรวยและธุรกิจยักษ์ใหญ่เท่านั้น
ภาคส่งออกในตลาด 5 เดือนที่ผ่านมา หดตัวและตามที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่า ส่งออกไทยปี 2563 จะหดตัว 0.9-2.4% จากตัวเลขส่งออกปี 2562
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของสภาวะการไหลออกของเงินทุน ผมขอเน้นอีกครั้งว่า ภาวะเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มคนรวย
ปัญหาของเรา คือ ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้เป็นพวกที่สนใจแต่เฉพาะมุมมองด้านการตลาดมากกว่าการมองว่า นโยบายต่างๆที่ออกมานำไปใช้ได้จริงหรือไม่
ถ้ามองไปที่นโยบาย ชิมช้อปใช้ ออกมาโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นได้ว่า เป็นนโยบายทางการตลาดอย่างสิ้นเชิง การใช้เงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการนี้ เป็นเงื่อนไขที่จะนำประเทศไปสู่การล้มละลาย
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยผลักดันเงินเข้าสู่กระเป๋าของผู้คน คือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้คนสามารถออกมาจับจ่ายใช้สอยและเกิด Trickle down effect หรือเงินไปถึงประชาชนรากหญ้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโต
ความเคราะห์ร้ายที่ตามมาซ้ำสอง คือ การส่งออกของไทยที่ชะงักงัน ค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นและการหดตัวของการบริโภค
ปิดท้ายจุดนี้ คือ การลงทุนภาคเอกชนที่ชะงักงัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศเรา