“ช่อ” ชูธง! ดัน พรบ.ป้องกัน คนหาย หวั่น สนช.ตีตก ชี้ สนท.สายทหาร จ้องค้าน

89

‘ช่อ พรรณิการ์’ จับตา พรบ.ป้องกัน คนหายอ หวั่นถูกส.ว.ตีตกเปลี่ยนแปลงเนื้อหา ย้ำ 112 เป็นกม.ที่มีปัญหา ต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดผลสามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างจริงจัง ขณะ ตัวแทน ศูนย์เฝ้าระวัง จชต.ยกกรณี “หะยีสุหลง”ถูกอุ้มหาย ห่วง สนช.สายทหาร ขวาง 

28 มิ.ย.2563 น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า มาร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ณ.จังหวัดยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน,จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ,รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ดำเนินรายการโดย ประเสริฐ ราชนิยม

พรรณิการ์ ตัวแทนคณะก้าวหน้า มองว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชน เพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ

“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติหรือสภาตรายางของ คสช.มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง ”

“แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภาอาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัตติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญทิ้งไป”

จุฑาทิพย์ ประธาน สนท.และทายาท ส.ส.เตียง ศิริขันธ์ ที่ถูกอุ้มฆ่า กล่าวว่า “อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เพราะสังคมในวันข้างหน้า คนรุ่นใหม่ คนที่ยังอายุไม่มาก ยังต้องเติบโตในสังคม จึงอยากอยู่ในสังคมที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นสังคมที่เป็นความมั่นคงของประชาชน ไม่ใช่ความมั่นคงของผู้มีอำนาจเหมือนที่แล้วมา”

รอมฎอน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) มองว่า ชายแดนภาคใต้เป็นสนามทดลองการใช้อำนาจควบคุมปกครอง เป็นตัวแบบแล้วนำเอาไปใช้ปกครองที่อื่น นอกจากนี้ การอุ้มหายเป็นกรณีร้ายแรงและได้เป็นหมุดหมายสำคัญวางอยู่ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งชายแดนใต้ เช่น กรณีการถูกอุ้มหายของหะยีสุหลง ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญ การหายตัวไปจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดการจับอาวุธมาต่อสู้ในพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะเป็นเรื่องความทรงจำรวมหมู่ของชุมชนทางการเมือง ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือเราไม่มีความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน ดังนั้นความริเริ่มของผ่านกฎหมายของสภา จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคลายปม และฟื้นความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐด้วย

“ที่ผ่านมา สมาชิกสภานิติบัญญัติ หรือ สนช. ไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ปล่อยให้กฎหมายตกไป เพราะ สนช.ส่วนใหญ่ หรือ ส.ว. แต่งตั้งในปัจจุบัน ล้วนเป็นอดีตข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายพลเรือน เป็นการเขียนกฎหมายด้วยความกลัว กลัวว่าตัวเองต้องรับผิด กลัวว่าลูกน้องต้องรับผิด” นายรอมฎอนกล่าว