สื่อมวลชนอีสาน ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง รัฐบาลหยุดทำร้าย สื่อ และ มวลชน

117

เครือข่ายสื่ออีสาน ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง นายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบการใช้ความรุนแรงสลายชุมนุม  โดยใช้กระสุนยาง ต่อมวลชน กลุ่ม REDEM และ สื่อมวลชน ขณะปฏิบัติหน้าที่ ในการจัดกิจกรรม “20มีนา” ณ. ท้องสนามหลวง

วันที่ 21 มี.ค.64 เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน ซึ่งประกอบด้วยสื่อมวลชนหลายแห่ง พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง ร่วมกันลงชื่อออกแถลงการณ์เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน เรื่อง งดใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมทางการเมือง จากการชุมนุมของมวลชน “20มีนา” ที่ สนามหลวง พร้อมระบุ 3 ข้อเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า จากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่สนามราษฎร์ และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและปฏิรูปสถาบัน แต่กลับเกิดเหตุการณ์บานปลายกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยการใช้อาวุธ เช่น กระบอง และกระสุนยาง

ส่งผลให้ประชาชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และบุคลากรของสำนักข่าวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้รับบาดเจ็บขณะทำหน้าที่รายงานข่าวต่อสาธารณะ ทั้งที่มีสัญลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนภาคสนามที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ การสลายการชุมนุมของตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลที่ลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะการประกาศเตือนก่อนการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงก่อน จึงจะใช้ขั้นตอนจากเบาไปหาหนักได้

เครือข่ายสื่อมวลชนอีสานมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพการทำงานของสื่อมวลชนภาคสนามในเหตุการณ์และพื้นที่ใกล้เคียงการชุมนุม เครือข่ายฯจึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1.ขอให้รัฐบาล ซึ่งเป็นผู้รับผิดรับชอบสูงสุดต่อผลกระทบที่เกิดจากมาตรการรับมือการชุมนุม พึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้ความรุนแรงนอกจากไม่อาจหยุดความต้องการของประชาชนได้แล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งนั้นร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม ดอกผลแห่งความปรองดองมิอาจผลิบานท่ามกลางเปลวไฟ ซึ่งประเทศไทยเคยมีบทเรียนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว

และขอเรียกร้องว่า จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมดังกล่าวต่อประชาชนและสื่อมวลชน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาล และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบต่อการออกคำสั่งในมาตรการดังกล่าว รวมถึงการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วย

2.ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพึงระลึกไว้เสมอว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก่อนใช้ความรุนแรงใดๆ กับประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน ควรทบทวนเสมอว่าอำนาจสั่งการนั้นชอบแล้วหรือไม่

3.สมาคมวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ควรร่วมหาทางออก เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยยืนยันหลักการที่ว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน”

ทั้งนี้ การปล่อยให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานภาคสนามรับผิดชอบชีวิตกันเอง แม้มีสัญลักษณ์ระบุชัดเจนว่าเป็น “สื่อมวลชน” ก็ไม่อาจพ้นจากความเสี่ยง ท่าทีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้