3 คณบดีแพทย์ ชี้ !! โควิดไทย ดุ ระบาดเพิ่ม15เท่า จี้ ปชช.เร่งฉีดวัคซีนป้องกัน

127

3 คณบดี “ศิริราช-รามาธิบดี-จุฬาฯ” ร่วมกันแถลง สถานการณ์ การแพร่ระบาด โควิด-19 ระบุ มีความรุนแรงและน่ากลัวกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ตัวเลขการแพร่ระบาด15 เท่า โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. จี้ ปชช.เร่งฉีดวัคซีนป้องกัน

วันที่ 11 พ.ค. 2564 ที่โรงแรมสุโกศล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้มีการหารือร่วมกันถึงยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนรวมถึงการสื่อสารถึงประชาชนด้วยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัคซีนที่มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด พร้อมรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง ป้องกันคนในครอบครัว ป้องกันชุมชน และป้องกันประเทศชาติ

ศ.นพ.ประสิทธิ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 รอบนี้มีจำนวนผู้ป่วยหนักต้องนอนไอซียูจำนวนมากขึ้น จากการที่เราพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น เป็นไปตามหลักการคำนวณ ที่ศิริราชมีการเปิดไอซียูเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว แต่ก็เต็มไม้เต็มมือ ถ้าเราไม่ช่วยกันโดนไม้เมื่อไหร่อัตราการเสียชีวิตก็จะกระโดดมากขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้มีความชัดเจนว่านอกจากปัจจัยเรื่องสายพันธุ์แล้ว การมีคนไข้เยอะ คนที่ไปสถานที่เสี่ยงแล้วการ์ดตก โดยเฉพาะหนุ่มสาว ยิ่งตอนนี้เราค้นพบความชัดเจนว่า ความอ้วนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเสียชีวิตด้วย

“การระบาดที่ผ่านมาเราจะมีตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 80% คนมีอาการมาก 20% และในจำนวนนี้มี 5% ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แต่ล่าสุดตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลง โดยคนที่ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย 70% อาการหนักเพิ่มเป็น 25-30% โดย 5% คือหนักมาก แปลว่าเมื่อเราเรามีผู้ป่วย 100 คนเราจะมีคนอาการหนัก 30 คน ถ้าเรามีผู้ป่วยพันคน ก็จะมีอาการหนัก 300 คน และถ้ามีหลักหมื่นคนเราจะมีคนอาการหนักกว่า 3 พันคน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า การระบาดรอบนี้มีการติดเชื้อเพิ่ม 15 เท่า มีคนต้องใส่ท่อช่วยหายใจทั่วประเทศกว่า 400 คน ซึ่งจากสถิติการเสียชีวิตในกลุ่มที่ใส่ท่อพบถึง 1 ใน 4 คน ดังนั้นคาดว่าเราจะมีคนเสียชีวิตอีกประมาณ 80-100 คน ดังนั้นขอให้ประชาชนตระหนัก ทั้งนี้เฉพาะ รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ 140 ราย คนไข้หนัก 32 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 14 ราย นอกจากนี้ยังมีการเช่าโรงแรมทำเป็นฮอทพิเทล 2 แห่ง มีผู้ป่วยประมาณ 300 คน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ที่ รพ.จุฬาฯ มีผู้ป่วยประมาณ 1,000 คน รวมที่รักษาหายแล้ว ตอนนี้รับผู้ป่วยใน รพ.ประมาณ 200 ราย ฮอสพิเทล 300-400 คน รอบนี้เจอผู้ป่วยเชื้อลงปอดมากกว่ารอบที่ผ่านมา ทำให้มีความต้องการไอซียูมากขึ้น แต่หากมีการฉีดวัคซีนกันมากขึ้นก็จะทำให้จำนวนคนติดเชื้อมีอาการรุนแรงน้อยลง โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ควรมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องการการนำไปติดคนในครอบครัว ที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ สถานการณ์ตอนนี้เหมือนสงครามที่เราต่อสู้กับข้าศึกที่มองไม่เห็น การฉีดวัคซีนเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเราเอง ป้องกันคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ประเทศชาติ

เมื่อถามถึงเชื้อกลายพันธุ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้ก็เฝ้าระวังจับตากันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการเฝ้าระวังว่าจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ ในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากการติดเชื้อจากคนหนึ่งยังคนหนึ่งนั้นธรรมชาติไวรัสจะมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งในประเทศที่มีการระบาดมากๆ หลักหมื่นรายต่อว่า เป็นวงกว้าง และเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้น แล้วยิ่งมีคนติดเชื้อมากก็ยิ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเราไม่อยากจะเห็นสายพันธุ์ไทย (variant) ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่เราต้องช่วยกันฉุดไม่ให้ตัวเลขามากขึ้น ไม่ให้มีการระบาดนาน ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

“การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตามหลักธรรมชาติโควิด-19 ก็เช่นกัน เมื่อกลายพันธุ์แล้วมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้เร็ว เชื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น ป้องกันตัวเองได้ดีมากขึ้น ซึ่งไวรัสจะแตกต่างจากสัตว์ทั่วไป คือ เมื่อกลายพันธุ์แล้วจะดุขึ้น แต่จบเร็ว เพราะอยู่ในอากาศไม่ได้ แบ่งตัวเองไม่ได้จึงต้องอาศัยการเข้าถึงตัวคน และเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วก็ทำให้เสียชีวิตได้มากขึ้น ไวรัสเองก็จะตายเช่นกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนพ่อค้าพลอยที่จังหวัดจันทบุรีนั้น ตอนนี้มีการตรวจสอบและยืนยันเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าไม่ใช่สายพันธุ์อินเดียอย่างที่เรากังวลกัน คลัสเตอร์นี้ไม่น่าห่วง เนื่องจากมีข้อมูล มีชื่อ มีแหล่งที่อยู่อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องมีมาตรการในการจัดการที่รวดเร็ว และสิ่งที่เรากังวลและมีการพูดคุยกันอยู่ตลอดคือการเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์ตามแนวชายแดน เพราะเห็นว่าช่วงเวลาเพียง 4 เดือน มีรายงานคนลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายมากถึง 15,000 คน จึงต้องเข้มงวดตามแนวชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเมียนมา ประเทศมาเลเซีย และกัมพูชา ด้วยส่วนฝั่งประเทศลาว ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่นัก

“เส้นทางที่เชื้อไวรัสจากอินเดีย จะสามารถเข้ามาในไทยได้นั้น จะผ่านปากีสถาน ผ่านเมียนมา และใช้เวลาเพียงไม่นาน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถเดินทางมาถึงประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นตามแนวชายแดนจะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว