โปรดเกล้าฯ องคมนตรี ถวายสักการะ พระนเรศวรมหาราช ในวันยุทธหัตถี

54

พระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ถวายราชสักการะ ‘สมเด็จพระนเรศวร’ เนื่องในวันยุทธหัตถี

วันที่ 18 ม.ค.64 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ พระบรมราชานุสรณ์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 2 มีพระนามเดิมว่า พระนเรศวร หรือ “พระองค์ดำ” เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จ พระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก พระองค์ทรงมีมีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

ในขณะที่พระองค์ทรงพระเยาว์ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก และทรงขอสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปเลี้ยงเป็นพระราชบุตรบุญธรรมเพื่อเป็นตัวประกันที่หงสาวดี จนพระชนมายุได้ 15 พรรษา พระองค์จึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมหาอุปราชปกครองเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2098 ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ณ เมืองแครง ประกาศอิสรภาพของชาติไทยโดยไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2133 ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์สุโขทัย สิริรวมการครองราชย์สมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวม พระชนมพรรษา 50 พรรษา

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระกฤดาภินิหาร ในความเป็นนักรบที่กล้าหาญซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญในวีรกรรมที่ได้ทรงประกาศอิสรภาพ ทำให้เมืองไทยพ้นจากอำนาจของพม่า และเมื่อพม่ายกกองทัพมาเหยียบย่ำพื้นแผ่นดินไทยให้ตกอยู่ในอำนาจ กองทัพพม่าครั้งนั้นใหญ่หลวงนัก มีพระมหาอุปราชาเป็นจอมทัพ ยกตีเข้ามาถึงเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ยกกองทัพออกไปต่อสู้ ในที่สุด สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช ในท่ามกลางเหล่าทหารข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ฟันต้องพระอังสาของพระมหาอุปราชาขาดสิ้นพระชนม์ชีพอยู่กับคอช้าง สมเด็จพระนเรศวรและกองทัพไทยได้รับชัยชนะอย่างมหัศจรรย์ เป็นที่เลื่องลือพระบรมเดชานุภาพไปยังประเทศใกล้เคียง เมื่อเสร็จสงครามยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรดให้สร้างสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ที่ทุ่งหนองสาหร่าย ตำบลตระพังตรุ ตรงกับที่ทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวม พระชนมพรรษา 50 พรรษา

รัฐบาลได้ตระหนักถึงพระราชวีรกรรมและคุณูประการอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อประเทศชาติไทยอันควร จะได้เทิดทูนพระเกียรติยศให้ปรากฏเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์และประกาศให้ถือวันที่ 25 มกราคมของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทย และวันที่ 18 มกราคม ถือเป็น “วันยุทธหัตถี” หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”