“ทวี” ชี้ “พรบ.งบฯ 64” ส่อขัด กม. จัดซื้อ อาวุธอื้อ เหลือลงทุนไม่ถึง35%

248

เลขาฯ ประชาชาติ ชี้ ร่าง พรบ.งบฯ 64 มีจุดอ่อนอื้อ และ ส่อขัดกฏหมาย ปมการตั้งบฯผูกพันข้ามปี จัดซื้อ อาวุธ เรือดำน้ำ รวมกับรายจ่ายประจำ กว่า2.5ล้านล้าน เหลืองบฯลงทุนแค่ 6.7 แสนล้านบาท ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องมีขั้นต่ำ 9.9 แสนล้าน

วันที่ 5 ก.ค. 63 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท กล่าวว่า กมธ.ฯ จะเริ่มมีการประชุมในวันที่ 8 ก.ค.นี้ ซึ่งในหลักการต้องเลือกประธาน กมธ.ฯ และตำแหน่งต่างๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าจะได้เป็นประธาน กมธ. จากนั้นคงร่วมกันพิจารณากำหนดกรอบในการทำงานและรับฟังหน่วยงานต่างๆ ภายในระยะเวลาประมาณ 3 เดือนกว่า ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ.ฯจะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนรวมของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องด้วย สรุปต้องอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนถ้วนหน้าและต้องพิจารณาแก้วิกฤติทางเศรษฐกิจสังคม สาธารณสุข และความมั่นคงของประเทศด้วย

“อยากให้การพิจารณาครั้งนี้เป็นระบบเปิดที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ในการแสดงความคิดเห็น เสนอข้อมูล ถ้าไม่ผิดกฏหมายควรเปิดให้สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี และรัฐบาล สำนักงบประมาณ ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้ กมธ. และผลงานหรือการประเมินผลถึงความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อีกประเด็นมีงบผูกพันข้ามปี ที่เป็นภาระเช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ หรือก่อสร้าง เมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากน่าจะเกินเพดานร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี ตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ห้ามไว้ แต่ทราบว่ารัฐบาล และสำนักงบประมาณประดิษฐ์คำว่าขึ้นมารายการใหม่ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย คงต้องหาข้อยุติมิเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า การพิจารณาของ กมธ.งบฯเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่างพระราชบัญญัติหรือเป็นกฎหมาย จะมีศักดิ์สูงกว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ระเบียบ แต่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่ศักดิ์ศรีเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ซึ่งในกระบวนการร่างพระราชบัญญัติจะต้องสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรหรือเงินงบประมาณ และต้องให้มีกระบวนการมีส่วนรวมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้เกี่ยวข้องด้วย

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมามีจุดอ่อนหลายประการ อาจเรียกได้ว่าจัดงบประมาณที่ สร้างความอ่อนแอให้ประชาชน หรือ อาจเรียกว่า ประชาชนล้มละลายด้านงบประมาณ เพราะเงินถูกใช้เป็นงบรายจ่ายประจำ คืองบบุคลากรที่เป็นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มากกว่า 2.5 ล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 76.5 ของงบประมาณทั้งหมด และเมื่อรวมงบที่จ่ายเงินคงคลังกับใช้หนี้คืนเงินต้น จะเหลืองบรายจ่ายลงทุน เพียงประมาณ 6.7 แสนล้านบาทเศษ หรือ ประมาณร้อยละ 20.5 เท่านั้น แม้อ้างตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 แต่ ไม่ได้นิยามศัพท์รายจ่ายลงทุน ไว้ มีเพียงคำว่างบลงทุน ซึ่งบางส่วนที่ดูแล้วเอกสารดูยากมาก ได้พิจารณารายละเอียดตามเอกสารเบื้องต้น รายจ่ายลงทุนน่าจะน้อยกว่าร้อยละ 20

“ในหลักการควรมีร่ายจ่ายลงทุนที่ควรจะเป็นประมาณร้อยละ 30-35 ของงบประมาณ คือต้องมีรายจ่ายลงทุน ประมาณ 9.9 แสนล้านเศษ ถึง 1.15 ล้านล้านบาทเศษ ถึงจะเหมาะสมกับประชาชน”

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หากพิจารณารายได้ปีนี้ แม้จะคาดการณ์ว่าเก็บภาษีได้ 2.67 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งมีผู้เกี่ยวกับออกมาสัมภาษณ์แล้วว่าไม่น่าจะเก็บถึง 2.5 ล้านล้านบาทเศษด้วยซ้ำ กรมสรรพากรกรมเดียวประมาณการเก็บภาษีต่ำขาดไปมากกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว ภาษีที่เก็บได้ยังไม่พอใช้รายจ่ายประจำที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน และงบประมาณดำเนินงานเรียกว่าภาษีอากรของประชาชนทุกบาทประเคนให้รัฐและข้าราชการใช้ทั้งหมด ที่เหลือต้องกู้มา เป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนร่วมกันใช้หนี้ นอกจากนี้ยังมีเงินนอกงบประมาณ และรัฐวิสาหกิจ ที่จัดแล้วประชาชนอ่อนแอลง

ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ตั้งงบประมาณปีละไม่ถึง 4 แสนล้านบาทต่อปี ขณะประเทศไทยตั้ง 3.3 ล้านล้านบาท แต่มาเลเซียมีรายได้ประมาณ 4 เกือบ 5 แสนบาท/คน/ปี ของไทยรายได้ประมาณ 1 แสนบาท/คน/ปี สาเหตุมาเลเซียเป็นประชาธิปไตย และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดูแลประชาชน อีกประเด็นมีงบผูกพันข้ามปี ที่เป็นภาระเช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ หรือก่อสร้าง เมื่อรวมแล้วมีจำนวนมากน่าจะเกินเพดานร้อยละ 10 ของงบประมาณประจำปี ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ห้ามไว้ แต่ทราบว่ารัฐบาล และสำนักงบประมาณประดิษฐ์คำว่าขึ้นมา ‘รายการใหม่’ ที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมาย คงต้องหาข้อยุติมิเช่นนั้นจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“อยากให้การพิจารณาครั้งนี้เป็นระบบเปิดที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น หรือเสนอข้อมูล ถ้าไม่ผิดกฏหมายควรเปิดให้สื่อมวลชนได้ถ่ายทอดสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี และรัฐบาล สำนักงบประมาณ ต้องมีข้อมูลที่เพียงพอให้ กมธ.และผลงานหรือการประเมินผลถึงความคุ้มค่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว