ศบค.แจง คัดกรองเชิงรุก เจอแรงงานต่างด้าวติด โควิด 500 กว่าราย ไม่ได้นำออกมา มีคนจำนวนมาก แออัด อยู่ในระยะติดเชื้อ จึงพบได้ ไม่เกินความคาดหมาย
วันที่ 4 ม.ค.63 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) กล่าวถึงการคัดกรองเชิงรุกเจอแรงงานต่างด้าวติดโควิด-19 มากกว่า 500 ราย ว่า การไปสอบสวนโรคในแรงงานต่างด้าวที่อยู่กันในหอพัก โรงงาน จำนวนมาก มีความแออัด ซึ่งยังให้พวกเขาอยู่ตรงนั้นไม่ได้ออกมา กระบวนการคือต้องตรวจเป็นระยะ ทำให้เห็นตัวเลขนี้ออกมา แต่ไม่เกินความคาดหมาย
เพราะจำนวนคนอาศัยมาก มีความแออัด และอยู่ในระยะเวลาของการติดเชื้อ ถ้าเราหาก็ต้องเจอ อย่างไรก็ตาม การทำ Active Case Finding คล้ายกับตอนภูเก็ต ถ้าจะให้หมดไปต้องปูพรมกว้างขึ้น ตอนแรกจะสูงแล้วค่อยๆ ลดลง เมื่อแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อ ซึ่งใน จ.สมุทรสาคร ก็มีรพ.สนาม ทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่าเชื้อจะถูกจำกัดในวงที่วางไว้
“ส่วนที่กังวลใจคือสะเก็ดไฟที่กระจายไปพื้นที่อื่น ช่วงที่มีการเดินทางก่อนหน้านี้เป็นความกังวล เราก็เห็นถึง 54 จังหวัด ตอนนี้ต้นทางสะเก็ดไฟไม่ใช่แค่แรงงานต่างด้าว ยังเจอจากบ่อนด้วย ทำให้เราอธิบายได้ว่าภาพใหญ่ออกมาเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้มีการสั่งการโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และปลัดสธ. ว่าต้องตะครุบตัวสะเก็ดไฟให้ได้โดยเร็ว ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่มีความเสี่ยง บุคคลเสี่ยงไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หากรู้ตัวเองรีบเข้ามาตรวจ ไม่มีค่าใช้จ่าย” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
เมื่อถามว่าวันเด็กยังจัดได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 28จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงแพร่โรค ที่มีผู้ร่วมจำนวนมาก ส่วนจังหวัดสีส้มและสีเหลืองขอความร่วมมือ แต่เชื่อว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ควรจัดดีที่สุด เพราะเป็นความเสี่ยงของลูกหลานที่ไปอยู่ที่แออัดและสัมผัสกัน ก็ขอความร่วมมืองดไปก่อน ยังมีวันอื่นๆ ให้รื่นเริงได้อีก
ถามต่อว่าจะพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะครบกำหนดวันที่ 15 ม.ค.หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ปกติขยายฉุกเฉิน 1 เดือน แต่ที่ผ่านมาขยายไป 45 วัน ดังนั้น การประชุม ศบค.บ่ายนี้ ถ้าจะให้ครบรอบเดือนเหมือนเดิมอาจกำหนดขยายไปอีก 45 วันเพื่อให้ครบรอบเดือนใน ก.พ.ก็ได้ ซึ่งต้องรอการประชุม
“สิ่งที่เป็นภัยครั้งนี้ คือ การติดเชื้อ แต่ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ปนเข้ามา หมายถึงการมั่วสุม ไม่อยู่ในข้อกำหนดร่วมกัน บางคนละเมิด จะมีอีกแรงคือ ความโกรธเข้ามาอยู่ในสังคมเรา จนเห็นภาพการโกรธขึ้งกัน ซึ่งในภาพจิตวิทยาสังคมจะเห็นภาพในต่างประเทศ โดยจะเห็นภาพความโกลาหล
ความโกรธ ความไม่ร่วมมือ การไม่ใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย และละเมิดข้อปฏิบัติต่างๆ ซึ่งทำให้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ภาพนี้โชคดีที่คนไทยในปีที่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นเลย และเชื่อว่า ช่วงเวลานี้หากเราร่วมมือกัน ประคับประคองสถานการณ์นี้ต่อไปได้ ป่วยกายแล้วใจอย่าป่วย ต้องฝากทุกคนช่วยกันเรื่องนี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว