“ภราดร” เย้ย”ลุงตู่” เป็นถึงแม่ทัพ กลับลดตัว ทำหน้าที่เป็น “ผบ.ร้อย”

135

อดีตเลขาสมช. เย้ย “ลุงตู่” เป็นแม่ทัพดีๆ แต่กลับลดตัวเอง มาเป็นผอ.แก้โควิด เหมือน ผบ.ร้อย อัดยับ โครงสร้างทหารนำการแพทย์ ใช้แต่พวกพ้อง ทำให้ปชช.ไม่เชื่อมั่น

วันที่ 9 พ.ค.2564 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงภาพของการบัญชาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจในขณะนี้ว่า หากเทียบเคียงทางการทหาร กรณีดังกล่าวเสมือนตัวเองเป็นแม่ทัพอยู่ แต่กลับไหลต่ำลงมาทำหน้าที่ระดับ ผบ.ร้อย เพราะตัวนายกฯถือว่า เป็นผบ.สั่งการระดับนโยบาย แต่ดันลดตัวมาเป็นผบ.สั่งการปฏิบัติระดับพื้นที่ด้วยเมื่อยิ่งมาเจอการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มอบหมายให้เลขาฯสมช.เป็นประธาน ทั้งๆที่สมควรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์สาธารณสุขเข้ามาทำหน้าที่ประธาน จะถือเป็นสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมมากกว่า แล้วกำชับให้คณะกรรมการด้านความมั่นคงที่มีอยู่มาสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นการตอบโจทย์มากกว่า ดังนั้น การออกคำสั่งของนายกฯดังกล่าว จึงชี้ถึงความไร้ภาวะผู้นำ ไม่ให้เกียรติผู้ร่วมปฏิบัติงานอื่น เพราะมุ่งใช้แต่พวกพ้องตัวเอง

พล.ท.ภราดร กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นระบบการตีความกฎหมายของบ้านเรา ที่ผ่านมาเราได้ยึดระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) คือจะตีความตามตัวอักษรควบคู่กับเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมาย หากตีความตามตัวอักษรแล้วต่างกับเจตนารมณ์ ต้องตีความตามเจตนารมณ์เป็นสำคัญ รัฐธรรมนูญกฎหมายสูงสุดได้บัญญัติเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่าประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่เจริญแล้ว

แต่ปัจจุบันได้เกิดเหตุข้อกังขาว่า มีมนต์ดำความไร้จริยธรรมของขบวนการยึดอำนาจ เป่าลงกระหม่อมของบางกลุ่มในขบวนการยุติธรรมอย่างได้ผลหรือไม่ การวินิจฉัยตีความจึงไม่เที่ยงตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้คนจำนวนร่วมล้านคิดจะย้ายออกจากประเทศนี้ เพราะหดหู่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จึงได้กระแสกลับใจคิดใหม่แล้วว่า การรวมพลออกมาขับไล่นายกฯสืบทอดอำนาจต้นตอแห่งความวิบัติทั้งปวงให้ออกไป เมื่อสถานการณ์โควิดระลอกนี้จางลง น่าหนทางปฏิบัติที่ง่ายกว่าการย้ายออกจากประเทศนี้