สมชัย ตั้งใจ!! อ่านคำวินิจฉัยศาลรธน. 4บรรทัด 40 รอบ ชี้ เรื่องนี้พิสดารยิ่ง

92

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. พลิกตำรากฎหมาย ชี้ ศาลรธน.ไม่มีอำนาจให้ รัฐสภา ต้องทำประชามติ ถามความเห็น ปม.แก้รัฐธรรมนูญ แค่ วินิจฉัยว่า ทำได้หรือไม่เท่านั้น ห่วงอนาคตรัฐสภาไร้อำนาจแก้รธน.

วันที่ 13 มี.ค.64 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผอ.ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ข้อเขียนแสดงความเห็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า

“ผมอ่านคำวินิจฉัย 4 บรรทัด 40 รอบแล้วจึงรู้ว่า เรื่องนี้พิสดารยิ่ง เนื้อหาคำวินิจฉัยมีดังนี้

‘ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

1.เมื่อไปดู หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210(2) เขียนว่า ‘พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ องค์กรอิสระ’ ดังนั้น เมื่อรัฐสภา มีคำถามมาว่า ‘รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่’ คำตอบที่ศาลควรตอบในขอบเขตของกฎหมาย คือ ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’ ส่วนเงื่อนไขที่ต้องทำ ‘ประชามติ’ ก่อนและหลัง ควรเป็นความเห็นในเชิงเสนอแนะ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีเขียนกระบวนการดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ หากศาลใช้คำว่า ‘ต้อง’ นั่นเท่ากับศาลกำลังวางตนเองเป็นผู้เพิ่มเติมสาระในรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งเกินเลยขอบเขตหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น คำว่า ‘ต้อง’ ควรเปลี่ยน ‘ควร’ จะเหมาะสมกว่าหรือไม่

2.การจัดทำประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัย ที่รัฐสภาสามารถดำเนินการได้เอง เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีการลงประชามติได้เพียง 2 กรณี คือ ตามมาตรา 256(8) ที่หากมีการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญ หากผ่านวาระสามให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ให้ไปทำประชามติ และในมาตรา 166 กรณีที่ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร ต้องขอประชามติจากประชาชน ดังนั้น หากจะจัดประชามติว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็ต้องใช้ มติ ครม. เพื่อดำเนินการตามมาตรา 166 หรือ ใช้เงื่อนไขการผ่านวาระสาม ญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ที่กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วไปประชามติตามเงื่อนไข มาตรา 256(8) เท่านั้น

3.หากบรรดา ‘ตะแบง’ พยายามตีความว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องประชามติ ก่อนเสนอ ในวาระหนึ่ง เท่ากับว่า มีช่อง มาตรา 166 ช่องทางเดียว เพราะไม่สามารถใช้ 256 (8) เท่ากับ รัฐสภาจะไม่มีอำนาจริเริ่มการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ตราบใดที่ ครม.ไม่เห็นชอบให้มีการออกเสียงประชามติ

รัฐธรรมนูญเจ้าปัญหาจริงๆ ครับ”