ยังน่าห่วง!! ศบค.พบโควิดใหม่ 2,101ราย โคม่าอื้อนับพัน เสียชีวิตเพิ่มอีก17

42

โฆษกศบค.แถลง พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 2,101 คน สลด มีผู้ป่วยอาการโคม่านับพันราย ขณะเดียวกัน บุคคลากรทางการแพทย์ ติดเชื้อแล้ว512ราย โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก17ราย

วันที่ 9 พ.ค.2564 ที่ ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 2,101 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 1,674 ราย คัดกรองเชิงรุก 412 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 10 ราย เดินทางเข้าช่องทางธรรมาชาติ 5 ราย ยอดป่วยสะสม 83,375 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายเพิ่ม 2,186 ราย สะสม 53,605 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 17 ราย สะสม 399 ราย ยังมีผู้รักษาในโรงพยาบาล (รพ.) อยู่ 29,371 ราย แบ่งเป็น รพ. 20,477 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 8,894 ราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาการรุนแรง 1,442 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 394 ราย อย่างไรก็ตาม การระบาดเดือนเมษายน 2564 มีผู้ป่วยสะสม 54,512 ราย เสียชีวิต 305 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้พบผู้ลักลอบเข้าเมือง 5 ราย เป็นคนสัญชาติไทย โดยมาจากเมียนมา 1 ราย มาเลเซีย 2 ราย และกัมพูชา 2 ราย ลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เรากังวลใจ เพราะมีทั้งผู้ติดเชื้อมีอาการและไม่มีอาการ ซึ่งตอนนี้พื้นที่ใกล้เคียง จ.สระแก้ว ที่ใกล้กัมพูชา จ.ปัตตานี ใกล้มาเลเซีย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ใกล้กับเมียนมา ต้องขอบคุณประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่โดยรอบจัดการในส่วนนี้ ต้องขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ช่วยดูแล วันนี้คนที่หายมากกว่าคนป่วย ทำให้ยอดรวมผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น แต่ก็จะมีคนที่อยู่ในการรักษาพยาบาลเกือบๆ 30,000 ราย ทั้งนี้ จำแนกความเสี่ยง จะพบว่า

1.กลุ่มสถานบันเทิง ปาร์ตี้ ร้านอาหาร ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่พบเพิ่ม ปริมณฑล 4 ราย และจังหวัดอื่นๆ 2 ราย แต่จะพบมากขึ้นใน 2.กลุ่มตลาด ชุมชน ขนส่ง โดยกรุงเทพฯ พบ 31 ราย ปริมณฑล 28 รายและจังหวัดอื่นๆ อีก 15 ราย 3.กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน กรุงเทพฯ 193 ราย ปริมณฑล 347 ราย จังหวัดอื่นๆ 362 ราย 4.ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ กรุงเทพฯ 756 ราย ปริมณฑล 98 ราย จังหวัดอื่นๆ 250 ราย เป็นสิ่งสะท้อนภาพใกล้ตัวคนติดเชื้อในครอบครัว

โฆษก ศบค. กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 17 ราย เป็นชาวต่างชาติ 1 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุเฉลี่ย 34-99 ปี พบในกรุงเทพฯ 8 ราย สมุทรปราการ 3 ราย และ ปทุมธานี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา แพร่ ชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง 10 ราย เบาหวาน 6 ราย โรคหัวใจ 3 ราย ไขมันในเลือดสูง 8 ราย โรคอ้วน 2 ราย ลมชัก 1 ราย โรคปอดเรื้อรัง 3 ราย ตับแข็ง 1ราย ไตเรื้อรัง 2 ราย หลอดเลือดสมอง 1 ราย ปฏิเสธโรคประจำตัว 3 ราย และ ผู้ป่วยติดเตียง 1 ราย ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ ได้แก่ ติดเชื้อจากครอบครัว 4 ราย เพื่อน 3 ราย เป็นผู้ร่วมวงพนัน สัมผัสผู้ติดเชื้อ 5 ราย ไปสถานที่แออัด 2 ราย ไม่ทราบ 2 ราย มาจากจังหวัดเสี่ยง 1 ราย“การเสียชีวิตในวันนี้ มีบุลคลากรทันตแพทย์ 1 ราย ที่พบว่ามีโรคประจำตัว โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเกี่ยวข้องกับปอดที่มีอยู่เดิม ทำให้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม บุคลากรการแพทย์กำลังสำคัญในการต่อสู้กับโรค หากเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เมื่อป่วย 1 ราย ก็ต้องมีการกักตัว”

โฆษก ศบค. กล่าวและว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำเสนอข้อมูลของบุคลากรทางการแพทย์ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน – วันที่ 7 พฤษภาคม มีจำนวน 512 ราย เช่น กรงเทพฯ 137 ราย ตรัง 47 ราย ชลบุรี 34 ราย นครปฐม 25 ราย ขอนแก่น 18 ราย โดยพบว่า อายุเฉลี่ย 33.37 ปี เป็นอัตราส่วนเพศชายต่อหญิง 1 ต่อ 3.10 ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่มีอาการ 285 รายคิดเป็น ร้อยละ 56 และไม่มีอาการ 181 รายคิดเป็น ร้อยละ 35

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังของการระบาดเดือนเมษายน ส่วนใหญ่จะมีอาการมากกว่า จำแนกตามประเภทบุคลากร พบว่า เป็นพยาบาล/ผู้ช่วย ร้อยละ 34 ไม่ระบุ ร้อยละ 27 อื่นๆ ร้อยละ 18 แพทย์ ร้อยละ 10 ทันตแพทย์ ร้อยละ 5 นักศึกษาแพทย์ ร้อยละ 3 เภสัชกร ร้อยละ 2 และนักเทคนิคการแพทย์ ร้อยละ 1 โดยพบมากในสถานพยาบาลของรัฐถึง ร้อยละ 65 โรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 29 และอื่นๆ โดยในจำนวนนี้ เป็นการติดเชื้อจากการทำงาน 202 ราย สัมผัสเพื่อนร่วมงาน 63 ราย ติดเชื้อนอก รพ. 106 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 141 ราย

“ข้อมูลตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม ยอดผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้จะสูงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน เฉลี่ยวันละ 20 ราย และค่อยๆ ลดลงมาในช่วงหลัง ต้องฝากพี่น้องบุลคลากรแพทย์รับทราบข้อมูล ดูแลสุขภาพให้ดี และที่สำคัญที่สุดคือ เราพยายามให้ท่านได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ก็จะช่วยให้อาการรุนแรงของโรค ลดน้อยลง โอกาสติดเชื้อก็ลดลงด้วย”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 99 ของโลก โดยสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศ รายใหม่ 783,013 ราย สะสม 158,313,826 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 13,022 ราย สะสม 3,296,623 ราย โดยประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่มากที่สุด คือ อินเดีย 409,300 ราย สะสม 22,295,911 ราย เสียชีวิตใหม่ 4,133 ราย สะสม 242,398 ราย ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น รายใหม่ 6,054 ราย อินโดนีเซีย 6,130 ราย ฟิลิปปินส์ 6,979 ราย มาเลเซีย 4,519 ราย สิงคโปร 20 ราย กัมพูชา 538 ราย เวียดนาม 93 รายและลาว 28 ราย