100 ปีสถานีรถไฟปัตตานี มอ.จับมืออำเภอโคกโพธิ์ เปิดเส้นทางเที่ยวสายวัฒนธรรรม

368

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับอำเภอโคกโพธิ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคส่วนต่างๆ จัดงาน “๑๐๐ ปี สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์)” ภายใต้โครงการการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสามจังหวัดภาคใต้ชายแดนด้วยแพลตฟอร์ม ขยายผลการท่องเที่ยวมูลค่าสูง : ต่อยอดจาก Pattani Heritage City เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ทำให้เห็นว่าเส้นทางรถสายมณฑลปัตตานี เป็นระบบคมนาคมการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สำคัญ

ที่บริเวณสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปัตตานี เขต 2 อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดงาน“๑๐๐ ปี สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์)” ในโครงการการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในสามจังหวัดภาคใต้ชายแดนด้วยแพลตฟอร์ม ขยายผลการท่องเที่ยวมูลค่าสูง : ต่อยอดจาก Pattani Heritage City โดยมี นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวรายงานและต้อนรับ ทั้งนี้ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี ร่วมให้การต้อนรับ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ เรื่อง “เส้นทางรถไฟสายมณฑลปัตตานี” การเสวนาเรื่องบทบาทของระบบรางในการพัฒนาปัตตานีและชายแดนภาคใต้ : อดีต ปัจจุบัน และความคาดหวังในอนาคต การแสดงนิทรรศการ ๑๐๐ ปี สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) การประกวดภาพถ่ายสถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) การประกวดเรียงความ การแข่งขันแฟนพันธุ์แท้รถไฟปัตตานี การแสดงรถไฟจำลอง การออกร้านและจำลองบรรยากาศสถานีรถไฟ และการสร้างสรรค์จุดเช็คอินและถ่ายภาพร่วมกัน ที่สำคัญคือ การเปิดเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม “ชุมทางหาดใหญ่ – ปัตตานี – นาประดู่ – วัดช้างไห้” ในช่วงเดือนมกราคม 2564

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประธานในพิธีเปิดกิจกรรม ๑๐๐ ปี สถานีรถไฟปัตตานี กล่าวว่า รถไฟถือเป็นยานพาหนะในการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานานนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่าหัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานกำเนิดกิจการรถไฟในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาประมาณ 125 ปี ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญ การสร้างชุมชน พัฒนาระบบเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงความเป็นหนึ่งเดียวกันในหลายมิติ ซึ่งจังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเส้นทางรถไฟร่วม 100 ปีแล้ว และเส้นทางรถไฟ มีส่วนสำคัญที่ได้สร้างความเจริญให้กับจังหวัดปัตตานี โดยเฉพาะอำเภอโคกโพธิ์ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟผ่านและเป็นที่ตั้งสถานีรถไฟหลักประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเดิมชื่อว่า “สถานีโคกโพธิ์” และได้พัฒนามาเป็น “สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์)” ในปัจจุบัน

สำหรับ ศอ.บต. นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบรางของรถไฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มที่ โดยมีแนวคิดจะพัฒนาให้จังหวัดปัตตานีเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางรางของพื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนอกเหนือจาก “สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์)” จะเป็นสถานีหลักแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการโดยสารแล้ว จะพัฒนาให้ “สถานีนาประดู่” เป็นสถานีหลักในการขนส่งสินค้าประเภทต่างๆ ทั้งสินค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ ปูนซีเมนต์ และประเภทอื่นๆในเร็ววันนี้ การที่สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์) มีการเปิดใช้งานมาครบ 100 ปี ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่สำคัญของพื้นที่ชายแดนใต้ ที่ทำให้เห็นว่า เส้นทางรถสาย “สายมณฑลปัตตานี” นี้ได้มีบทบาทและอยู่คู่จังหวัดปัตตานีและชายแดนภาคใต้มาเป็นระยะเวลานานเป็นระบบคมนาคมที่สำคัญในการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สำคัญมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและจะยั่งยืนในอนาคต โดยมีสถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) เป็นสถานีหลักสำคัญของพื้นที่


นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สถานีรถไฟปัตตานี (โคกโพธิ์) นับเป็นสถานีรถไฟประจำจังหวัดปัตตานีที่มีความสำคัญในการเดินทางของพี่น้องประชาชนและการขนส่งสินค้ามาเป็นระยะเวลานาน โดยเริ่มต้นจากสถานีที่เป็นอาคารไม้เล็กๆที่ใช้ชื่อว่า “สถานีโคกโพธิ์” จนพัฒนามาเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีลักษณะเฉพาะทางสถาปัตยกรรมที่มีความสวยงามผสมผสานระหว่างทรงไทยภาคกลางกับทรงภราดรภาพแบบวิถีมุสลิมในพื้นที่ปัตตานีในปัจจุบัน และได้เปลี่ยนชื่อสถานีใหม่อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2539 เพื่อเป็นสถานีรถไฟหลักประจำจังหวัดปัตตานีว่า “สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์)” มาจนปัจจุบันนี้ การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยโครงการ Pattani Heritage City ร่วมกับ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี การรถไฟแห่งประเทศไทย และภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมกันจัดงานครั้งนี้ขึ้น นับเป็นกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การกระตุ้นเศรษฐกิจกิจ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี อันเป็นการนำประวัติศาสตร์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนในพื้นที่และสังคมได้เห็นถึงการเรียนรู้ตัวตนและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ในการเข้าใจรากเหง้าและการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวอีกด้วย

“อำเภอโคกโพธิ์ นับเป็นอำเภอที่มีความที่มีความโดดเด่นของจังหวัดปัตตานีในหลายด้าน อาทิ ด้านการเป็นเมืองท่องเที่ยว ด้านความเชื่อและศรัทธา ประเพณี ด้านความเป็นธรรมชาติ อาหารการกิน และที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟหลักประจำจังหวัดปัตตานี คือ สถานีปัตตานี (โคกโพธิ์) สถานีนาประดู่ และสถานีวัดช้างไห้ ด้วยระยะเวลา 100 ปี ของการที่มีเส้นทางรถไฟสายหลักพาดผ่าน ได้สร้างความเจริญให้กับพื้นที่อำเภอโคกโพธิ์ รวมถึงส่งผลต่อภาพรวมของจังหวัดปัตตานีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การกระจายความเจริญ ความมั่นคง การเชื่อมต่อคมนาคมทั้งผู้คนและสินค้าตามไปด้วย” นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวเพิ่มเติม