ศาลฯให้ กทม.ส่งเอกสาร แจงปมขึ้นราคา รถไฟฟ้าสายสีเขียว หลัง ภท.ร้องคัดค้าน

103

“สิริพงศ์” นำทีม ส.ส.ภูมิใจไทย เข้าไต่สวนคดีฟ้องประกาศ กทม. ยกเลิกรถไฟฟ้าสายสีเขียวขึ้นค่าโดยสาร 104 บาท ตลอดสาย ชี้ ควรกลับสัญญาเดิม 65 บาท ขณะศาล แจ้ง กทม.ส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 8 ก.พ.64

วันที่ 4 ก.พ.64 เวลา 13.30 น. ที่ ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วยคณะ ส.ส.ภท. อาทิ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายมณฑล โพธิ์คาย ส.ส.กทม., นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ส.ส.กทม., นายพิษณุ พลธี ส.ส.ปทุมธานี, และนายอนาวิล รัตนสถาพร ส.ส.ปทุมธานี เข้าร่วมการไต่สวนในคดีที่ร่วมกันเป็นโจทย์ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 29 มี.ค.60 เรื่องค่าโดยสารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ซ.สุขุมวิท 95 – 107 ระยะทาง 5.25 กม. และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 ตากสิน-เพชรเกษม ระยะทาง 6.3 กม.ทำให้การจัดเก็บอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางไม่เกิน 104 บาท

นายสิริพงศ์ กล่าวก่อนการเข้าไต่สวนว่า คำสั่งดังกล่างของ กทม. ไม่ชอบ เป็นภาระแก่ประชาชน โดยจะชี้ให้ศาลเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ปี 2562 กทม. ได้ทำสัญญากับบีทีเอส กำหนดราคา 65 บาทตลอดสาย เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีน้ำเงิน ค่าบริการที่ 42 บาทตลอดสาย มีประชาชนขึ้นวันละ 300,000 คน บีทีเอสก็สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นถ้าบีทีเอสยึดร่างสัญญาเดิม และมีผู้ใช้บริการ วันละ 800,000-1,000,000 คน เชื่อว่าสามารถดำเนินการได้

“การจะตั้งราคา 104 บาทตลอดสาย ต้องคิดว่าคนคนหนึ่งเดินทางไปทำงาน ทั้งไปและกลับ ต้องมีการขึ้น-ลง หลายสถานี เท่ากับว่าภาระของเขาวันหนึ่งต้องมี 100-200 บาท ดังนั้น จะเป็นภาระมากสำหรับคนที่คนที่มีรายได้ปานปลางถึงมีรายได้น้อย และเราคาดการณ์ว่าในปี 2572 สัญญาสัมปทานของบีทีเอสในส่วนตรงกลางจะหมดลง เมื่อไม่มีภาระสัมปทานอัตราค่าโดยสารย่อมถูกลงได้อีก ดังนั้นการที่จะมาเก็บค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสาย และตลอดอายุสัญญาสัมปทาน หากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา มันไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทัน” นายสิริพงศ์ กล่าว

ต่อมานายสิริพงศ์ กล่าวหลังการไต่สวนนาน 2 ชั่วโมง ว่า ศาลสนใจซักถามใน 3 ประเด็น คือ 1. การขึ้นราคาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ได้ชี้แจงว่าร่างสัญญาที่ กทม. ทำกับ บีทีเอสยังไม่ผ่าน ครม. จึงไม่น่าจะกำหนดราคาใหม่ได้ และการที่ กทม. จะขึ้นค่าโดยสาร จะต้องทำในลักษณะบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงคมนาคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

2. หาก กทม. ประกาศขึ้นราคาแล้วคำสั่งไม่ชอบจะมีผลอย่างไร และสามารถเยียวยาประชาชนได้หรือไม่ ซึ่งชี้แจงว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ จะใช้บริการบีทีเอส หากต่อมาพบว่า การปรับขึ้นราคาดังกล่าวไม่ชอบ ก็ยากที่จะเยียวยา เพราะหากขึ้นราคาจะมีส่วนต่างประมาณ 40 บาท แล้วจะเยียวยาประชาชนได้อย่างไร เพราะคนที่ขึ้นบีทีเอสไม่มีใบเสร็จจ่ายเงิน

3. ถ้าศาลสั่งทุเลา บังคับการประกาศขึ้นราคาของ กทม.ไว้ก่อน จะมีผลต่อการบริการสาธารณะของ กทม. หรือไม่ เราก็ได้ชี้แจงต่อศาลว่า กทม. เป็น อปท. แบบพิเศษ มีการจัดเก็บรายได้เอง มีเงินคงคลังที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมา กทม. แบกรับภาระขนคนมาในพื้นที่ไข่แดง 3 ปีเศษ ฉะนั้นถ้าวันนี้ กทม. จะชะลอการปรับขึ้นราคาออกไป โดยเสนอ ครม.พิจารณาก่อน ก็เชื่อว่าสามารถทำได้

“กทม. ชี้แจงต่อศาลว่าการขึ้นราคาเป็นอำนาจที่ กทม. ทำได้ และอ้างว่าทำตามมติ ครม. ซึ่งเราเห็นว่าเขาทำตามมติ ครม. บางข้อที่เขาได้ประโยชน์ การอ้างว่าการปรับขึ้นราคาทำตามมติ ครม. เพียงบางข้อ ไม่ได้ทำทุกข้อจึงเห็นว่าการกระทำของเขาไม่ชอบ เพราะ กทม. อ้างว่าสิ่งต่างๆที่ทำรับมาจาก ครม. แต่เรื่องการกำหนดราคาเป็นหน้าที่ของเขา ซึ่งเราก็เห็นว่าหากคุณรับมาจาก ครม. ทั้งขบวนแล้ว ก็ต้องรับมติ ครม. ด้วย ไม่ใช่รับแค่สิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ แต่สิ่งใดที่ตัวเองเสียประโยชน์ก็บอกว่าเป็นไปตามมติ ครม. อย่างนี้ผมเห็นว่าไม่ถูก” นายสิริพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศาลได้นัด กทม. ส่งเอกสารเพิ่มเติม ทั้งเอกสารสัญญาการจ้างเดินรถ ตารางการเก็บค่าโดยสาร โดยให้ส่งเอกสารภายในวันที่ 8 ก.พ.64 โดยแจ้งว่า กรณีนี้ศาลให้ความสนใจ เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก ก็จะพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนที่ประกาศของ กทม. จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.64