7 แบงก์รัฐออกมาตรการ พักหนี้-ปล่อยซอลฟ์โลนช่วย ‘ผู้ประกอบการ-ประชาชน’

68

กระทรวงการคลัง ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดย 7 ธนาคารรัฐ ผนึกกำลัง ปล่อยซอลฟ์โลนใหเชาวบ้านและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกภาคส่วน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดรวมทั้งสิ้น 28 จังหวัดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)
ในการนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการและประชาชนจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะขยายวงกว้างมากน้อยเพียงใด กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจจึงได้ดำเนินมาตรการด้านการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้วซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และมาตรการเพิ่มเติมอื่นๆ ประกอบไปด้วยมาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ) และมาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้) โดยมีมาตรการที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. มาตรการเสริมสภาพคล่อง (สินเชื่อและค้ำประกันสินเชื่อ)
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสCOVID-19 ให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย
1.1.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Soft Loan ท่องเที่ยว) วงเงินคงเหลือประมาณ 7,800 ล้านบาท
2) โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงินคงเหลือประมาณ 4,200 ล้านบาท
3) โครงการสินเชื่อออมสิน SMEs มีที่ มีเงิน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยทุกโครงการรับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
1.1.2 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อ Extra Cash) วงเงินคงเหลือประมาณ 5,900 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

1.1.3 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ดังนี้
1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9
2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro ไทยสู้ภัยโควิด วงเงินโครงการ 5,000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 4 ทั้ง 2 โครงการรับคำขอค้ำประกันสินเชื่อถึงวันที่ 31 มกราคม 2564
3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงินคงเหลือประมาณ 54,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม Soft Loan ธปท. และ Soft Loan ท่องเที่ยวของธนาคารออมสิน รับคำขอค้ำประกันสินเชื่อตามระยะเวลารับคำขอสินเชื่อของแต่ละโครงการ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. ได้มีการออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (Soft Loan ธปท.) ซึ่งมีวงเงินคงเหลือประมาณ 370,000 ล้านบาท รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 18 เมษายน 2564

1.2 มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับประชาชน
1.2.1 ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) (สินเชื่อฉุกเฉิน) วงเงินคงเหลือประมาณ 2,700 ล้านบาท และ 2) โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินคงเหลือประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
1.2.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชน ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินคงเหลือประมาณ 11,000 ล้านบาท โดยได้ขยายเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2) โครงการสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ (Sufficient Loan : SL) วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท 3) โครงการสินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด วงเงินโครงการ 60,000 ล้านบาท และ 4) โครงการสินเชื่อระยะสั้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Jump Start Credit) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ทุกโครงการสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้วันที่ 30 มิถุนายน 2564

2. มาตรการบรรเทาภาระหนี้สิน (พักชำระหนี้)
สถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสีเขียว
คือกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ 2) กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่าย และ 3) กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่มีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะมีการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละรายเพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น การขยายเวลาการชำระหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงมีการติดต่อลูกค้าเพื่อช่วยเหลือในเชิงรุก สำหรับลูกค้าที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามประกาศของ ศบค. ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะประสาน ธปท. เพื่อให้มีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่อไป

กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ และมาตรการเพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน จะช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ให้สามารถดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมไปถึงช่วยบรรเทาภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายเป็นวงกว้างออกไป โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
– ธนาคารออมสิน โทร. 1115
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02-555-0555
– ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 0-2645-9000
– ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 1357
– ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 0-2617-2111
– ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 1302
– บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 0-2890-9999