“คุณหญิงหน่อย”นำ!! ไทยสร้างไทย ฉะ “บิ๊กตู่” บริหารไร้ทิศทาง โยนภาระปชช.

106

“คุณหญิงสุดารัตน์” นำ รองโฆษกพรรค “ไทยสร้างไทย” แถลงโจมตี นายกฯ ห่วงนายกฯ บริหารงานตามยถากรรม หลังประกาศ ล็อกดาวน์ กทม.และปริมณฑล โยนภาระปชช. พร้อม จี้จ่ายเยียวยาใน 7 วัน

วันที่ 27 มิ.ย.2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ดร.สุวดี พันธุ์พานิช ดร.เกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคฯ ร่วมแถลงข่าว แสดงความกังวลต่อการบริหารจัดการโควิดของรัฐบาล ที่ “บริหารงานตามยถากรรม” จนเหตุการณ์เข้าขั้นวิกฤต

โดย ดร.เกณิกา กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกแสดงความรับผิดชอบต่อบริหารจัดการที่ผิดพลาด เริ่มตั้งแต่การตรวจหาเชื้อ การส่งตัวเข้ารักษา การบริหารจัดการเตียง การดูแลบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงมาตรการรองรับการกักตัวของกลุ่มเสี่ยง ตามที่พรรคไทยสร้างไทยเสนอมาตั้งแต่ก่อนเมษายน

โดยเฉพาะหลักคิดของรัฐบาลที่สะท้อนจากการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขปัญหาการระบาดและเตียงไม่พอในกรุงเทพว่า “เมื่อประชาชนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด และติดโควิด ก็จะมีเตียงและการรักษาพยาบาลรองรับเพียงพอในแต่ละพื้นที่

เป็นแนวคิดที่ตรรกะวิบัติมาก ไม่ใช่คิดอย่างรัฐบาลที่คิดว่าเตียง กทม. เต็ม ก็ปิดกรุงเทพฯ แล้วให้คนกลับบ้านต่างจังหวัด ไปป่วยที่บ้านจะได้มีเตียง นี่คือข้อผิดพลาดอย่างมหันต์ เหมือนรอบแรกที่ส่งคนกลับไปแพร่เชื้อจนทั่วประเทศ และนโยบายที่ผิดพลาดครั้งนี้ จะทำให้สถานการณ์วิกฤตมากยิ่งขึ้น “การบริหารงานตามยถากรรมของพวกท่าน ไม่ใช่เป็นการแค่ไล่ผู้ป่วยให้ไปตายดาบหน้าเท่านั้น แต่กำลังทำให้การระบาดของสายพันธุ์อินเดียกระจายออกไปทั่วประเทศ และยังเป็นการผลักภาระไปให้ญาติ และจังหวัดนั้นๆ ช่วยแก้ปัญหาแทนท่าน

ดร.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคฯ กล่าวว่า นายก “บริหารตามยถากรรม” จน ทำให้สถานการณ์วิกฤตเตียงไม่พอ ทำให้รับผู้ป่วยมารักษาไม่ทันท่วงทีนั้น ยิ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยหนัก และตายมากขึ้น มาตรการที่จะเสนอให้ประชาชนรักษาตัวเองที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยที่ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในการสังเกตตนเอง ทั้งไม่มีเครื่องมือวัดไข้ และเครื่องมือวัดระดับออกซิเจน ที่มีส่วนช่วยในการประเมินคนไข้ รวมถึงหากไม่มีระบบการติดตาม จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับยาช้าลง จนทำให้เตียงผู้ป่วยหนักวิกฤตยิ่งขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากชุมชนแออัด ไม่สามารถแยกกักตัวได้ ส่งผลต่อการกระจายเชื้อให้คนในบ้าน และคนในชุมชน

นอกจากนั้น มาตรการปัจจุบันให้ผู้ป่วยรักษา 10 วัน แล้วกลับไปรักษาตัวที่บ้าน 4 วัน ยิ่งจะทำให้การระบาดมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีความเสี่ยงเพิ่ม รวมถึงผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองได้ไม่ดี อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาแย่ได้ การรับผู้ป่วยได้เร็วขึ้น จะทำให้อัตรารอดชีวิตมากขึ้น ขอให้นายกรัฐมนตรีรับประชาชนเข้ารักษาเร็วเหมือนส่งรถไปรับ สว. ติดเชื้อ ถ้ารัฐบาลบริหารงานดีเราจะไม่เดินมาถึงจุดที่แพทย์ต้องเลือกว่าจะให้ใครได้ใช้เครื่องช่วยหายใจเช่นทุกวันนี้ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า “การบริหารแบบตามยถากรรม” การล็อกดาวน์ โดยล็อกคน ปิดการทำมาหากินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ล็อกโรค จะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในเร็ววัน คนจะตายเพราะโรคและพิษเศรษฐกิจอีกมากมาย เรื่องที่นายกในฐานะประธาน ศบค. ต้องเร่งแก้ไขคือ
1) เรื่องเตียงขาดแคลน ดิฉันได้เสนอมาตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ให้นายกเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง คือ สร้างเตียงสนาม (เตียงเขียว) เพิ่มทุกเขตใน กทม. โดยใช้วัด, โรงเรียนที่ปิดอยู่ หรือเช่าโรงแรม 3 ดาวที่ว่างเต็มไปหมด เพื่อเร่งนำผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน เพื่อลดการระบาด

อีกเรื่องคือ การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย (เตียงเหลือง) และผู้ป่วยหนัก ICU (เตียงแดง) ให้บริหารจัดการเตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมกับจังหวัดใกล้เคียง ที่มีการระบาดน้อย เตียงยังเหลือ ซึ่งถ้าทำตั้งแต่เมษายนตามที่แนะนำ ก็จะไม่เกิดเหตุเศร้าในวันนี้ ที่หมอต้องเลือกให้คนไหนได้อยู่ต่อ และต้องปล่อยคนไปตายคาบ้าน

2) เมื่อเร่งเตรียมเตียงได้แล้ว ต้องเร่งระดม “ตรวจเชิงรุก” เพื่อนำผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเข้าระบบเร็วที่สุด

3) เรื่องวัคซีน ในขณะนี้สายพันธุ์ Delta (อินเดีย) กำลังกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ที่ระบาดอยู่ในกรุงเทพและอีกหลายจังหวัด ซึ่งกระจายเร็วกว่า Alpha (อังกฤษ) และป่วยหนัก เสียชีวิตมากกว่า ขณะที่วัคซีนเชื้อตาย ทำจากสายพันธุ์จีน จึงมีข้อจำกัด เห็นว่า ปัญหาขณะนี้เป็นผลจากนโยบายที่ผิดพลาด choice of vaccine ที่เลือกไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดในขณะนี้ ต้องเร่งนำเข้าวัคซีน mRNA ที่ต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์อินเดีย และแอฟริกา ที่กำลังระบาดในประเทศไทยได้ ไม่ใช่ยังดื้อดึงซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อกลายพันธุ์ต่อไป

4) การล็อกดาวน์ ต้องมาพร้อมกับการเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ตั้งแต่ลูกจ้างจนไปถึงเจ้าของกิจการ รัฐจะอ้างไม่ได้ว่า ไม่ได้ห้ามขาย แต่เมื่อล็อกดาวน์ เขาไม่สามารถขายได้อยู่แล้ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องชดเชยค่าเสียหาย ที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาลเองที่บริหารงานตามยถากรรม จนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจและลูกจ้างต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดรายได้

การบริหารแบบตามยถากรรม ของรัฐบาล หลับหูหลับตากำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ป้องกันโรคไม่ได้ แต่ทำลายเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ก็ดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนนโยบาย ได้ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสให้กับคนไทยทั้งประเทศ