ย้อนรำลึกถึง แสงแห่งอภิรมย์ ณ นคร อดีตอธิการบดีม.รามฯ

980

เป็นบทความที่ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิด ‘วิสูตร สุจิระกุล’ เขียนถึงอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง’อภิรมย์ ณ นคร’ ผู้เคยโต้เถียงกับทหาร เพื่อช่วยลูกศฺษย์ที่ถูกจับกุม แต่ชีวิตในปั้นปลายค่อนข้างลำบาก ต้องลาออกจากราชการก่อนกำหนด เพื่อแก้ปัญหาที่ ไปค้ำประกันอาจารย์ 2 คนที่หนีการใช้ทุน

ผมคิดอยู่นานว่าควรเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่ เพราะเกรงว่าอาจมีการตีความกันไปเป็นเรื่องการเมือง จนละเลยถึงเจตนารมย์ของผม ที่ต้องการยกย่องคนดี ซึ่งอยู่ในใจของผมตลอดมากว่า 40 ปี แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่อยากให้มีอะไรมาติดค้างอยู่ในใจอีกแล้ว จึงตัดสินใจเขียนบทความนี้,

ผมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่านอาจารย์ อภิรมย์ ณ นคร อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง มานานมาก นับตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งเริ่มจากท่านเป็นผู้เสนอให้มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประกันตัวอดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ซึ่งเคยถูกจับกุมคุมขังในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นจำนวนหลายร้อยคน น้ำเสียงที่ท่านโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจว่า “คุณมาทำร้ายนักศึกษาของผมทำไม..แม้ตีผมยังไม่เคยตีเขา” ยังคงดังก้องกังวานอยู่ในใจผมและนักศึกษารุ่นนั้น มาจนถึงบัดนี้

ในอดีต มีนักศึกษาที่ทำกิจกรรม ซึ่งยากจน โดยเฉพาะนักศึกษาจากภาคใต้ ต่างเคยได้อาหารบรรเทาความหิวในมื้อเที่ยง รวมทั้งเงินค่าลงทะเบียนเรียน จากความกรุณาของท่าน เป็นจำนวนมาก

ตอนที่ท่านสมัครเป็นอธิการบดี ม.ร. ในปี 2523 และเป็นช่วงเดียวกับที่ผมเป็นนายกองค์การนักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) นักศึกษาจำนวนมากสนับสนุนท่าน จนท่านได้รับเลือกตั้งเป็นอธิการบดี (อธก.) ถือเป็นชัยชนะที่เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของ ม.ร. ที่เสียงของนักศึกษากลายเป็นเสียงชี้ขาดในตำนานการเลือกตั้งอธิการบดี

ในสมัยที่ อ.อภิรมย์ เป็น อธก. ผลงานหลัก ๆ ที่ท่านทำ คือการกวาดล้างมาเฟีย, หาบเร่แผงลอยใน ม.ร. การจัดศูนย์สอบในส่วนภูมิภาค และการบรรยายผ่านวิทยุและโทรทัศน์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาของ ม.ร. ไปทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสวัสดิการต่าง ๆ หลังจากท่านหมดวาระลงแล้ว ก็ลาออกจากมหาวิทยาลัย ผมไม่เจอ อ.อภิรมย์ อีกเลย นานหลายปี…,

กระทั่งในปี 2540 ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ผมเห็นชายสูงอายุท่านหนึ่ง เดินถือถุงพะรุงพะรัง ผมเข้าไปกราบท่าน เราต่างจำกันได้ และดีใจที่ได้พบกัน ท่านขอนัดคุยกับผมที่บ้าน เราคุยเรื่องทั่วไปสักพัก ท่านก็พูดขึ้นว่า ท่านยังคาใจ, อยากรู้มานานแล้วว่า กลุ่ม ชมรมต่าง ๆ ของนักศึกษา ซึ่งมีพลังมากในยุคนั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ผมแปลกใจเล็กน้อย แต่ก็หวนรำลึกขึ้นมาได้ว่า ตั้งแต่ทำกิจกรรม นศ. มา มีคนเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น ที่สนใจถามผมในเรื่องนี้ คือนักวิจัยชาวอเมริกัน ที่สนใจเรื่องของขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย และอีกท่านหนึ่งก็คือ อ.อภิรมย์ นอกจากนั้นไม่เคยมีใครถามถึงการก่อเกิดของขบวนการ นศ. ใน ม.ร. ทั้งที่เคยมีกำลังพื้นฐานถึงเกือบ 8,000 คน ผมบอกท่านว่าเรื่องมันยาว ค่อยเล่าให้ท่านฟัง

หลังจากนั้นก็พบกับท่านอีกหลายครั้ง ทุกครั้งผมจะขับรถพาท่านไปส่งที่บ้าน ผมสนิทสนมกับท่านมากขึ้น จนเกิดความรู้สึกว่าท่านเป็นพ่อของผม ท่านเป็นอาจารย์ที่ยากจนมากๆ บ้านที่อยู่เป็นทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กๆ ท่านต้องลาออกจากราชการก่อนกำหนด เพื่อเอาเงินบำเหน็จไปชดใช้ให้กับทางราชการเนื่องจากไปค้ำประกันอาจารย์ให้ไปเรียนเมืองนอกถึง 2 คน แต่ไม่ยอมกลับมาใช้ทุน ทำให้ท่านได้รับความยากลำบากมาก จนแทบไม่มีเงินเหลืออยู่เลยในวัยชรา ผมสงสารท่านมาก

จนวันหนึ่ง อ.อภิรมย์ บอกกับผมว่าอยากไปเที่ยวทะเลแถวพัทยา ท่านไม่ได้ไปนานแล้ว ผมรับอาสาพาไป เรานั่งคุยกันไปในรถ พร้อมกับเปิดเพลงสุนทราภรณ์ที่ท่านชอบ คลอเบาๆ ไปตลอดทาง พอถึงเขาเขียว ผมก็ถามท่านว่า เราจะไปเที่ยวพัทยาที่หาดจอมเทียน หรือที่จุดไหนดี อ.อภิรมย์ตอบผมว่า ท่านขอไปบ้านพักคนชราที่บางละมุง ท่านจะไปติดต่อขออยู่ที่นั่นในวาระสุดท้ายของชีวิต ผมตกใจมาก แล้วน้ำตาผมก็ไหลพรากออกมา หัวใจของผมปวดร้าว รันทดอย่างบอกไม่ถูก ผมถามว่า ได้ปรึกษาภรรยาและลูกของท่านแล้วหรือยัง อ.อภิรมย์บอกว่ายัง ท่านคิดของท่านเอง, ผมหยุดรถ แต่ก็ยังไม่หยุดร้องไห้ อ.อภิรมย์ เดินไปยังทุ่งหญ้าสีทองข้างทาง แล้วยืนหยุดนิ่ง มองไปยังภูเขาทะมึนเบื้องหน้า ตาผมจับจ้องไปที่ตัวของท่านและทุ่งหญ้า จิตใจล่องลอยไปไกลแสนไกล ผมไม่เคยมีอารมณ์ความรู้สึกต่อทุ่งหญ้าแบบนี้มาก่อนในชีวิต ภาพของต้นหญ้า ที่กำลังสั่นไหวเอนพลิ้วไปตามแรงลมหนาว ตัดกับภาพของชายชราที่ยืนสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว ดูช่างปวดร้าว ขมขื่นจริง ๆ คำถามในใจผมพรั่งพรูออกมา

ท่านผู้นี้หรือ คืออดีตอธิการบดี ม.ร. ที่มีนักศึกษามากที่สุดในประเทศไทย,
ท่านผู้นี้หรือ คือครูอาจารย์ที่เคยมีคุณูปการ ต่อนักศึกษาที่เคยยากลำบากมานับครั้งไม่ถ้วน,
วันนี้กลับคือคนที่มายืนดูภูเขาในทุ่งหญ้า อย่างโดดเดี่ยว เดียวดาย,
เราละเลยต่อท่านมาอย่างยาวนานได้อย่างไร,
เราเคยไปกราบท่านสักครั้งไหมในวันสำคัญ

น้ำตาผมยังไหลพรากไม่หยุด แต่ อ.อภิรมย์ ยังยืนสงบนิ่ง อีกเนิ่นนานหลายนาที,

ที่สุดผมก็ไม่ได้พาท่านไปที่บ้านพักคนชรา แต่แวะไปชายหาดบางแสนแทน ท่านขอยืนอยู่คนเดียวอีกบนหาดทรายสีขาวนวล ดวงตายังคงจ้องมองแต่ทะเล

บ้านของผมอยู่ชายทะเล ผมจึงรู้สึกผูกพันเป็นพิเศษกับทะเล ผมมองเห็นเกลียวคลื่นที่ม้วนตัวเข้าหาฝั่งเป็นระลอกๆ คล้ายการต่อสู้ของชีวิต ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคนานัปการ ผมมองเห็นภาพของเด็กตัวเล็ก ๆ ที่วิ่งเล่น สนุกสนาน บนหาดทรายสุดสายตา ภาพชาวประมงที่ต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางกระแสแห่งคลื่นลม ฯลฯ ทุกอย่างที่ผมเห็น ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่มีความเคลื่อนไหว แต่ภาพของ อ.อภิรมย์ กลับหยุดนิ่งไม่ไหวติง เหมือนกับที่ท่านได้ยืนอยู่ในทุ่งหญ้า

จากนั้นท่านก็เรียกผม บอกให้ผมหยุดร้องไห้ ผมถามท่านหลายเรื่อง ท่านจะเล่าเรื่องตั้งแต่ประวัติของพระเจ้าตากสิน, ตระกูล ณ นคร ของท่าน, เรื่องการไปเรียนเมืองนอก และเรื่องงานในตำแหน่ง อธก. พรูพรั่งทะลักออกมาเป็นระลอกเหมือนดั่งเกลียวคลื่น เมื่อเล่าถึงการทำงานในมหาวิทยาลัย อ.อภิรยม์ มองผมแล้วพูดคำสุดท้ายออกมาว่า

“ผมภูมิใจ…ผมไม่เคยทรยศมหาวิทยาลัย”

ก่อนเดินทางกลับ ท่านขอให้ผมพาไปดู ม.บูรพา เพราะท่านเป็นคนร่วมก่อตั้งมาด้วย ท่านถามหาอาจารย์บางท่าน แต่เกษียณไปหมดแล้ว จากนั้นผมพาท่านไปรับประทานอาหารที่เขาสามมุข บนโต๊ะอาหารผมยังหลั่งน้ำตาอีกหลายครั้ง เมื่อคิดถึงเรื่องของท่านขี้นมาอีก แม้ว่าอาหารวันนั้นรสชาติอร่อยมาก แต่น้ำตาที่ไหลลงมาปนข้าว ทำให้ผมรู้สึกว่าอาหารมื้อนั้นมีทั้งรสเค็มและขมขื่นอย่างบอกไม่ถูก

ถึงตอนนี้ อ.อภิรมย์ เล่าว่าบางวันที่ท่านเหงา คิดถึงมหาวิทยาลัย เพื่อไม่ต้องรบกวนใครท่านจะออกจากบ้านตอนรุ่งสาง ไปยืนเกาะรั้วดู ร.ร. มัธยมสาธิต ม.ร. ที่ท่านสร้างขึ้นมา แล้วก็เดินไปนั่งที่ลานพ่อขุน เคยมีอาจารย์หนุ่ม ๆ วิ่งผ่านมา แล้วถามท่านว่า “มาออกกำลังกายหรือลุง”

อ.อภิรมย์ เสียชีวิต เมื่อ 13 เม.ย. 2551, และสำหรับผม ก็ยังติดค้างท่านอยู่ ผมยังไม่ได้เล่าให้ท่านฟัง ถึงเรื่องการก่อกำเนิดและการพังทลายของขบวนการนักศึกษา ม.ร.

แด่..ท่านอาจารย์อภิรมย์ ณ นคร ด้วยความเคารพยิ่ง.

วิสูตร สุจิระกุล
21 พฤษภาคม 2563 (เฟซห้องตลาดนัดเด็กราม)
หมายเหตุ:

1. รศ.ดร.อภิรมย์ ณ นคร เกิดเมื่อปี 2473 ถึงแก่กรรมในปี 2551, เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.ร. (2523-2525), เป็นกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง ม.ร., คณบดีคณะศึกษาศาสตร์, ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนมัธยมสาธิต ม.ร.
2. ภาพ รศ.ดร.อภิรมย์ ณ นคร, จากหนังสือพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่าน, เมษายน 2551.
3. บทความนี้เคยเผยแพร่แล้วในปี 2561 ก่อนการเผยแพร่ ได้ขอให้อาจารย์อาวุโส ที่เคยเป็นเลขานุการของ อ.อภิรมย์ อ่านก่อนแล้ว ท่านสนับสนุนให้เผยแพร่ และลูกหลานของ อ.อภิรมย์ ได้อ่านแล้ว ดีใจ ที่มีการยกย่องเชิดชูท่าน ต่อมามีการเผยแพร่ไปยังชาวรามฯ กลุ่มอื่น ๆ อีกจำนวนมาก, เรื่องเดิม ดูได้ที่ FB วิสูตร สุจิระกุล.

https://www.facebook.com/groups/325097628463039/permalink/349011439404991/