ครม.ไฟเขียว!! เยียวยานายจ้าง-ผู้ประกันตน ม.33 ใน 4 กิจการ กทม.-ปริมณฑล

318

ครม.ไฟเขียว! มีมติ อนุมัติเยียวยานายจ้าง-ผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้รับผลกระทบใน 4 ประเภทกิจการ กทม.-ปริมณทล วงเงิน 2,500 ล้านบาท

วันที่ 6 ก.ค. 2564 ที่ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบอนุมัติโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) กรอบวงเงินจำนวน 2,519.38 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ นายจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ

โดยมี หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้

1. นายจ้างที่อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 หรือนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 41,940 ราย โดยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน สูงสุดไม่เกิน 200 คนต่อแห่ง

2. ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 663,916 ราย จะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ประกันตนทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ราย ให้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงครั้งเดียวในอัตรา 2,000 บาท

สำหรับวิธีการจ่ายเงินเยียวยานั้น กรณีบุคคลธรรมดาและผู้ประกันตนมาตรา 33 จะโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน กรณีนายจ้างที่เป็นนิติบุคคล สำนักงานประกันสังคมจะโอนเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้ง หรือตามวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงานกำหนด โดยเริ่มโอนเงินเยียวยาครั้งแรกภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 และโอนเงินซ้ำทุกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม เร่งลงทะเบียนนายจ้าง และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบนิติสัมพันธ์ความเป็นนายจ้างลูกจ้างของนายจ้างที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2564 เพื่อยืนยันว่ามีการประกอบธุรกิจและมีการจ้างงานตามจำนวนที่แจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้จริง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรายใหม่ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น