มุสลิมร่วมกู้ชาติ พระยาจักรี (หมุด) ขุนพลคู่พระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน

3286
มุสลิมในประเทศไทย มาเมื่อไหร่ นานแค่ไหน มาเป็นผู้อาศัยหรือร่วมกันสร้างชาริ วีรกรรมของ พระยาจักรี (หมุด) เป็นการยืนยันได้ดี
พระยาจักรี(หมุด) เป็นลูกหลานของซุลต่านสุไลมาน ที่สงขลา ที่ได้เข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา
เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้แตกเจ้าพระยาจักรี (แขก) ข้าราชการชาวมุสลิม ซึ่งขณะนั้นเป็นหลวงนายศักดิ์ ชื่อเดิม “หมุด” ไปราชการที่จันทบุรีหลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้วจึงตกค้างอยู่ ณ เมืองจันทบุรี และได้มาเฝ้าถวายตัว กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชรับราชการงานทั้งปวงด้วยเป็นข้าราชการเก่า รู้ขนบธรรมเนียมอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นแม่ทัพไปตีเมืองต่างๆ ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมในคราวปราบชุมนุมต่างๆ รวมทั้งเมืองนครศรีธรรมราชด้วย เจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรมในปีเถาะ พ.ศ.2314

เจ้าพระยาจักรี (หมุด) หรือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ เป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า “เจ้าพระจักรีแขก” เป็นบิดาของพระยายมราช (หมัด) หรือจุ้ย และพระยาราชวังสัน (หวัง) เป็นทหารเอกคนสำคัญคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เจ้าพระยาจักรี (หมุด) เป็นมุสลิม มีชื่อจริงว่า มะหะหมุด (มะฮฺมูด) เป็นบุตรขุนลักษมณา (บุญยัง) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน และหม่อมดาว เกิดเมื่อพ.ศ. ๒๒๗๐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือพระเจ้าเอกทัศน์ ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงนายศักดิ์นายเวร หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “หลวงนายศักดิ์”

#ร่วมกู้เอกราช
ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาไม่นาน ท่านได้รับพระบรมราชโองการให้เดินทางไปเก็บเงินค่าส่วยสาอากรที่หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก หลวงนายศักดิ์ได้เก็บเงินจากพระยาจันทบุรีได้เงิน ๓๐๐ ชั่ง พอดีมีข่างกรุงแตกจึงเอาเงินไปฝังไว้ที่วัดจันทร์ ตกค่ำจึงวางแผนให้พรรคพวกชาวจีนมาโห่ร้องทำทีปล้น แล้วบอกพระยาจันทบุรีว่าโจรปล้นเงินไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อสั่งให้จับหลวงนายศักดิ์ ประจวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพถึงจันทบุรี หลวงนายศักดิ์จึงหนีออกไปสมทบ เพราะสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยทำราชการภายใต้บังคับบัญชาของตน จึงรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน หลวงนายศักดิ์ได้มอบจีนพรรคพวกให้ ๕๐๐ คน กับเงินส่วยสาอากร ๓๐๐ ชั่งที่เก็บไว้นั้น ร่วมกันกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองจันทบุรีแตก

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใช้เงินที่หลวงนายศักดิ์ทูลเกล้าฯถวายจำนวน ๓๐๐ ชั่ง เป็นเงินทุนจัดสร้างเรือรบขึ้นที่จันทบุรี ประกอบกับหลวงนายศักดิ์เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการเดินเรือและต่อเรือ จึงทำให้สามารถสร้างเรือประมาณร้อยลำ

กองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถตีเมืองธนบุรีซึ่งพม่ามอบให้นายทองอินปกครองดูแล เมื่อยึดเมืองได้แล้ว ก็ยกกองทัพไปตีค่ายโพธิ์สามต้นของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา กองทัพได้รับชัยชนะโดยสามารถฆ่าสุกี้แม่ทัพของพม่าตายในสนามรบ ทำให้กรุงศรีอยุธยากลับคืนสู่อิสรภาพภายในระยะเวลาเพียง ๗ เดือนหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหนึ่งในบรรดาผู้กอบกู้อิสรภาพก็คือหลวงนายศักดิ์

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๑ โปรดเกล้าฯ หลวงนายศักดิ์ ให้เป็นอัครมหาเสนาบดี มีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ ดำรงตำแหน่ง สมุหนายก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลหัวเมืองตั้งแต่เหนือสุดของประเทศจดดินแดนภาคกลางของประเทศ นับเป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า “เจ้าพระจักรีแขก”

#แม่ทัพคู่พระทัย
ศึกนครศรีธรรมราช
ในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาจักรีฯเป็นแม่ทัพยกทัพไปปราบชุมนุมนครศรีธรรมราช ซึ่งถือว่าเป็นชุมนุมที่เข้มแข็งและมีความสามารถสูง ในการตีเมืองนครศรีธรรมราชนี้ ข้าราชการชั้นสูงที่ร่วมเดินทางในกองทัพได้เสียชีวิตในสนามรบ ซึ่งได้แก่พระยาเพชรบุรีและพระยาศรีพิพัฒน์ กองทัพของเจ้าพระยาจักรีฯไม่สามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราชมีกองกำลังที่เหนือกว่า จึงถอยไปตั้งหลักที่เมืองไชยา กองทัพหลวงซึ่งมีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพมาปราบ เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทราบว่ามีกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมา จึงนำกำลังพลหนีออกจากเมือง แล้วไปหลบซ่อนอยู่ที่ปัตตานี เมื่อกองทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาถึงนครศรีธรรมราชก็สามารถตีกองทัพซึ่งรักษาเมืองนครศรีธรรมราชได้ พระองค์ทรงมีบัญชาให้เจ้าพระยาจักรีออกติดตามหาตัวเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งท่านก็สามารถติดตามนำตัวมาถวายได้เป็นผลสำเร็จ

โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งแต่งโดยนายสวน มหาดเล็ก เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๑๔ ได้กล่าวถึงเจ้าพระยาจักรี สมุหนายก ไว้ตอนหนึ่งว่า

ฝ่ายหมู่มุขมาตย์เฝ้า บริบาล
ชาญกิจชาญรงค์ชาญ เลิศล้วน
สมุหกลาโหมหาญ หาญยิ่ง
นายกยกพจน์ถ้อย ถี่ถ้อยขบวนความ

เป็นส่วนหนึ่งของประวัติชีวิตที่ร่วมกู้ชาติของพระยาจักรี (หมุด) ลูกหลานซุลต่านแห่งหัวเขาแดง สงขลา  
ในวันที่พระจักรี (หมุด)เสียชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกรรแสงหน้าหลุมศพ