รำลึก10ปี สลาย ชุมนุมปี53 “คณะก้าวหน้า” ตีแสกหน้า มีแต่คนได้ดี

209
คณะก้าวหน้า ย้อน 10 ปีสลายชุมนุม ทางการเมืองปี 2553 พร้อมตีแผ่น ผู้เกี่ยวข้องที่อยู่เบื้องหลัง สั่งการเข่นฆ่า ปชช. ยังอยู่ดีมีความสุข และได้รับ บำเหน็จ ได้ดี มีตำแหน่งใหญ่โต ทางการเมือง
วันที่ 14 พ.ค.63 คณะก้าวหน้า ย้อนรำลึก 10 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม ในเดือน พ.ค. 53 โดยระบุว่า วันนั้นถึงวันนี้ ยังไม่มีใครต้องรับโทษ แถมยังได้ดิบได้ดีต่างกันไป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์, พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ชื่อผู้คนเหล่านี้อาจเคยผ่านหูผ่านตาของหลายคนมาบ้าง แต่หลายคนก็อาจลืมไปแล้วหรืออาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าพวกเขาเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมอันนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนนับร้อยนับพันเมื่อปี 2553
ในโอกาสครบ 10 ปี ของการสลายการชุมนุม เราขอชวนย้อนดูว่าในเวลานั้นว่าพวกเขาเหล่านี้ ดำรงตำแหน่งอะไรกันบ้าง มีบทบาทอย่างไรในการสลายการชุมนุม?
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการชนะเลือกตั้ง แต่ที่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้เกิดจากการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของพรรครัฐบาล นำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่ม นปช. เพื่อให้รัฐบาลยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้ง กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการให้ใครเป็นผู้นำประเทศ
“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีและสวมหมวกอีกหนึ่งใบคือการเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ผู้มีส่วนสำคัญในการบัญชาการสลายการชุมนุม
“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” นายทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังมีบารมีในกองทัพเป็นอย่างมาก เนื่องจากคือประธานมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และเป็นพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ หรือแก๊ง 3ป. ได้รับความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีบทบาทเป็นรอง ผอ.ศอฉ
“อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นพี่รองบูรพาพยัคย์ และทำหน้าที่ หัวหน้าผู้รับผิดชอบในเขตท้องที่ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและผู้ช่วยผู้อำนวยการและคณะกรรมการ ศอฉ.
“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ขณะเกิดเหตุการชุมนุมและเกิดความสูญเสียนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก โดยหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่เดือน ก็ได้รับเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยรับราชการครั้งแรกในยศร้อยตรีที่เดียวประวิตร วงษ์สุวรรณที่ในขณะนั้นมียศร้อยเอก
“ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” เพื่อนร่วมรุ่นประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั้นเป็นรองเสนาธิการทหารบก ผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ในการสลายการชุมนุม
“กัมปนาท รุดดิษฐ์” ในเวลานั้นเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และเป็นผู้นำทหารที่มีบทบาทสำคัญอีกคนหนึ่งในการควบคุมการชุมนุมของประชาชน
“อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารของรัฐบาลอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ยังเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการนำกำลังไปปราบกลุ่ม นปช. ที่สถานีไทยคม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
“สรรเสริญ แก้วกำเนิด” ขณะนั้นเป็นโฆษก ศอฉ. ผู้มีส่วนสำคัญในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและจิตวิทยาเพื่อสร้างความรับรู้ต่อคนในสังคม ทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมไปในทางลบ และสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินการของ ศอฉ. และยังเป็นผู้ที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากการทำหน้าที่กระบอกเสียงของรัฐบาล
ย้อนกลับไปหลังการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฏาคม 2554 ประชาชนเริ่มมีความหวังว่ากระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระจะสามารถลากคอคนผิดมาลงโทษได้ จากผลการไต่สวนในชั้นศาลอย่างน้อย 18 คนที่เสียชีวิตโดยกระสุนจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร
แต่ความหวังเหล่านั้นก็พังทลายลงอีกครั้งเมื่อมีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ทั้งกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระต่างหันหลังให้กับความจริงและล้มเหลวในการนำคนผิดมาลงโทษ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่มีส่วนในการสลายการชุมนุมยังได้ดิบได้ดี ก้าวหน้าในอาชีพการงานหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกด้วย
คนเหล่านี้ที่มีบทบาทสำคัญในวันนั้น วันนี้พวกเขามีบทบาทอะไรในสังคมไทยกันบ้าง?
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หลังแพ้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และลาออกจากการเป็น ส.ส. จากเหตุการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์หันไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ประกาศก่อนเลือกตั้งว่าจะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล
“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ภายหลังรัฐประหาร 2557 ได้ไปบวชที่บ้านเกิดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังจากการสึกได้กลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้งในการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งยังเป็นผู้มีบทบาทในการสนับสนุนให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ตัวเองร่วมก่อตั้ง ไปเข้าร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหารกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาล คสช. และภายหลังการเลือกตั้ง 2562 ยังเหนียวแน่นได้กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสืบทอดอำนาจ และได้รับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐอีกด้วย
“อนุพงษ์ เผ่าจินดา” ภายหลังการรัฐประหาร 2557 และภายหลังการเลือกตั้ง 2562 เขายังคงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เปลี่ยนแปลง สามารถยึดกุมอำนาจบังคับบัญชาผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ
“ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้แต่งตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ครั้งนึงเคยกล่าวกับสาธารณชนว่าทหารจะไม่ทำการรัฐประหาร และยังได้เลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติขึ้นมาเอง เพื่อให้เป็นสภาตรายางกลับมาเลือกตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีและผ่านกฎหมายต่างๆ ตามที่ คสช. ต้องการ โดยปราศจากการตรวจสอบตามครรลองของระบบรัฐสภา
นอกจากนี้ภายหลังการเลือกตั้ง 2562 ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เกิดจากการวางกลไกต่างๆ ผ่านทางตัวบทกฎหมาย สถาบันทางการเมืองต่างๆ รวมทั้งองค์กรอิสระ จนสามารถสืบทอดอำนาจได้สำเร็จ
“ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” หลังรัฐประหาร 2557 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี
“กัมปนาท รุดดิษฐ์” หลังรัฐประหาร 2557 ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานพิเศษ ส่วนงานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช. และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป อีกทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปัจจุบันก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี
“อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ปัจจุบันเป็นผู้บัญชาการทหารบกที่มักออกมาให้ความเห็นที่เป็นไม่เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ยกมือโหวตประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. อีกด้วย
“สรรเสริญ แก้วกำเนิด” หลังรัฐประหาร 2557 เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (ภายหลังได้ถูกรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ร้องเรียนต่อประธานกรรมาธิการการป้องกันปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาผู้แทนราษฎร ว่าใช้อำนาจหน้าที่ช่วยเหลือให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้งปี 2562)
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกท่านอาจถามออกมาแรงๆ ว่านี่เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนกัน? จนทำให้พวกเรารู้สึกสิ้นหวังและศิโรราบกล้ำกลืนฝืนทนต่อสังคมกินคนเช่นนี้
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น สักวันหนึ่งความจริงก็คงจะถูกเปิดเผยและผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ ไม่มีใครสามารถลอยนวลพ้นผิดได้ตลอดไป ขอแค่ประชาชนผู้ที่มีใจรักความเป็นธรรมไม่หมดหวัง หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายแพ้ตลอดจนถอดใจไม่ใฝ่หาความจริงและความยุติธรรมใดๆ
มิเช่นนั้นเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวงจรอุบาทว์เสมือนว่าเราไม่เคยมีบทเรียน เจ็บแล้วไม่เคยจำ เจ็บแล้วยังต้องลืมมันไป พร้อมต้องกล้ำกลืนฝืนทนเห็นผู้สังหารประชาชนเติบโตได้ดิบได้ดีกันถ้วนหน้า