เปิดคำแถลง! BRN ครบรอบ60ปี ฉายภาพ ปกป้องเด็ก จากการขัดกัน ทางอาวุธ

ภัณฑารักษ์ ศูนย์เฝ้าระวังไฟใต้ เปิดคำแถลง “ขบวนการบีอาร์เอ็น” ว่าด้วยเรื่อง “การปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ” ทางการเมืองวาระครบ 60 ปี องค์กรลับแห่งนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตมากมาย และเตือนให้สังคมไทยต้องจับตา

วันที่ 13 มี.ค.63 นายรอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา “บีอาร์เอ็น” ได้ลงนามในคำแถลงฝ่ายเดียวว่าด้วยเรื่อง “การปกป้องเด็กจากผลกระทบของการขัดกันทางอาวุธ (Armed Conflict) นับเป็นความก้าวหน้าทางการเมืองที่ควรต้องบันทึกไว้ในวาระครบรอบ 60 ปีของการจัดตั้งองค์กร ซึ่งก็คือ วันนี้ 13 มี.ค.2563) เอกสารที่ว่านี้เผยแพร่ในเว็บไซต์ theirwords.org ซึ่งรันโดย Geneva Call องค์กรอิสระที่โปรโมตหลักการและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธทั่วโลกเคารพในหลักการที่ว่านี้

 บีอาร์เอ็น – องค์กรใต้ดินที่ใช้กำลังอาวุธต่อต้านรัฐบาลไทยและมีอิทธิพลมากที่สุดในขณะนี้ – ก็ลงนามในเอกสารที่น่าจะแปลได้ว่า #คำแถลงแสดงเจตจำนงค์แห่งพันธกรณี (Deed of Commitment, แปลเล่น ๆ ว่า #คำแถลงคำมั่น ) ซึ่งถือเป็นการริเริ่มทางการเมืองฝ่ายเดียว ลงนามโดยผู้แทนของบีอาร์เอ็น 2 คน คือ 1) Zaid Bin Fadhhil ระบุตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้บัญชาการ  และอีกคนคือ Anas Hamka Bin Haji Abudul Rahman ระบุตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาการเมือง  คนนี้เราเพิ่งจะคุ้นเคยกันและน่าจะใช่ #อุสตาสหีพนี หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นคนล่าสุด

ส่วนคนที่ลงนามอีก 2 คน เป็นฝรั่ง คนแรกเป็นผู้ชายซึ่งเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของ Geneva Call อีกคนเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นผู้ว่าการสาธารณรัฐแห่งเจนีวา ซึ่งเป็น 1 ในรัฐย่อย ๆ ภายใต้ระบบสหพันธรัฐของสวิสเซอร์แลนด์

เอกสารที่มีอยู่สองภาษา (อังกฤษและมาเลย์) ชิ้นนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง #โดยตรง กับการพูดคุย/เจรจาสันติภาพที่พวกเขากำลังทำกับรัฐบาลไทยและบรรดาคนกลางต่าง ๆ แต่เราพอจะพูดได้ว่านี่คือ จังหวะก้าวของบรรดากระบวนการทางการเมืองที่บีอาร์เอ็นกำลังตั้งหลัก ต่อยอด และริเริ่มขึ้นมาใหม่อย่างแน่นอน

ถามว่านี่คือการยกระดับการต่อสู้ของพวกเขาหรือไม่? คำตอบคือใช่ ถามว่านี่คือการยกระดับเรื่องราวของ #ปาตานี ในเวทีระหว่างประเทศหรือไม่? คำตอบก็คงใช่อีกเช่นกัน เรื่องนี้คงสร้างความลำบากใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ #บางส่วน ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับพลเรือนอย่างเรา ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง การริเริ่มฝ่ายเดียวเช่นนี้ ควรต้องสนใจและอย่างน้อยที่สุดก็แสดงความยินดี

นับเป็นเรื่องใหม่ที่เรา ๆ ไม่เคยเจอมาก่อนครับ แต่ถึงอย่างนั้น ต่อจากนี้ เรา ๆ ควรต้องจับจ้องและตรวจสอบว่าองค์กรอย่างบีอาร์เอ็นจะทำตามที่ได้ให้คำแถลงเหล่านี้ไว้หรือไม่ ต่อจากนี้ ฝ่ายที่ต้องถูกตรวจสอบ #อย่างเป็นทางการ จะไม่ได้มีแค่เพียงฝ่ายกองกำลังของ #รัฐไทย เท่านั้น

พวกเขาให้คำมั่นอะไรกับเราบ้าง? มีหลายเรื่องทีเดียว แต่หลักใหญ่คือการพิทักษ์ปกป้องให้เด็ก ๆ ห่างไกลจากผลกระทบของการปะทะสู้รบกันของฝ่ายต่าง ๆ บีอาร์เอ็นประกาศเองว่าต้องทำหลายอย่าง แปลอย่างสรุปและย่นย่อ ดังนี้

1) บีอาร์เอ็นจะไม่ใช้เด็กในการสร้างการเป็นปรปักษ์ (hostilities)

2) บีอาร์เอ็นจะไม่ชักชวนเด็กเข้าสู่การเป็นกองกำลังของพวกเขา โดยที่เด็ก ๆ เหล่านั้นจะอาสาหรือไม่อาสาก็ตาม

3) บีอาร์เอ็นจะไม่บังคับเด็กให้เข้าร่วมในกองกำลังของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือแค่งานสนับสนุน หากพบว่ามีจะต้องจัดการอย่างทันที

4) บีอาร์เอ็นจะทำให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ จะไม่อยู่ร่วมกับกองกำลังขณะมีปฏิบัติการทางทหาร

5) บีอาร์เอ็นจะปฏิบัติต่อเด็ก ๆ ถูกกักตัวหรือคุมขังด้วยเหตุผลของความขัดแย้งทางอาวุธ บนฐานของความเป็นมนุษย์ระหว่างที่พวกเขาอาจต้อง จะไม่มีการลงทัณฑ์ด้วยการประหารชีวิตเด็ก ๆ ในทุกข้อกล่าวหา

6) การจัดการปลดปล่อยเด็กออกจากกองกำลังของบีอาร์เอ็นจะต้องทำด้วยวิธีการที่ปลอดภัย พร้อมกับความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องเด็ก

7) บีอาร์เอ็นจะพยายามจัดหาความช่วยเหลือและการดูแลเด็ก ๆ ในเขตที่พวกเขาครอง (areas where we exercise authority) ให้เข้าถึงความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมหรอด้านการพัฒนา อาทิเช่น เข้าถึงอาหาร การดูแลสุขภาพ การศึกษา กิจกรรมสันทนาการ ปกป้องเด็ก ๆ จากการละเมิดทางเพศ อำนวยความสะดวกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ทั้งความต้องการพื้นฐานและการให้อยู่ร่วมกับครอบครัวของพวกเขา และหลีกเลี่ยงการใช้โรงเรียนด้วยเป้าหมายทางทหาร เป็นต้น

8) บีอาร์เอ็นจะสั่งการไปยังหน่วยงานทางการเมืองและการทหาร บรรดาผู้บัญชาการและนักรบของพวกเขาให้ปฏิบัติตามพันธกิจนี้ ซึ่งรวมไปถึงมาตรการในการเผยแพร่และฝึกอบรม หากพบว่ามีการละเมิด จะมีมาตรการให้ยุติการกระทำดังกล่าวในทันที พร้อมด้วยการสอบสวนและลงโทษตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

9) บีอาร์เอ็นจะอนุญาตและให้ความร่วมมือในกระบวนการติดตามและตรวจสอบการดำเนินการตามคำมั่นดังกล่าวนี้ของ Geneva Call และองค์กรอิสระอื่น ๆ

10) บีอาร์เอ็นจะถือว่าคำมั่นนี้เป็นจังหวะก้าวและส่วนหนึ่งของการยึดถือในหลักการมนุษยธรรมอื่น ๆ ทั้งในแง่ของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

11) คำแถลงคำมั่นนี้ (DoC) จะไม่มีผลต่อสถานะทางกฎหมายของบีอาร์เอ็นตามมาตรา 3 ร่วมแห่งอนุสัญญาเจนีวา

12) บีอาร์เอ็นเข้าใจว่า Geneva Call จะเผยแพร่ผลการปฏิบัตตามหรือไม่ปฏิบัติตามคำแถลงนี้ต่อสาธารณะ

13) บีอาร์เอ็นปรารถนาให้กลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่น ๆ ยึดถือตามแนวทางในคำแถลงนี้ด้วย

14) คำแถลงคำมั่นนี้ (DoC) จะถือเป็นส่วนที่เติมเต็มหรือแทนที่คำประกาศอื่น ๆ ที่เคยมีมาของบีอาร์เอ็นเกี่ยวกับเด็กในการขัดกันทางอาวุธ

15) ข้อสงวนใด ๆ ที่จะมีขึ้นต่อคำแถลง (DoC) นี้จะต้องสอดคลอ้งไปกับวัตถุประสงค์ กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และพิธีสารเลือกรับเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the Involvement of Children in Armed Conflict

16) คำแถลงคำมั่น (DoC) ฉบับนี้จะมีผลในทันทีหลังจากการลงนามและเก็บรักษาไว้ของรัฐบาลแห่งสาธารณะรัฐเจนีวา

คำมั่นนี้สำคัญและชี้เป็นชี้ตายสถานะทางการเมืองของบีอาร์เอ็น การติดตามตรวจสอบให้เป็นไปตามนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน คุณ ๆ จะเริ่มเห็นเส้นบาง ๆ ที่แบ่งระหว่างแง่มุมในด้านมนุษยธรรม ในความขัดแย้งที่เล่นกันถึงตายนี้ กับ ความเป็นการเมือง โดยเฉพาะเรื่องที่อ่อนไหวเปราะบางที่สุดอย่างเรื่องเด็ก  แต่อย่างน้อย ก็ทำให้ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมาหลายปีนี้ถูกยกระดับให้มีอารยะมากขึ้น พัฒนาการเช่นนี้น่าสนใจมากครับ