มุสลิมเชียงใหม่ ร่วมสร้างบ้านแปงเมือง บริจาคที่ดินกว่า 200 ไร่สร้างสนามบิน

1068

ตามที่มีบางกลุ่มได้นัดวันประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาศนาประจำจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้ก่อให้เกิดปฏิกริยาตามมา โดยมุสลิมเชียงใหม่ได้เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่ามุสลิมเชียงใหม่ โดยทายาทนายพลเจิ้งเหอ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้บริจาคที่ได้สร้างสนามบินเชียงใหม่มากกว่า 200 ไร่ ในสมัยรัชกาลที่ 6

ตามรายงานระบุว่า มุสลิมเชียงใหม่ ส่่วนหนึ่งเป็นมุสลิมที่เดินทางมาจากมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เข้ามาตั้งรกรากในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ 150 ปีก่อน นำโดยทายาทรุ่นที่ 15 ของนายพลเติ้งเหอ คือนายเล่าเจง ชาติฮ่อ เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนมัสยิดอิสลามบ้านฮ่อ จ.เชียงใหม่ และได้สร้างคุณูปการให้กับจังหวัด โดยได้บริจาคที่ดิน 225 ไร่สร้างสนามบินเชียงใหม่ โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อปี 2467 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ ให้เป็นขุนชวงเลียงฤาเกียรติ และเจ้าแก้วนวรัฐ ได้พระราชทานามสกุล วงศ์ลือเกียรติ ที่มีการสืบทอดมาจนปัจจุบัน โดยปัจจุบัน ตระกูลวงศ์ลือเกียรติมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่

สำหรับความเป็นมาของลูกหลานนายพลเจิ้งเหอ ในประเทศไทย ไทยรัฐได้นำมาเผยแพร่ โดยระบุว่า ตอนหนึ่งในหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2553) ปริวัฒน์ จันทร เขียนว่า วันนี้ที่เชิงเขาเย่วซาน กลางตำบลคุนหยาง มณฑลยูนนาน ได้ถูกตกแต่งเป็นอุทยานเจิ้งเหอ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเจิ้งหอ

ระหว่าง ค.ศ.1405-1433 กองเรือมหาสมบัติ ภายใต้การนำของแม่ทัพขันทีเจิ้งเหอ

ได้สร้างตำนานยิ่งใหญ่ในการออกสมุทรยาตรา 7 ครั้ง ท่องไปกว่า 30 ประเทศ ตั้งแต่ประเทศในอุษาคเนย์ อินเดีย อาหรับและแอฟริกา

ตลอดเวลา 28 ปีที่กองเรือจีนตระเวนยึดครองทั่วน่านน้ำ สินค้าจากดินแดนเหล่านี้ ยารักษาโรคเครื่องเทศ สมุนไพร ตลอดจนความรู้ทางภูมิศาสตร์ และศาสตร์ต่างๆ ได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศจีน

เวลาเดียวกันนั้น จีนก็ได้ขยายอิทธิพลและบทบาททางการเมือง ครอบคลุมไปทั่วทั้งทะเลจีนใต้และสองฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดีย จนอาจกล่าวได้ว่า กว่าครึ่งโลกตกอยู่ใต้อุ้งพระหัตถ์แห่งองค์จักรพรรดิมังกร

ในอุทยานเจิ้งเหอ ที่ตำบลคุนหยาง…มีภาพถ่ายอนุชนรุ่นที่ 20 ของตระกูลเจิ้ง มีอักษรจีนบรรยายภาพไว้ว่า

แม้เจิ้งเหอจะไม่มีลูก เพราะถูกตอนเป็นขันที หากแต่พี่ชาย หม่าเหวินหมิง ได้ยกลูกชายหญิงของตนให้กับเจิ้งเหอ โดยยินยอมให้เปลี่ยนจากแซ่เดิมคือ หม่า มาใช้ แซ่เจิ้ง แซ่พระราชทาน

ในภาพถ่ายนี้ เป็นอนุชนที่สืบทอดมาถึงรุ่นที่ 20 ของเจิ้งเหอ ปัจจุบัน พำนักอยู่ในประเทศไทย

ภาพถ่ายดังกล่าวไม่ชัดเจนนัก และไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนาม หรือตำบลแห่งหนที่อยู่ เขียนกำกับเอาไว้

จึงไม่ทราบได้ว่า พวกเขาเหล่านี้คือใคร?

ปริวัฒน์ จันทร ทิ้งท้ายเรื่องราวของคุนหยาง ถิ่นกำเนิดของเจิ้งเหอ…ไว้ว่า ก่อนจะได้เข้าไปรับใช้ในวังเจ้าชายจูตี้ ซึ่งในอีก 22 ปีต่อมา ได้ช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระนัดดา-จักรพรรดิองค์ที่ 2 ขึ้นเป็นจักรพรรดิหย่งเล่อ องค์ที่ 3

เจิ้งเหอคนนี้ มีบทบาทอย่างสำคัญ ต่อการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์

ต่อไปนี้ เป็นบางตอนของบทที่ 14 ไขปริศนา ขุนชวงเสียงฦาเกียรติ คือทายาทรุ่นใดของเจิ้งเหอ

ปูมสาแหรกทายาทเจิ้งเหอ แบ่งออกเป็นสามสาย คือ ที่เมืองอวี้ชี มณฑลยูนนาน นครหนานจิง มณฑลเจียงซู และจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ไล่เลียงสืบสาย สายที่สาม ไปจนถึงรุ่นที่ 15 ผู้นำรุ่น ชื่อ เจิ้งหย่งเชิง

สายที่สามในช่วงสมัยปลายราชวงศ์ชิง ราวปี ค.ศ.1905 เจิ้งฉงหลิน น้องชายเจิ้งหย่งเชิง ในรุ่นที่ 15 เดินทางมาตั้งถิ่นฐานอยู่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

ก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบครัวทางอวี้ชีและเชียงใหม่ ยังมีจดหมายไปมาหาสู่กัน

ฟ่านซุนเกอ นักหนังสือพิมพ์สาวชาวเมืองอู่ฮั่น เดินทางตามรอยทายาทเจิ้งเหอสายนี้ มาที่ประเทศไทย ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจิ้งฉงหลิน ประกอบอาชีพด้านการไปรษณีย์ ร่วมก่อตั้งสุเหร่าชาวมุสลิมยูนนานแห่งที่ 1

รวมไปถึงสนามบินจังหวัดเชียงใหม่ ก็มาจากที่ดินของเจิ้งฉงหลิน ที่ได้บริจาคให้รัฐบาลไทย

ทำให้ท่านได้รับเกียรติบัตร และสิทธิในการโดยสารเครื่องบินฟรีตลอดชีวิต

จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีปะเสน เขียนเรื่อง ขุนชวงเสียงฦาเกียรติ ไว้ว่า ปี พ.ศ.2548 เป็นวาระครบ 100 ปี แห่งการเดินทางโดยคาราวานม้าต่างจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สู่เชียงใหม่ ของ เจิ้งฉงหลิน ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ขุนชวงเสียงฦาเกียรติ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

และบรรดาศักดิ์นี้เอง เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวง องค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ ได้ประทานนามสกุล วงศ์ลือเกียรติ ให้เป็นเกียรติยศแก่ท่านขุนและวงศ์ตระกูล

ขุนชวงเสียงฦาเกียรติ นามเดิม เจิ้งฉงหลิน นามในศาสนาอิสลาม อิบรอฮีม เกิด พ.ศ.2416 ณ ตำบลอวี้ชี เมืองคุนหมิง สมรสกับหญิงสาวชาวจีน มีบุตรสาว 2 คน

พ.ศ.2448 เมื่ออายุ 32 ปี ได้นำกองคาราวานม้าต่าง 100 ตัว พลพรรค 10 คน เดินทางผ่านสิบสองปันนา เข้าประเทศไทยทางอำเภอแม่สาย ลงมาลำปาง ขึ้นไปลำพูน เข้าสู่เชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5

สาเหตุแท้จริง มิใช่ความตั้งใจมาค้าขาย แต่เป็นแรงกดดันจากบิดามารดา ที่ปรารถนาให้บุตรชาย รู้จักทำงานเป็นหลักฐาน ด้วยเหตุนี้จึงมิได้นำบุตรสาว 2 คนมาด้วย

พ.ศ.2450 สมรสกับ นพ สาวชาวเมืองตาก และต่อมาเมื่อหลังลงหลักปักฐานทำกินมั่นคงที่เชียงใหม่ ก็รับบุตรชายคนโตจากเมืองตากมาอยู่ด้วย และต่อมาก็ให้คนไปรับภรรยาและบุตรสองคนจากเมืองจีน สร้างบ้านให้อยู่ที่เชียงราย

ปัจจุบัน ลูกหลานบุตรสาวคนแรก ยังอยู่ที่เชียงราย ใช้นามสกุล เจนตระกูล บุตรสาวคนที่สอง ซึ่งแต่งงานกับคนยูนนาน และอพยพมาอยู่สันกำแพง เป็นต้นตระกูล ธีรสวัสดิ์

ส่วนตัวท่านขุน อยู่กับบุตรธิดา 10 คนที่เชียงใหม่ ใช้สกุล วงศ์ลือเกียรติ

ฉากสุดท้าย ของขุนชวงเสียงฦาเกียรติ บันทึกไว้ว่า หลังจากใช้ชีวิต 55 ปีในเชียงใหม่ และปริมณฑล ก็ได้เดินทางไปนครเมกกะ 1 วันก่อนกลับบ้าน ถึงแก่กรรมหลังพิธีฮัจญ์.

O บาราย O