ละหมาด! “รายอวิถีใหม่” ปลื้ม “พระสงฆ์ ” ปลายด้ามขวาน แจกเงินเด็กๆ

503
สำนักข่าวอิศรา รายงาน บรรยากาศวันเฉลิมฉลองอีฎิ้ลฟิตรี หรือวันฮารีรายอ ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 เมื่อสิ้นสุดเดือนรอมฎอนปีนี้ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ค.63 มีอิสลามิกชนเดินทางไปร่วมละหมาดตามมัสยิดต่างๆ อย่างหนาตา โดยมีการคัดกรองและเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
ตั้งแต่เช้าตรู่ มุสลิมทุกคนสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้าใหม่ เพื่อไปเยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) และอ่านอัลกุรอานแด่ผู้ที่ล่วงลับ จากนั้นก็ไปร่วมละหมาด ณ มัสยิดของแต่ละชุมชน ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีมีพี่น้องมุสลิมทั้งชายและหญิงไปร่วมละหมาดรายอจำนวนมาก ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า นำผ้าละหมาดและผ้ารองละหมาดส่วนตัวมา อาบน้ำละหมาดมาจากที่บ้าน การเข้าพื้นที่ละหมาดต้องผ่านจุดคัดกรอง มีแบ่งโซนทางเข้าแยกชายและหญิง มีการวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ลงทะเบียนและรับหมายเลขบัตรสำหรับจุดละหมาด ซึ่งแต่ละจุดห่างกัน 1-2 เมตร
ภายในมัสยิดสามารถรองรับมุสลิมได้จำนวน 612 คน นอกเหนือจากนั้นให้ละหมาดด้านนอกบริเวณริมสระน้ำ ลานด้านหน้า และด้านข้าง ลานหญ้าใต้ต้นไม้ ลานจอดรถ และริมรั้วด้านติดถนนใหญ่ เริ่มละหมาดเวลา 07.30 น. ใช้เวลาไม่นาน เมื่อจบการละหมาด ไม่มีการจับมือให้สลามกัน ละหมาดเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ ทุกมัสยิดปฏิบัติเหมือนกันหมด รวมถึงมัสยิดทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เสมือนหนึ่งเป็น “วิธีใหม่” หรือ new normal ของการปฏิบัติศาสนกิจ
เกือบทุกมัสยิดจะมีการแจกเงินรายอที่ได้จากการรับบริจาคของผู้มาร่วมละหมาด แล้วแบ่งปันอย่างเท่าๆ กันให้แก่เด็กๆ ในชุมชนนั้นๆ ท่ามกลางรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสดใส แม้ทุกคนยังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดและความไม่สงบที่ยังไม่จางหายไป ที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส มีการจัดพิธีละหมาดรายอรวมกันที่สนามกีฬามหาราช จากนั้นนายอำเภอได้มอบข้าวสารชุดละ 1 กิโลกรัมสำหรับผู้ที่มาละหมาดทุกคน เพื่อเป็นของขวัญรับเทศกาลฮารีรายออิฎิ้ลฟิตรี จากนั้นแต่ละบ้านได้เปิดบ้านต้อนรับเพื่อนบ้านและผู้มาเยือน แต่ด้วยมาตรการเข้มงวดที่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด จึงไม่ค่อยเห็นมุสลิมนั่งรถเต็มคันเพื่อไปเยี่ยมญาติที่อยู่ต่างจังหวัดเหมือนปีก่อนๆ แต่ใช้วิธีส่งคำอำนวยพรเนื่องในวันฮารีรายอผ่านสื่อออนไลน์แทน
ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี มีเรื่องฮือฮาเกิดขึ้น เมื่อมีพระรูปหนึ่งยืนแจกเงินเด็กๆ และเยาวชนมุสลิมบริเวณหน้ามัสยิด โดยพระพูดภาษายาวีกับชาวบ้านด้วย โดยบอกว่าแจกเงินแบบนี้ทุกปี ปีนี้แลกมา 10,000 บาท ทั้งยังพูดกับเด็กๆ หลังจากแจกเงินว่า “เขาจะละหมาดแล้ว รีบๆ เข้าไปในมัสยิดเถิด” เหตุการณ์นี้มีคนถ่ายคลิปเอาไว้ และแชร์ต่อกันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ โดยมีกระแสชื่นชมจากคนในพื้นที่ว่าเป็นภาพประทับใจ
หลายคนสงสัยว่าพระรูปนี้คือใคร บ้างก็ว่าน่าจะเป็น “ท่านเวาะ” หรือ พระอาจารย์เรวัต ถิรสทฺโธ เจ้าอาวาสวัดเทพนิมิต หรือ “วัดบ้านกลาง” อ.ปะนาเระ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ถูกทิ้งร้างช่วงเกิดสถานการณ์ความไม่สงบ กระทั่งท่านเวาะย้ายจากวัดตุยง หรือวัดมุจลินทวาปีวิหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มาทำหน้าที่เจ้าอาวาส ทำให้วัดกลับมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธอีกครั้ง ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของพี่น้องพุทธและมุสลิมในพื้นที่นี้ด้วย เพราะชาวบ้านจาก 2 ศาสนิกช่วยกันซ่อมแซมกุฏิพระที่วัดจนเสร็จสมบูรณ์ หลังจากท่านเวาะเข้ามาจำพรรษาเมื่อปี2561
“ละหมาดศุกร์ – ดูดวงจันทร์” คุมเข้มมาตรการสกัดโควิด ไม่เพียงพิธีละหมาดวันรายอเท่านั้นที่มีแนวปฏิบัติเป็น “วิถีใหม่” เพื่อป้องกันโรคระบาด แต่กิจกรรมที่ทำเพื่อรกำหนดวันรายอ หรือวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (เดือนที่ต่อกับเดือนรอมฎอน) และการละหมาดวันศุกร์ ก็มีมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกันการกำหนดวันรายอตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ค.63 นั้น มาจากผลการดูเสี้ยวดวงจันทร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.ตามประกาศของสำนักจุฬาราชมนตรี บรรยากาศการดูเสี้ยวจันทร์ที่ศาลาดูดวงจันทร์บนยอดเขาปาเระ (บูเก๊ะปาเระ) อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นศาลาดูดวงจันทร์ที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง เจ้าหน้าที่ได้วางมาตรการจำกัดพื้นที่และจำนวนการขึ้นดูเสี้ยวจันทร์ของประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอนุญาตเฉพาะผู้นำศาสนาที่มีประสบการณ์ ทีได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ร่วมดูเสี้ยวจันทร์เท่านั้น และทุกคนต้องผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างเข้มงวด
ช่วงหลังเที่ยงของวันศุกร์ที่ 22 พ.ค. เป็นช่วงเวลาของการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด ซึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องงดไปนานนับเดือน ทั้งๆ ที่เป็นศาสนกิจภาคบังคับของพี่น้องมุสลิม จังหวัดปัตตานีปลดล็อกละหมาดวันศุกร์ไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. จากนั้นในวันที่ 22 พ.ค. จึงปลดล็อกพร้อมกันทั้งสามจังหวัด แต่ก็อนุญาตเฉพาะมัสยิดที่มีความพร้อมของมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างที่ จ.นราธิวาส มีมัสยิดทั้งจังหวัด 676 แห่ง มีมัสยิดที่มีความพร้อม 448 แห่ง ไม่พร้อม 228 แห่ง ซึ่งผู้ที่เข้าละหมาดต้องผ่านการคัดกรองและลงทะเบียนทุกราย
การปลดล็อกให้ละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดได้ สร้างความดีอกดีใจให้กับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่อย่างมาก มะฆอซี อาบู ชาวอำเภอยะหา จ.ยะลา เผยความรู้สึกว่า ตลอดหลายสัปดาห์ที่ไม่มีการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิด สำหรับผู้ชายมุสลิมแล้วรู้สึกขัดๆ บอกไม่ถูก สัปดาห์นี้ได้ไปละหมาดแล้ว รู้สึกดีใจมาก ทุกคนทำตามมาตรการป้องกันโรคระบาดทั้งของกระทรวงสาธารณสุข และประกาศจุฬาราชมนตรีอย่างเคร่งครัด เมื่อละหมาดวันศุกร์แล้ว ยังได้ละหมาดรายอด้วย ยิ่งดีใจสุดๆ
“ตอนแรกหัวใจห่อเหี่ยวมาก ไม่มีความหวังเลย ขนาดละหมาดวันศุกร์ยังละหมาดไม่ได้ ละหมาดตะรอเวียะฮ์ก็ต้องทำที่บ้าน (ละหมาดช่วงกลางคืนในเดือนรอมฎอน ซึ่งปกติต้องละหมาดที่มัสยิด) ส่วนละหมารายอก็คิดว่าทำที่มัสยิดไม่ได้แล้ว แต่พอมีประกาศบอกว่าพวกเราสามารถทำพิธีได้ ก็รู้ดีใจมาก ทุกคนดีใจ อยากขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกันจนทำให้พวกเราสามารถไปมัสยิดได้บ้างเพื่อทำพิธีที่สำคัญ” ชาวบ้านที่ชายแดนใต้ กล่าว และย้ำว่าอยากบอกทุกคนว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 ดูจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ทุกคนต้องปฏิบัติตนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทำตามที่ภาครัฐกำหนด เพื่อพวกเราทุกคน